Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 27/03/2558 ]
สธ.เผยคนดื่มน้ำไม่สะอาด ทั่วโลกตายเฉลี่ยนาทีละ 1 คน
รมว.สาธารณสุขเร่งตรวจสอบคุณภาพความปลอดภัยน้ำดื่มของคนไทย ทุกประเภท ทุกพื้นที่ให้ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะช่วงฤดูร้อนเผยผลการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำดื่มในครัวเรือนไทยล่าสุดปี 2556 พบว่า ผ่านเกณฑ์มาตรฐานเพียง 33% โดยเฉพาะน้ำตู้หยอดเหรียญผ่านเกณฑ์ไม่ถึงครึ่ง รองลงมาคือสีขุ่น และกระด้าง องค์การอนามัยโลกเผยขณะนี้ประชากรโลกเสียชีวิตจากการดื่มน้ำไม่สะอาดปีละ 5 แสนคน ส่วนไทยพบป่วยปีละ 1 ล้านกว่าคน
          ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า องค์การสหประชาชาติประกาศในวันที่ 22 มีนาคม ของทุกปี เป็น "วันน้ำโลก" (World Day for Water) เพื่อรณรงค์ให้ทุกประเทศตระหนักถึงความสำคัญของน้ำ เพราะน้ำเป็นความต้องการขั้นพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดในโลก โดยเฉพาะการดำรงชีวิตของมนุษย์ ปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ พบว่า แหล่งน้ำมีคุณภาพความปลอดภัยลดลง ข้อมูลองค์การอนามัยโลกระบุว่า ประชากรโลกป่วยจากการดื่มน้ำปนเปื้อนอุจจาระ ปีละประมาณ 1,800 ล้านคน เช่น โรคอุจจาระร่วง บิด อหิวาตกโรค ไทฟอยด์ เป็นต้น และเสียชีวิตปีละประมาณ 5 แสนคน เฉลี่ยนาทีละ 1 คน
          "ส่วนประเทศไทย สำนักระดับวิทยารายงานเมื่อปี 2557 พบผู้ป่วยโรคอุจาระร่วง โรคบิด ซึ่งเกิดจากการดื่มน้ำไม่สะอาดทั่วประเทศ 1 ล้านกว่าคน เสียชีวิต 8 คน ในรอบ 2 เดือนของปีนี้ มีรายงานป่วยแล้ว เกือบ 2 แสนคน ในการป้องกันปัญหาดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้คนไทยทุกกลุ่มวัยบริโภคน้ำสะอาด มีความปลอดภัย ซึ่งจะลดการเจ็บป่วยของประชาชนจากโรคระบบทางเดินอาหารลงได้อย่างเห็นผล โดยเฉพาะในฤดูร้อนปีนี้ หลายพื้นที่ขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ จึงกำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่งเฝ้าระวังคุณภาพน้ำดื่มน้ำใช้ โดยเฉพาะน้ำประปา ให้มีระดับคลอรีนน้ำตกค้างไม่ต่ำกว่า 0.2-0.5 มิลลิกรัมต่อลิตร ตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก เพื่อให้ฆ่าเชื้อโรคที่อยู่ในน้ำได้ และควบคุมตรวจสอบมาตรฐานโรงงานผลิตน้ำดื่มบรรจุขวดโรงงานผลิตน้ำแข็ง รวมทั้งโรงงานผลิตไอศกรีมประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนในการดื่มน้ำสะอาด และมอบหมายให้กรมอนามัยตรวจสอบและพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยแหล่งน้ำดื่มน้ำใช้อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชน" รมว.สาธารณสุข กล่าว
          ด้าน ดร.นพ.พรเทพ ศิรินารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัย ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เฝ้าระวังแหล่งน้ำดื่มในครัวเรือน ล่าสุดในปี 2556 พบว่าประชาชนนิยมดื่มน้ำบรรจุขวดมากที่สุดรองลงมาคือน้ำประปา น้ำฝน น้ำจากตู้หยอดเหรียญและดื่มจากบ่อบาดาล และบ่อน้ำตื้น ตามลำดับ ผลการสุ่มเก็บตัวอย่างน้ำดื่มที่ครัวเรือนใช้ทุกแหล่ง ตรวจในปีเดียวกัน รวม 4,423 ตัวอย่าง ภาพรวมพบผ่านเกณฑ์ร้อยละ 33 ส่วนใหญ่พบมีการปนเปื้อนแบคทีเรียที่เป็นต้นเหตุโรคอุจจาระร่วง รองลงมาคือ ตกเกณฑ์ด้านกายภาพ เช่น สีขุ่น กระด้าง และตกเกณฑ์ด้านเคมี เช่น มีฟลูออไรด์ เหล็ก สูงเกินมาตรฐาน
          "เมื่อวิเคราะห์แยกรายประเภทน้ำดื่มที่ครัวเรือนใช้ดื่ม 6 ประเภท ในปี 2556 พบน้ำที่ผ่านเกณฑ์มากที่สุด ได้แก่ น้ำประปาส่วนใหญ่ตกเกณฑ์ด้านสี ความขุ่น ในปีนี้กรมอนามัยได้จัดทำระบบการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำดื่มได้แก่ น้ำประปา น้ำบาดาล น้ำบ่อน้ำตื้น น้ำบรรจุขวด น้ำตู้หยอดเหรียญ และแหล่งน้ำธรรมชาติที่ประชาชนใช้บริโภค เฃ่น น้ำฝน ครอบคลุมประชาชนในพื้นที่เขตเมืองชนบทพื้นที่ทุรกันดาร 76 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนได้ดื่มน้ำสะอาดปลอดภัย ส่งผลให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น พร้อมทั้งจัดระบบเฝ้าระวังระบบประปาที่ผ่านการรับรองคุณภาพว่าเป็นประปาดื่มได้รวมทั้งหมด 1,861 แห่งจากทั้งหมดที่มี 52,194 แห่ง"
          สำหรับน้ำตู้หยอดเหรียญ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในกรุงเทพฯ มีประมาณ 2 หมื่นตู้ แต่มีการแจ้งขึ้นทะเบียนเพียงร้อยละ 15 ในส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยังไม่มีระบบควบคุมกำกับกิจการประเภทนี้ชัดเจน กรมอนามัยจะพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการเพื่อเป็นต้นแบบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญปลอดภัย โดยดำเนินการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำแพงเพชรและพิจิตรจังหวัดละ 1 แห่ง นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการเพิ่มการเฝ้าระวังการปนเปื้อนสารเคมี โลหะหนักในน้ำดื่ม ในพื้นที่เสี่ยง เช่น พื้นที่อุตสาหกรรมเหมือนแร่ พื้นที่บริเวณที่ทิ้งขยะทิ้งกากขยะอุตหสาหกรรม ดำเนินการใน 5 จังหวัด ได้แก่ น่าน แพร่ พะเยา เชียงราย และลำปาง เพื่อลดโอกาสรับสารพิษ สารเคมี หรือโลหะหนัก รวมทั้งจะเร่งเผยแพร่ความรู้เสริมสร้างให้แก่ประชาชนอนุรักษ์แหล่งน้ำบริโภค ฉลาดในการเลือกซื้อน้ำ และรู้จักวิธีการปรับปรุงและเฝ้าระวังคุณภาพน้ำได้ด้วยตนเอง
 pageview  1205131    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved