Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 24/12/2556 ]
อาหารธัญพืชเพื่อสุขภาพ
  เมื่อปลายปีที่แล้วผมได้เล่าให้ฟังว่านักวิจัยของสถาบันวิจัยโภชนาการของมหาวิทยาลัยมหิดลคือ ดร.วันทนีย์ เกรียงสินยศ ได้พัฒนาอาหารสุขภาพขึ้นมาอย่างหนึ่งคือ ธัญพืชนานาชนิดและถั่ว โดยมีส่วนผสมในอัตราส่วนที่เหมาะสม เมื่อนำมาหุงกับข้าวสารแล้ว ผู้บริโภคจะได้สารอาหารที่ค่อนข้างครบถ้วน และที่สำคัญคือผู้สูงอายุหรือผู้ที่ป่วยด้วยโรคเบาหวานก็สามารถรับประทานได้เนื่องจากอาหารดังกล่าวมีค่าดัชนีน้ำตาลลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง
          เรื่องของค่าดัชนีน้ำตาลนั้น บางท่านอาจยังไม่เข้าใจ ก็ขออธิบายง่ายๆ คือเมื่อคนเรารับประทานอาหารพวกคาร์โบไฮเดรตอย่างเช่นแป้งต่างๆ เข้าไปแล้วก็จะถูกย่อยสลายกลายเป็นน้ำตาล น้ำตาลเหล่านั้นก็จะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดอย่างรวดเร็ว แต่ว่าอาหารแต่ละชนิดมีการย่อยสลายได้แตกต่างกัน อาหารที่ย่อยสลายเป็นน้ำตาลได้เร็ว ก็จะไปเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างรวดเร็ว จึงเรียกอาหารพวกนั้นว่ามีค่าดัชนีน้ำตาลสูง
          ในการวัดค่าดัชนีน้ำตาลนั้น ก็จะใช้ค่าการดูดซึมของน้ำตาลกลูโคสเข้าในกระแสเลือดเป็นตัวเทียบซึ่งมีค่าเท่ากับ 100 หากอาหารชนิดใดมีค่าดัชนีน้ำตาลน้อยกว่า 55 ก็จัดได้ว่าอาหารเหล่านั้นมีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ ซึ่งเป็นผลดีต่อสุขภาพ คนที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ถ้ารับประทานอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ ก็หมายความว่าการย่อยสลายของอาหารเหล่านั้นให้กลายเป็นน้ำตาลและดูดซึมเข้ากระแสเลือดก็จะช้าลง ร่างกายก็มีเวลาในการจัดการกับน้ำตาลเหล่านั้นได้ดีขึ้น
          ธัญพืชและถั่วต่างๆ ที่นักวิจัยได้เลือกใช้ในการผลิตอาหารสุขภาพในกรณีนี้ก็ เช่น ข้าวโพด ทานตะวัน ถั่วแดง ลูกเดือย เป็นต้น ธัญพืชและถั่วเหล่านี้หากนำมาหุงรวมกันแล้ว ย่อมสุกไม่พร้อมกัน ดังนั้นนักวิจัยจึงต้องมีกระบวนการเพื่อให้ธัญพืชเหล่านั้นเมื่อนำมาหุงรวมกับข้าวสารแล้ว สามารถสุกพร้อมกันได้ และรสชาติหรือคุณค่าทางอาหารเป็นไปอย่างที่ต้องการ วิธีการหุงก็ง่าย เหมือนกับการหุงข้าวสารธรรมดา เพียงแต่ว่าเติมธัญพืชผสมเหล่านี้ลงไปในข้าวสารแล้วก็หุงพร้อมกันในหม้อหุงข้าวที่ใช้กันเป็นประจำ โดยใช้เวลาหุงตามปกติ ก็จะได้ข้าวผสมธัญพืชรวมที่ให้ประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระดับน้ำตาลในเลือดสูง
          หลังจากที่ได้เล่าให้ฟังเกี่ยวกับผลงานวิจัยดังกล่าวเมื่อปลายปีที่แล้วนั้น ก็มีเอกชนที่สนใจรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวออกไปผลิตจริงเพื่อจำหน่ายให้ประชาชนได้หาซื้อได้ ก็เป็นที่น่ายินดีว่าวันนี้มีผลิตภัณฑ์ดังกล่าวออกมาวางจำหน่ายแล้ว ยิ่งในช่วงนี้เป็นช่วงเทศกาลของขวัญ การให้ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่คิดขึ้นโดยคนไทยและจัดจำหน่ายโดยคนไทย ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมอย่างหนึ่ง หากใครสนใจก็สามารถติดต่อหาซื้อได้ที่สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร ซึ่งมีตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้ผู้สนใจทั่วไปได้หาซื้อไปทดลองบริโภคได้
          ความสำเร็จจากการผลักดันผลงานวิจัยดังกล่าวออกสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์เช่นนี้ เป็นตัวอย่างที่ดีอันหนึ่งของแนวคิดการทำวิจัยในยุคปัจจุบันที่ต้องการให้ผลงานวิจัยมีการถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ไม่ใช่ขึ้นหิ้งเหมือนอย่างในอดีต
          รออีกนิก เพราะอีกไม่นานก็จะมีผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยอื่นๆ ตามมาให้เห็นเป็นระยะครับ
 pageview  1205134    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved