Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 09/10/2557 ]
"เส้นเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน" ช่วยชีวิตได้ภายใน 90 นาที
ปัจจุบันพบผู้ป่วยที่เป็น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และเสียชีวิตเฉียบพลัน ตามสถิติของกระทรวงสาธารณสุข เก็บสถิติตั้งแต่ปี 2548-2552 ชั่วโมงละ 2 คนที่เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน หรือ ตีบ 100%
          พญ.ศิรินทิพย์ วงศ์เจริญ อายุรแพทย์ (โรคหัวใจ) โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ กล่าวว่า ทุกคนที่ได้ช่วยชีวิต นั่นคือความประทับใจของคนที่เป็นแพทย์ เพราะแพทย์ต้องทำงานแข่งกับเวลา นาทีต่อนาที เมื่อคนไข้มาถึงโรงพยาบาลด้วยอาการเจ็บหน้าอก และสงสัยว่า เส้นเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน แพทย์ต้องเตรียมทีมเพื่อทำการเปิดเส้นเลือดคนไข้ ช่วยชีวิตคนไข้ให้ได้ภายใน 90 นาที
          "โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ คือโรคที่เกิดจากหลอดเลือดหล่อเลี้ยงหัวใจตีบแคบเล็กลง ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจทำงานผิดปกติ ส่งผลถึงอวัยวะต่างๆ ขาดเลือดไปด้วย อาการเริ่มต้น คนไข้อาจจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก แต่อาจจะไม่มาก และระยะเวลาไม่นาน เมื่อผ่านไป อาการเจ็บจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจากแน่นหน้าอกเหมือนถูกบีบ หรือรัดที่กลางหน้าอกด้านซ้าย อาการเจ็บเริ่มนานขึ้น 10-20 นาที ก็ยังไม่ทุเลา และเริ่มมีอาการต่างๆ เพิ่มขึ้นมา เช่น เจ็บร้าวไปที่กราม ที่แขน  เหงื่อออก ใจสั่น"
          อาการเหล่านี้บ่งบอกว่า เป็นอาการที่รุนแรงแล้ว บางรายอาจถึงขั้นหมดสติ และเสียชีวิตได้ คนไข้ที่มีอาการเหล่านี้ เบื้องต้นทางโรงพยาบาลจะมีวิธีการตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือ ECG หากไม่พบความผิดปกติ เปลี่ยนมาเป็นการตรวจเลือด ดูเอนไซต์ในกล้าม
          เนื้อหัวใจ (Cardiac Enzyne) หากยังไม่พบความผิดปกติ จะใช้วิธี Echocardiography และวิธีการเดินสายพาน (Exercise Stress Test) เป็นวิธีต่อมา
          สำหรับคนไข้ที่เป็นในระยะเริ่มต้น เส้นเลือดยังไม่ตีบมาก จะใช้วิธีการเดินสายพาน และอีกหนึ่งวิธีที่ค่อนข้างแม่นยำคือ X-ray CT Angiodraphy Coronary  Artery เพื่อตรวจเส้นเลือดหัวใจ ความแม่นยำของการตรวจของแต่ละประเภทจะแตกต่างกัน เช่น ECG ความแม่นยำจะอยู่ที่ 30-40% หากเป็นการเดินสายพานความแม่นยำจะอยู่ที่ประมาณ 70-80% ส่วนการฉีดสีจะมีความแม่นยำถึง 99%
          พญ.ศิรินทิพย์ กล่าวถึงการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบว่า หากคนไข้มีอาการเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจตีบ แพทย์จะใส่สายเข้าไปที่บริเวณข้อมือด้านขวา หรือ ต้นขาขวา
          เนื่องจากบริเวณจุดนี้เป็นชีพจร เส้นเลือดแดงที่เข้าไปสู่หลอดเลือดหัวใจ หลังจากใส่ท่อเข้าไปในเส้นเลือดแล้ว จะทำการ ฉีดสีเข้าไปดูว่าบริเวณไหนที่เส้นเลือดตีบ จากนั้นจะเริ่มการทำบอลลูน และใส่ขดลวดเข้าไป
          "ปัจจุบันวิวัฒนาการทางการแพทย์ ผลิตขดลวดสำหรับใช้รักษาอาการหัวใจตีบขึ้น เป็นขดลวดที่สามารถย่อยสลายได้เอง เรียกว่า "ขดลวดค้ำยันชีวภาพ" ชนิดเคลือบยา และย่อยสลายได้ ขดลวดชนิดนี้จะสลายไปได้ตามกาลเวลากลายเป็นสารธรรมชาติ คือ คาร์บอนไดออกไซด์และน้ำ ซึ่งเป็นสารที่ร่างกายดูดซึมได้ ระยะเวลาในการย่อยสลายตั้งแต่ 6 เดือน และย่อยสลายหมดใน 2 ปี ทำให้หลอดเลือดมีการยืดหยุ่น และกลับมาใช้งานได้ปกติ"
          สำหรับโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ  มีปัจจัยหลักๆ มีอยู่ 2 อย่าง คือ ปัจจัยที่ควบคุมได้ และควบคุมไม่ได้
          ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ คือ อายุที่มากขึ้นทุกวัน ส่วนใหญ่มักเกิดกับผู้สูงอายุที่มีอายุ ผู้ชายตั้งแต่ 45 ปี ผู้หญิงตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่ผู้ชายมีอัตราการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมากกว่าผู้หญิง และประวัติกรรมพันธุ์ เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง เป็น จะมีความเสี่ยงมากกว่าปกติ
          ปัจจัยที่ควบคุมได้ เช่น คนที่เป็นโรคอ้วน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคเหล่านี้หากควบคุมได้จะลดความเสี่ยงของหัวใจได้เช่นกัน การสูบบุหรี่ ความเครียด การไม่ออกกำลังกาย พักผ่อนไม่เพียงพอ
          การป้องกันการเกิดโรคหัวใจตีบนั้น คนไข้ผู้ป่วยอาจจะมีโอกาสกลับมาเป็นอีกได้ หากไม่ป้องกัน ซึ่งวิธีการป้องกันก็ต้องย้อนกลับไปดูสาเหตุการเกิดโรค หากเกิดจากปัจจัยที่ควบคุมได้ ก็ต้องดูแลตัวเองให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ด้วยการรับประทานยา การควบคุมอาหาร ลดความอ้วน พักผ่อนให้เพียงพอ และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน ประมาณอาทิตย์ละ 3-5 วัน
 pageview  1204954    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved