Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 06/03/2555 ]
เป็นโรคไตต้องตรวจอะไรบ้าง

การควบคุมอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคไต
          การควบคุมอาหารในผู้ป่วยโรคไต คือ การจำกัดปริมาณอาหารที่รับประทานในแต่ละวันให้พอดีกับความสามารถของไต ไม่ให้ไตทำงานหนักเกินไป เช่น ลดการบริโภคอาหารเค็ม อาหารที่มีเกลือโพแทสเซียมสูง ลดปริมาณเนื้อสัตว์ ลดของมันของทอดหรืออาหารที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบ ผู้ป่วยสามารถปรึกษานักโภชนาการในรายละเอียดของอาหารตามที่อายุรแพทย์โรคไตกำหนดอาหารมาให้ ส่วนปริมาณน้ำดื่มนั้นขึ้นอยู่กับภาวะของไตถ้าหากไตไม่เสื่อมมากผู้ป่วยควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ลิตร แต่ถ้าไตเสื่อมมาก ผู้ป่วยจำเป็นต้องลดปริมาณน้ำดื่มลงมาให้อยู่ในภาวะสมดุลตามที่อายุรแพทย์โรคไตกำหนด
          การรักษาด้วยการล้างไต
          เมื่อผู้ป่วยเริ่มเข้าสู่โรคไตเรื้อรังระยะที่ 5 แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยเตรียมตัวสำหรับการรักษาด้วยการล้างไต การล้างไตทำได้ 2 วิธี คือ การล้างไตผ่านทางหน้าท้อง (peritoneal dialysis) และการล้างไตด้วยการฟอกเลือด (hemodialysis)
          การล้างไตทางหน้าท้อง (Peritoneal Dialysis, PD)
          ถ้าผู้ป่วยเลือกล้างไตทางหน้าท้อง แพทย์จะส่งผู้ป่วยพบศัลยแพทย์เพื่อให้คำแนะนำและรับการผ่าตัดใส่สายเข้าไปในช่องท้อง (tenckhoff catheter) ซึ่งต้องเตรียมการล่วงหน้าอย่างน้อย 1-2 เดือนก่อนการล้างไตทางหน้าท้อง เมื่อแพทย์ได้ทำการเจาะรูบริเวณหน้าท้องสำหรับใส่สายท่อล้างไตเรียบร้อยแล้ว ผู้ป่วยหรือญาติสามารถทำเองได้ที่บ้านภายหลังจากการอบรมหลักสูตรระยะสั้น ผู้ป่วยสามารถต่อสายที่หน้าท้องเข้ากับถุงน้ำยาโดยใช้เทคนิคปลอดเชื้อ แล้วจึงปล่อยน้ำยาเข้าไปในท้องจนหมด จากนั้นปลอดสายออกจากถุงและปล่อยน้ำยาทิ้งไว้ในช่องท้องประมาณ 4-6 ชั่วโมง จึงต่อถุงเปล่าเข้ากับสายที่หน้าท้องอีกครั้งเพื่อระบายน้ำยาออกจากช่องท้อง เมื่อระบายหมดแล้วจึงต่อน้ำยาถุงใหม่เข้าไปอีก
          ทำซ้ำเช่นนี้อย่างนี้วันละ 4 ครั้ง เรียกเทคนิคนี้ว่า "ซีเอพีดี (CAPD)" ย่อมาจากคำว่า Contlnuous Ambulatory Peritoneal Dialysis หรือการล้างไตทางหน้าท้องอย่างต่อเนื่องด้วยตนเอง หรือถ้ามีเครื่องช่วยก็จะต่อสายที่หน้าท้องเฉพาะกลางคืนขณะนอนหลับ เพื่อให้เครื่อง
ปล่อยน้ำยาเข้าออกจากช่องท้อง โดยอัตโนมัติตลอดทั้งคืน และจะปลดสายออกในตอนเช้า เรียกเทคนิคนี้ว่า "เอพีดี (APD)" ย่อมาจากคำว่า Automated Peritoneal Dialysis หรือ การล้างไตผ่านทางหน้าท้องโดยใช้เครื่องอัตโนมัติ
          การฟอกเลือด (Hemodialysis, HD)
          ถ้าผู้ป่วยเลือกล้างไตด้วยวิธีการฟอกเลือด แพทย์จะส่งผู้ป่วยพบศัลยแพทย์ด้านหลอดเลือด เพื่อรับคำปรึกษาเกี่ยวกับการผ่าตัดเชื่อมหลอดเลือดที่แขน (AV Fistula or Graft) ซึ่งต้องเตรียมตัวล่วงหน้าอย่างน้อย 1-6 เดือนก่อนทำการฟอกเลือด เมื่อได้รับการผ่าตัดเชื่อมหลอดเลือดที่แขนเรียบร้อยแล้ว ผู้ป่วยจะต้องมาที่ศูนย์ไตเทียมสัปดาห์ละ 2-3 ครั้งเป็นอย่างน้อย โดยพยาบาลของศูนย์ไตเทียมจะแทงเส้นที่แขนเพื่อนำเลือดออกจากตัวผู้ป่วยไปเข้าเครื่องฟอกเลือด เครื่องจะทำหน้าที่กำจัดของเสียและน้ำออกไป พร้อมทั้งปรับสมดุลกรดด่างและเกลือแร่ในร่างกาย ใช้เวลาในการฟอกเลือดอย่างน้อย 3-5 ชั่วโมง ประสิทธิภาพของการล้างไตทางหน้าท้องและการฟอกเลือดจะใกล้เคียงกัน
          ผู้ป่วยที่ล้างไตทางหน้าท้อง ไม่ต้องควบคุมอาหารและน้ำมากนัก เนื่องจากการล้างไตทางหน้าท้องมีการนำของเสีย เกลือแร่ น้ำ ออกจากร่างกายทุกวันต่างกับผู้ป่วยฟอกเลือดที่ต้องควบคุมน้ำและอาหารมากอยู่ เนื่องจากการฟอกเลือดจะทำทุก 2-3 วัน ทำให้ของเสีย เกลือแร่ และน้ำ มีเวลาสะสมในร่างกายนานกว่าก่อนจะถูกกำจัดออกไป
          การปลูกถ่ายเปลี่ยนไต (Kidney Transplant)
          ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายส่วนใหญ่จำเป็นต้องรักษาด้วยการปลูกถ่ายเปลี่ยนไต ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจร่างกายและประเมินอย่างละเอียดจากอายุรแพทย์โรคไตว่ามีข้อห้ามในการปลูกถ่ายเปลี่ยนไตหรือไม่ จากนั้นจึงจะสามารถส่งรายชื่อผู้ป่วยไปยังศูนย์บริจาคอวัยวะเพื่อที่จะรอไตบริจาคเพื่อการปลูกถ่าย ซึ่งอาจต้องรอคิวนานหลายเดือนหรือหลายปีกว่าจะได้ไตที่เข้าได้กับผู้ป่วยแต่ละราย ถ้าผู้ป่วยมีสามี ภรรยา บุตรหรือญาติสายตรง ที่มีกรุ๊ปเลือดกลุ่มเดียวกับผู้ป่วยและเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ไม่มีโรคประจำตัว ก็สามารถบริจาคไตได้โดยตรง ไม่จำเป็นต้องรอคิวสำหรับไตบริจาค
          ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไตจะมีสุขภาพที่ดีกว่าผู้ที่ล้างไตทางหน้าท้องหรือการฟอกเลือด และมีคุณภาพชีวิตใกล้เคียงปกติ ยกเว้นเรื่องการระวังการติดเชื้อเนื่องจากผู้ป่วยหลังปลูกถ่ายเปลี่ยนไตเรียบร้อยแล้วยังคงต้องรับประทานยากดภูมิคุ้มกันตลอดเวลาที่มีไตอยู่ เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายต่อต้านอวัยวะที่ปลูกถ่ายให้ และในวันที่ 8 มีนาคมปีนี้ ได้ถูกกำหนดให้เป็นวันไตโลก หรือ World Kidney Day 2012 ซึ่งเชิญชวนให้ประชากรทั่วโลกใส่ใจสุขภาพไตของตน และเข้าร่วมบริจาคไต ซึ่งเสมือนเป็นการมอบชีวิตใหม่ให้กับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง ดังสโลแกนที่ว่า "Danate Kidneys for Live Receive"
          นพ.ไกรสิทธิ อารียา
          โรงพยาบาลกรุงเทพ โทร. 1719

 pageview  1204506    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved