Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 23/07/2557 ]
วิจัยชี้เด็กกทม.มีเซ็กส์เสี่ยงสูงคุมกำเนิดต่ำ-หลงอบายมุข สื่อมีอิทธิพลความรุนแรง
 ห่วงเด็กประถม ผลวิจัยชี้เสี่ยงเพศสัมพันธ์สูง คุมกำเนิดต่ำ หมกมุ่นอบายมุข สื่อมีอิทธิพลความรุนแรงต่อเด็กมากขึ้น จากมัธยมต้นลามลงสู่ชั้นประถม
          เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร สถาบันรามจิตติ ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการประชุมเสนอรายงานการศึกษาสภาวการณ์เด็กและเยาวชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประจำปี 2556 โดย ศ.ดร.ถนอม อินทรกำเนิด อุปนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร เป็นประธาน
          ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาสถาบันรามจิตติ กล่าวว่า จากข้อมูลที่ศึกษา สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเรื่องเพศ ความรุนแรง อบายมุข ซึ่งมีความรุนแรงมากขึ้นและลามลงสู่เด็กประถมศึกษา จากเดิมที่พบในกลุ่มมัธยมศึกษาตอนต้น โดยปัจจัยที่ทำให้เด็กตกอยู่ในภาวะเสี่ยง คือ 1.ครอบครัว พบว่า เด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่เป็นกลุ่มเสี่ยงมากกว่าเด็กที่อยู่กับพ่อแม่ เนื่องจากไม่มีการสื่อสารกันในครอบครัว ไม่สามารถปรึกษาพูดคุยกับพ่อแม่ได้ ทำให้ขาดที่พึ่งทางใจนำไปสู่ปัญหา มากมาย
          ดังนั้นรัฐบาลใหม่ หรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถ้าไม่กำหนดนโยบายเรื่องครอบครัวให้ชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องการส่งเสริมความเข้มแข็งในครอบครัว จะส่งผลปัญหาต่อเด็กและเยาวชนอย่างแน่นอน
          2.โรงเรียน พบว่าโรงเรียนที่ส่งเสริมให้มีกิจกรรมทางเลือกที่หลากหลาย และมีครูที่ปรึกษาได้ทุกเรื่อง ทำให้เด็กเข้าสู่ภาวะเสี่ยงน้อยกว่าโรงเรียนที่ไม่ให้ความสำคัญกับกิจกรรมทางเลือก หรือมีครูที่ปรึกษา ซึ่งผลดังกล่าวในการจัดการเรียนการสอน ของคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ต้อง สอนวิชาทักษะชีวิต ทำให้นักศึกษามีวิญญาณความเป็นพ่อแม่คนที่สองของเด็ก นอกจากนั้นยังพบว่า พื้นที่จังหวัดที่มีนิคมอุตสาหกรรม และมีแรงงานต่างด้าว หรือจังหวัดที่มีครอบครัวยากจนจำนวนมาก รวมทั้งบริเวณชายแดนจะพบปัญหาเด็กและเยาวชนจำนวนมาก
          พ.ต.อ.หญิงจินดา กลับกลาย ประจำกองบัญชาการศึกษา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า จากการสำรวจสภาวการณ์เด็กและเยาวชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปี 2556 กลุ่มตัวอย่าง 2,448 คน พบว่า ด้านโรงเรียน เด็กและเยาวชนมีความรู้สึกเชิงบวกต่อโรงเรียน ทั้งบรรยากาศและความรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น เมื่อเทียบกับปี 2554-2555 ด้านครู เด็กระบุว่า ครูมีคุณภาพมากขึ้น ทั้งด้านจัดการเรียนการสอน และเป็นที่ปรึกษา แต่ยังพบปัญหาใหญ่ที่เด็กกว่าร้อยละ 91.40 ใช้วิธีการคัดลอกข้อมูลจากเว็บไซต์ ในการทำการบ้านหรือรายงาน และเด็กอีกกว่า ร้อยละ 56.35 ที่ลอกหรือให้ลอกข้อสอบในปีการศึกษา 2555 ส่วนด้านเพื่อน สะท้อนให้เห็นกลุ่มเพื่อนและรุ่นพี่ในเชิงบวกมากขึ้น และอัตราการกวดวิชา หรือเรียนพิเศษ ลดน้อยลงเพียงเล็กน้อย
          ทั้งนี้ สำหรับด้านเพศ พบว่า เด็กและเยาวชนมีเพศสัมพันธ์สูง คุมกำเนิดต่ำ โดยเกือบร้อยละ 37 เคยมีเพศสัมพันธ์ และมีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่ใช้ถุงยางอนามัยหรืออุปกรณ์คุมกำเนิด มีทัศนคติที่ยอมรับการมีเพศสัมพันธ์การอยู่ก่อนแต่งมากขึ้น จากร้อยละ 18.53 เป็นร้อยละ 35.00 แต่กลับมีทัศนคติต่อการคุมกำเนิดลดลง
          ด้านอบายมุข พบว่า เด็กและเยาวชนหมกมุ่นกับอบายมุขอย่างชัดเจน สูงขึ้นเกือบทุกด้าน โดยเด็กเข้าถึงบุหรี่หรือยาเส้นชนิดอื่นๆ รวมถึงบารากู่ มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 16.73 เป็นร้อยละ 40.86 แบ่งเป็นประถม 18.2 ม.ต้น 18.1 ม.ปลาย 48.4 อาชีวะ 63.4 และอุดมศึกษา 59.6 อีกทั้งเด็กตกอยู่ในแหล่งอบายมุขรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวมีคนสูบบุหรี่และดื่มเหล้า ร้อยละ 55.53 เล่นการพนัน ร้อยละ51.35 กลุ่มเพื่อน มีเพื่อนสนิทสูบบุหรี่ หรือดื่มเหล้า ร้อยละ 47.42 เล่นการพนัน ร้อยละ 27.16 โรงเรียน พบเห็นยาเสพติดร้อยละ 36.24 และชุมชน มีร้านเหล้า ผับร้อยละ 40.30 ล้วนเป็นปัจจัยที่บ่มเพาะลักษณะนิสัยให้แก่เด็ก
          นอกจากนั้น ด้านความรุนแรงพบว่า มีเพื่อนนักเรียนพกอาวุธร้ายแรงเข้ามาใน สถานศึกษาถึงร้อยละ 46.44 สูงกว่าปี 2554-2555 เคยถูกขู่กรรโชกทรัพย์หรือรีดไถ สูงมากขึ้น ร้อยละ 32.22 แต่เรื่องทำร้ายร่างกายลดลง โดยปัจจัยที่บ่มเพาะความรุนแรงมาจากสภาวะแวดล้อมทั้งจากโรงเรียนและสังคม อาทิ เด็กร้อยละ 41.45 ระบุถึงความรุนแรงจากการลงโทษด้วยการตีหรือการใช้กำลังกับนักเรียนในรั้วโรงเรียนและเด็กอีกกว่าร้อยละ 42.31 มีเพื่อนสนิทที่ชอบใช้ความรุนแรงร้อยละ 74.26 บริโภคสื่อที่นำเสนอความรุนแรงจากฉากและภาพต่างๆ ทั้งทางโทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต และร้อยละ 47.08 ที่ชื่นชอบการเล่นเกมคอมพิวเตอร์เกี่ยวกับการต่อสู้
 pageview  1205009    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved