Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 09/04/2557 ]
ไบโพลาร์:อารมณ์สองขั้วรีบค้นหาเพราะรักษาหาย
"หน้าร้อนจะรู้สึกคึกคักมาก มีพลังเหลือล้น อยากทำโน่นนี่นั่นเต็มไปหมด แต่พอหน้าหนาว จะรู้สึกเศร้าแบบไม่มีสาเหตุ มันเศร้า นั่งซึม ไม่อยากทำอะไร"น.ส.พจนา อัศววัฒนาพร เล่าถึงอาการในช่วงเวลาที่ยังไม่ทราบว่าตนเองป่วยเป็นโรคไบโพลาร์ หรืออารมณ์สองขั้ว
          จวบจนอายุ 18 ปี ขณะเรียนอยู่มหาวิทยาลัยปีที่ 2  น.ส.พจนา บอกว่า ทำงานหนัก ไม่ได้นอน 3 วัน ทำให้อารมณ์ระเบิด รู้สึกตัวเองเป็นพระศรีอาริย์มีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ในการทำสิ่งต่างๆ แม่คิดว่าผีเข้า จึงพาไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศรีธัญญา เป็นผู้ป่วยใน เมื่ออาการดีขึ้นกลับมาอยู่บ้านและใช้ชีวิตปกติ แต่เพราะขาดวินัยในการกินยา บางครั้งอมไว้ใต้ลิ้นแล้วแอบทิ้ง แต่โกหกพ่อแม่ว่ากินยาแล้ว ส่งผลให้ป่วยซ้ำ ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลศรีธัญญาอยู่ราว 3-4 ครั้ง จนครั้งสุดท้ายพยาบาลพูดว่า "พจนามาอีกแล้วหรือ" เกิดความรู้สึกว่าจะต้องรักษาตัวให้ดี จะได้ไม่ต้องเข้ามา รักษาอีก
          "เมื่อรักษาในโรงพยาบาลจนดีขึ้นแล้วรับยามากินที่บ้าน ไม่อยากกินยา เพราะตอนนั้นยังเป็นวัยรุ่นแล้วต้องมากินยา ยิ่งเป็นยาที่ซองยาเป็นโรงพยาบาลศรีธัญญาด้วยรู้สึกอาย ไม่อยากจะหยิบยาขึ้นมากิน ตอนหลังแก้ปัญหาด้วยการหากล่องยาน่ารักๆ มาใส่ และจากการที่กินยาไม่ต่อเนื่องจากการรักษาระยะแรก ทำให้ต้องกินยาตลอดชีวิต ปัจจุบันก็เป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว  ซึ่งก็ใช้ชีวิตได้ตามปกติเหมือนคนทั่วไป ทำงานได้" น.ส.พจนา กล่าว  นพ.พิชัย อิฏฐสกุล จิตแพทย์ประจำคลินิกโรคอารมณ์สองขั้ว ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ รพ.รามาธิบดี
          อธิบายเกี่ยวกับโรคไบโพลาร์ว่า โรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่มีข้อมูลเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม หากพ่อแม่คนใดคนหนึ่งป่วยเป็นโรคนี้
          ลูกจะมีโอกาสป่วย 10-15% รวมถึงสิ่งแวดล้อม มีสิ่งมากระตุ้น เช่น
          ความเครียด อกหัก สอบตก เป็นต้น และการเปลี่ยนแปลงภายในสมอง ส่วนการรักษา จิตแพทย์จะให้ยา ควบคู่กับการรักษาทางด้านจิตใจ โดยช่วยให้คนไข้เรียนรู้และปรับตัวกับปัญหา และรักษาด้วยวิธีอื่นๆ เช่น ใช้ไฟฟ้า ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของจิตแพทย์
          อาการของผู้ป่วยไบโพลาร์ จะมีอารมณ์และพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงใน 2 ขั้ว ได้แก่ ช่วงอารมณ์ขึ้นหรืออารมณ์ดีมากๆ คึกคัก (Mania /Hypomania) เช่น ความคิดแล่นเร็ว คิดหลายเรื่องในเวลาเดียวกัน วอกแวก คำพูดเร็ว เสียงดัง ใครขัดใจจะหงุดหงิดฉุนเฉียวอย่างรุนแรง อาละวาดก้าวร้าว รู้สึกตัวเองมีพลังมาก มั่นใจในตัวเองมากขึ้น มีสิ่งที่อยากทำมากมายแต่ทำสิ่งหนึ่งยังไม่เสร็จก็จะเปลี่ยนไปทำอีกสิ่งหนึ่ง อารมณ์ครื้นเครงมากกว่าปกติ รู้สึกว่ามีความสุขมาก นอนน้อยกว่าปกติ ใช้จ่ายสิ้นเปลือง เป็นต้น
          ช่วงอารมณ์เศร้า (Depression) ซึมเศร้า  พูดน้อย ความสนใจสิ่งต่างๆ ลดลง สมาธิแย่ลง การนอนผิดปกติ เชื่องช้าลง รู้สึกไร้ค่า อยากตาย ความคิดอ่านช้าลง ไม่มั่นใจในตัวเอง หดหู่ เบื่อหน่าย ท้อแท้ มองโลกแง่ลบ จิตใจไม่สดชื่น ไม่สนุกสนานกับสิ่งที่เคยชอบทำ หงุดหงิดง่าย เบื่ออาหาร  น้ำหนักลด อ่อนเพลีย ทั้งนี้อารมณ์ทั้ง 2 ช่วงจะต้องคงอยู่อย่างต่อเนื่องติดต่อกันอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ โดยเมื่อมีอาการแล้ว 1 ครั้ง โอกาสเป็นซ้ำอีก ราว 90%
          "การรักษา จิตแพทย์จะให้ยา ควบคู่กับการรักษาทางด้านจิตใจ โดยช่วยให้คนไข้เรียนรู้และปรับตัวกับปัญหา และรักษาด้วยวิธีอื่นๆ เช่น ใช้ไฟฟ้า ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของจิตแพทย์และแม้อารมณ์เป็นปกติแล้วยังต้องรับประทานยาเพื่อให้อารมณ์คงที่ ลดโอกาสการเกิดโรคซ้ำ โดยจิตแพทย์จะติดตามอาการผู้ป่วยต่ออย่างน้อย 1-2 ปี" นพ.พิชัยกล่าว โรคไบโพลาร์เกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย แต่ผู้สูงอายุจะมีอัตราการพบโรคนี้ต่ำกว่าในวัยหนุ่มสาว 1.4 เท่า ศ.นพ.พิเชฐ อุดมรัตน์ ประธานเครือข่ายโรคไบโพลาร์แห่งเอเชีย(ANBD) ให้ข้อมูลว่า กรมสุขภาพจิตมีการสำรวจระดับชุมชนพบว่าในปี 2546 มีผู้ป่วยราว 6 แสนคน ในปี 2551 มีผู้ป่วยประมาณ 9 แสนคน ปัจจุบันคาดว่าคนไทยป่วยเป็นโรคไบโพลาร์อย่างน้อย 1 ล้านคน ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเพราะมีความเข้าใจในโรคนี้และวินิจฉัยได้มากขึ้น ส่วนทั่วโลกมีการประมาณการว่ามีผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ประมาณ 27 ล้านคน
          ศ.นพ.พิเชฐ กล่าวว่า โรคไบโพลาร์ แยกย่อยได้หลายชนิด อาทิ ชนิดแปรผันตามอากาศ ในฤดูหนาวจะรู้สึกซึมเศร้า แต่ฤดูร้อนจะรู้สึกคึกคัก ส่วนใหญ่จะเจอในผู้ป่วยฝั่งซีกโลกตะวันตก อย่างไรก็ตาม มีการวิจัยในประเทศไทยพบว่า คนไทยมีป่วยชนิดนี้เช่นกัน ชนิดอาการคึกคักรุนแรง อาการคล้ายผู้ป่วยโรคจิต มีหูแว่ว ประสาทหลอน บางครั้งทำให้แพทย์วินิจฉัยผิดว่าเป็นโรคจิต และชนิดเปลี่ยนระยะขั้วรวดเร็ว แป๊บๆ เปลี่ยนเป็นคึกคักแล้วเปลี่ยนเป็นซึมเศร้า เป็นต้น
          ขณะที่ นางสุนันที อมรพิชญ์ปรัชญา รองประธานชมรมไบโพลาร์ ในฐานะผู้ดูแลคนในครอบครัวที่ป่วยไบโพลาร์ 4 คน แนะนำว่า ช่วงเวลาที่ผู้ป่วยอารมณ์แรงอย่าขัด เพราะจะทำให้เกิดการทะเลาะ ต้องพูดด้วยดีๆ จะช่วยให้ผู้ป่วยไม่เครียดมาก ถ้าพูดรุนแรงอารมณ์คนป่วยจะยิ่งขึ้นรุนแรง นอกจากนี้ ต้องบอกให้ผู้ป่วยรู้จักสังเกตอารมณ์ของตนเอง จับอารมณ์ตัวเองให้ได้ในช่วงเริ่มๆ มีอาการแล้วแจ้งผู้ดูแลเพื่อที่จะนำข้อมูลไปปรึกษากับแพทย์ ในการปรับยาหรือแนวทางการดูแลรักษา อย่างเช่น ลูกของตนเมื่อเริ่มรู้สึกว่าอยากช็อปปิ้งมากกว่าปกติก็จะบอกทันที การดูแล เอาใจใส่ผู้ป่วยแบบนี้จะช่วยให้อาการดีขึ้น
          วันที่ 30 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันไบโพลาร์โลก เนื่องจากเป็นวันเกิดของแวนโก๊ะ...ที่เชื่อว่าเป็นผู้ป่วยไบโพลาร์ ผลงานของแวนโก๊ะสามารถบอกได้ว่ารูปใดเขียนในช่วงอารมณ์มาเนียหรืออารมณ์ซึมเศร้าโดยปี 2557 จัดขึ้นเป็นปีแรก ประเทศไทยดำเนินกิจกรรมภายใต้แนวคิด "โรคนี้แม้ว่ารุนแรง แต่ให้รีบค้นหา เพราะรักษาหาย"
          "การรักษา จิตแพทย์ จะให้ยา ควบคู่กับการรักษา ทางด้านจิตใจ โดยช่วยให้คนไข้เรียนรู้และปรับตัวกับปัญหา และรักษาด้วย วิธีอื่นๆ เช่น ใช้ไฟฟ้า"
 pageview  1205134    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved