Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 10/04/2558 ]
8 เคล็ด (ไม่) ลับ แม่ท้องควรรู้
 เพราะช่วงการตั้งครรภ์ เป็นช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับคนที่เป็นแม่มากที่สุด ดังนั้น การดูแลตัวเองในระหว่างตั้งครรภ์จึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งคุณแม่และคุณพ่อไม่ควรละเลย เพราะอาจมีผลต่อเจ้าตัวน้อยที่กำลังจะลืมตามาดูโลกได้เลย วันนี้คุณหมอจึงมี 8 เคล็ดไม่ลับสำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์มาฝากกัน
          ช่วงระยะเวลา 9 เดือนของอายุครรภ์เป็นช่วงเวลาที่คุณแม่ต้องดูแลตัวเองมากกว่าปกติ โดยสิ่งสำคัญอันดับแรกคือ
          1.การฝากครรภ์ตั้งแต่อายุครรภ์น้อยๆ จะทำให้รู้ว่าตำแหน่งในการตั้งครรภ์ผิดปกติ หรือเป็นการตั้งครรภ์นอกมดลูกหรือไม่ รวมถึงกำหนดวันคลอดที่แน่นอนเพื่อให้การคลอดเป็นไปอย่างราบรื่น หลีกเลี่ยงการผ่าคลอดก่อนกำหนด หรือคลอดช้าเกินไป ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเด็กในครรภ์
          2.ระวังการใช้ยา มีผลต่อทารก คุณแม่ที่รู้ว่าตัวเองมีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์ก่อนว่าสามารถตั้งครรภ์ได้หรือไม่ และต้องเตรียมตัวอย่างไร เนื่องจากยาบางตัวที่แม่ใช้อาจมีผลต่อเด็ก เช่น ยาความดัน ยาไทรอยด์ และยากันชัก จำเป็นต้องเปลี่ยนเป็นชนิดยาเพื่อลดผลกระทบ สำหรับยาที่ต้องเฝ้าระวังในกลุ่มคุณแม่ตั้งครรภ์ ได้แก่ ยารักษาอาการปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ หรือยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์
          3.เสริมโฟลิค ในกรณีของคุณแม่ตั้งครรภ์ส่วนใหญ่แพทย์จะแนะนำให้กินโฟลิคเสริม นอกจากโฟลิคที่มีอยู่ในข้าวกล้อง ข้าวโฮลวีท และถั่วชนิดต่างๆ เนื่องจากอาหารไทยส่วนใหญ่มีโฟลิคไม่เพียงพอกับปริมาณที่ร่างกายต้องการ โดยเฉพาะคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ควรได้รับโฟลิคอย่างน้อย 0.4 มิลลิกรัม หรือ 400 ไมโครกรัมต่อวัน
          4.นับลูกดิ้น เมื่ออายุครรภ์หลัง 7 เดือน หรือ 28 สัปดาห์ ให้คุณแม่สังเกตว่าลูกดิ้นเป็นปกติหรือไม่ โดยเฉพาะเวลาหลังอาหาร เด็กควรจะดิ้นมากกว่า 10 ครั้งใน 2 ชั่วโมง เพราะอาหารจะเป็นตัวกระตุ้นให้เด็กเคลื่อนไหว ในกรณีที่เด็กดิ้นน้อย หรือมีสัญญาณที่ผิดปกติ ควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุและแก้ไขได้ทัน
          5.เลี่ยงเด็กเล็ก โดยปกติเมื่อตั้งครรภ์ร่างกายจะลดภูมิต้านทานของตัวเอง เพื่อไม่ให้ต้านทานลูกที่เหมือนเป็นสิ่งแปลกปลอม กลายเป็นภาวะเครียดอย่างหนึ่งของชีวิต ทำให้คุณแม่มีโอกาสติดเชื้อที่ปนเปื้อนทางอากาศ และสิ่งแวดล้อมสูง โดยเฉพาะเชื้อหัดเยอรมัน (Cytomegalovirus : CMV) ที่มีเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบเป็นพาหะ โดยเชื้อชนิดนี้เป็นอันตรายต่อเด็กในครรภ์อาจทำให้หูหนวก ตาบอดได้ คุณแม่จึงควรหลีกเลี่ยงไม่สัมผัสน้ำลายเด็กเล็ก หรือล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัสสารคัดหลั่งจากเด็กอ่อน ซึ่งมีโอกาสทำให้ติดเชื้อได้โดยไม่แสดงอาการ
          6.งดเนื้อดิบ ควรหลีกเลี่ยงไม่กินเนื้อดิบ หรือใกล้ชิดสัตว์เลี้ยง เช่น แมว เพื่อลดความเสี่ยงจากพยาธิท็อกโซพลาสม่า ที่สามารถผ่านรกเข้าไปฝังตัวอยู่ในสมองเด็ก ทำให้เด็กมีศีรษะโตผิดปกติ และตาบอดได้
          7.หลีกสารเคมี ความร้อน คุณแม่ตั้งครรภ์ไม่ควรอบเซาน่า หรือแช่น้ำร้อนโดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เพราะความร้อนมีผลต่อเซลล์ประสาทเด็กที่ยังสร้างไม่สมบูรณ์ ทำให้ท่อประสาทและกะโหลกศีรษะไม่ปิด แม้สารเคมีในชีวิตประจำวันอย่าง ยาย้อมผม ยาแก้สิว จะไม่มีผลต่อแม่และเด็กมากนัก เพราะซึมผ่านทางกระแสเลือดได้น้อยมากเมื่อเทียบกับยา แต่ถ้าไม่จำเป็นก็ควรหลีกเลี่ยง เพราะแม้สารเคมีที่ใช้จะอยู่ในปริมาณที่น้อยมาก แต่หากร่างกายได้รับสะสมต่อเนื่องผลที่ตามมาก็ไม่อาจคาดเดาได้
          8.มะเร็งขณะตั้งครรภ์ต้องระวัง สำหรับคุณแม่ที่เป็นโรคมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งปากมดลูก ต้องดูแลเป็นพิเศษโดยขึ้นอยู่กับระยะของโรค เพราะการรักษาด้วยวิธีฉายแสง หรือการให้ยาเคมีบำบัดอาจมีผลต่อทารกในครรภ์ ขณะที่การคลอดด้วยวิธีปกติอาจเพิ่มปัจจัยเสี่ยงกระตุ้นให้มะเร็งกระจายตัว ลุกลามเข้ากระแสเลือด และต่อมน้ำเหลืองได้ จึงควรปรึกษาแพทย์ทันทีที่พบความผิดปกติ เพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสม
          นอกจากนี้ คุณแม่ที่มีโรคประจำตัว และตั้งครรภ์เมื่ออายุมาก มีโอกาสเสี่ยงท้องนอกมดลูก ครรภ์เป็นพิษ และคลอดก่อนกำหนดสูงกว่าคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ปกติ เพราะความผิดปกติของรกทำให้เด็กในครรภ์เจริญเติบโตช้า นั่นเป็นเหตุผลที่เมื่อรู้ว่าตัวเองตั้งครรภ์ควรรีบมาพบแพทย์ในทันทีที่รู้ว่าตั้งครรภ์ เพื่อตรวจคัดกรองโรคที่อยู่ในปัจจัยเสี่ยงได้อย่างแม่นยำ
          นพ.ร่มไทร เลิศเพียรพิทยกุล
          แพทย์เวชศาสตร์มารดา
          และทารกในครรภ์
          ศูนย์สุขภาพสตรีกรุงเทพ
          โรงพยาบาลกรุงเทพ
 pageview  1205933    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved