Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 05/03/2555 ]
อยากรู้ว่าเป็นโรคไตหรือไม่

 ไต (kidney) เป็นอวัยวะที่มีรูปร่างคล้ายถั่ว ขนาดประมาณเท่ากำปั้น อยู่บริเวณชายโครงด้านหลังทั้งสอง หน้าที่หลักของไตคือ การกรองของเสียที่อยู่ในเลือดจากทั่วร่างกาย ออกมาเป็นน้ำปัสสาวะ ไหลมาตามท่อไต (ureter) ส่งมาเก็บที่กระเพาะปัสสาวะ (bladder) เมื่อกระเพาะปัสสาวะมีปริมาณปัสสาวะมากพอก็จะส่งสัญญาณประสาทไปที่สมอง ทำให้เรารู้สึกปวดปัสสาวะ และต้องขับปัสสาวะผ่านทางท่อปัสสวะ (urethra) ออกนอกร่างกาย นอกจากไตจะมีหน้าที่กรองของเสียออกจากร่างกายแล้ว ไตยังทำหน้าที่สำคัญอื่นอีก ได้แก่ การควบคุมความดันโลหิต การควบคุมสมดุลของเกลือแร่และภาวะกรดด่างภายในร่างกาย ไตมีส่วนช่วยในกระบวนการสร้างเม็ดเลือดแดง และกระบวนการสร้างวิตามินดี เป็นต้น
          โรคไต คือโรคที่สร้างความเสียหายเกิดขึ้นในไต ทำให้ไตทำงานลดลง หรือพบว่ามีโปรตีนรั่วหรือมีเซลผิดปกติในปัสสาวะ แบ่งเป็น 2 แบบ คือ โรคไตวายเฉียบพลัน และโรคไตเรื้อรัง
          โรคไตวายเฉียบพลัน (acute renal failure, ARF หรือ acute kidney injury, AKI) เกิดจากโรคที่ทำให้ไตเสื่อมอย่างรวดเร็ว เช่น ภาวะที่ทำให้เลือดไปเลี้ยงไตน้อยลง เช่นจากการเสียเลือดจากอุบัติเหตุ ท้องเสียรุนแรงภาวะขาดน้ำรุนแรง ภาวะไตอักเสบอย่างรุนแรง (acute glomerulonephritis) ภาวะทางเดินปัสสาวะอุดตันเฉียบพลัน ถ้าภาวะต่างๆ ดังกล่าวได้รับการแก้ไขโดยเร็ว การทำงานของไตอาจกลับมาเป็นปกติได้ แต่หากแก้ไขไม่ทันหรือไม่ตอบสนองต่อการรักษาจะทำให้ไตเสื่อมการทำงานไปเรื่อยๆ จนทำให้เกิดภาวะโรคไตวายเรื้อรังได้
          โรคไตเรื้อรัง (chronic kidney disease, CKD) เป็นภาวะทีไตสูญเสียการทำงานไปจากเดิม เป็นระยะเวลามากกว่า 3 เดือน โดยแบ่งตามความสามารถในการทำงานของไตที่ยังเหลืออยู่เป็น 5 ระยะ คือ
          ระยะที่ 1 (stage 1) ไตยังสามารถทำงานได้มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์
          ระยะที่ 2 (stage 2) การทำงานของไตอยู่ระหว่าง 60-90 เปอร์เซ็นต์ คือ ภาวะไตเสื่อมเล็กน้อย
          ระยะที่ 3 (stage 3) ไตทำงานได้เพียง 30-59 เปอร์เซ็นต์ คือ ภาวะไตเสื่มปากกลางระยะนี้อาจเริ่มมีอาการบวมน้ำ ความดันโลหิตสูง โลหิตจาง กระดูกผิดปกติ ผู้ป่วยควรเริ่มการรักษากับอายุรแพทย์โรคไตในระยะนี้ ซึ่งสามารถควบคุมได้ด้วยยา
          ระยะที่ 4 (stage 4) ไตทำงานระหว่าง 15-29 เปอร์เซ็นต์ คือ ภาวะไตเสื่อมการทำงานอย่างมาก ระยะนี้จะพบความผิดปกติมากกว่าระยะที่ 3 ผู้ป่วยควรได้รับการเตรียมตัวเพื่อป้องกันการเข้าสู่ระยะที่ 5
          ระยะที่ 5 (stage 5) ไตทำงานน้อยกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ คือ ภาวะไตวายระยะสุดท้าย (end stage renal disease0 ไตไม่สามารถรักษาภาวะสมดุลของร่างกายอีกต่อไปได้ หากไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยจะไม่สามารถดำรงชีวิตต่อไปได้ ผู้ป่วยควรรับการล้างไตแบบฟอกเลือกหรือทางหน้าท้อง หรือรักษาด้วยการปลูกถ่ายไต ในปัจจุบันมีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายมากกว่า 30,000 รายในประเทศไทย
          โรคโตเรื้อรังระยะเริ่มต้นอาจไม่มีอาการหรืออาการไม่ชัดเจน ผู้ป่วยมักเกิดอาการเมื่อการทำงานของไตเสื่อมมากแล้ว อาการผิดปกติเช่น เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย อ่อนเพลียไม่มีแรง ง่วงซึมหลับง่าย ขาดสมาธิ แขนขาบวมตาบวม ปัสสาวะน้อยลงเวลากลางวัน ตื่นมาปัสสวะบ่อยเวลากลางคืน ปัสสาวะเป็นฟอง ผิวหนังแห้งคัน สีผิวคล้ำ สิ่งที่ตรวจพบเป็นประจำในผู้ป่วยโรคไต คือ ความดันโลหิตสูง ปัสสวะผิดปกติ อาจตรวจพบภาวะโลหิตจาง และภาวะเกลือแร่ในเลือดผิดปกติร่วมด้วย
          ผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคไตเรื้อรังหรือผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคไต
          1.ผู้ที่มีโรคประจำตัวชนิดเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคลูปัส โรครูมาตอยด์ โรคเกาต์ เป็นต้น ที่ทำให้การทำงานของไตเสียหายจนทำให้ไตเสื่อมที่พบบ่อยที่สุด คือ เบาหวาน และความดันโลหิตสูงโรคเกาต์ (gout) เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ไตเสื่อมได้เช่นกัน เนื่องจากมีกรดยูริกตกตะกอนที่ไตทำให้ไตวาย หรือเกิดเป็นนิ่วภายในไต หรือหากเกิดก้อนนิ่วอุดตันทางเดินปัสสาวะก็ทำให้ไตวายได้ โรคติดเชื้อที่ไตชนิดเรื้อรัง (chronic pyelonephritis) ทำให้โครงสร้างภายในไตถูกทำลายจนเกิดภาวะไตวาย
          2.ผู้ที่รับประทานยาต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาแก้ปวดกลุ่มแอสไพริน NSAIDs COX2-inhibitors ยาสมุนไพร ยาเสพติด ซึ่งยาเหล่านี้บางประเภทมีพิษต่อไต หรืออาจทำให้เกิดอาการแพ้ที่ไตหากบริโภคยาเป็นเวลานานอาจทำให้ไตวายได้
          นพ.ไกรสิทธิ อารียา
          รพ.กรุงเทพ โทร. 1719

 pageview  1204381    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved