Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 12/12/2556 ]
หน้าหนาวปีที่แล้ว'ปอดบวม'ตาย350ราย
 ขณะนี้ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงจะทำให้เจ็บป่วยได้ง่ายหากร่างกายปรับตัวไม่ทัน สภาพที่อากาศชื้น หนาวเย็น ทำให้เชื้อโรคหลายชนิด โดยเฉพาะเชื้อไวรัสเจริญเติบโตได้ดี มีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานขึ้น
          โรคที่มักเกิดขึ้นในฤดูหนาวมี 6 โรคที่พบบ่อย ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม หัด อีสุกอีใส มือเท้าปาก และอุจจาระร่วง
          ช่วงฤดูหนาวปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2555-กุมภาพันธ์ 2556 สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานพบผู้ป่วย 6 โรคฤดูหนาวรวม 471,172 ราย เสียชีวิต 355 ราย
          โรคที่มีความรุนแรงมากที่สุด คือ "ปอดบวม" เสียชีวิต 350 ราย จากที่ป่วยทั้งหมด 64,155 ราย รองลงมาคือไข้หวัดใหญ่ ป่วย 23,255 ราย เสียชีวิต 1 ราย อุจจาระร่วง 351,611 ราย เสียชีวิต 4 ราย โรคมือเท้าปาก 13,823 ราย โรคอีสุกอีใส 17,251 ราย และโรคหัด 1,077 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น หอบหืด โรคปอดเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคตับ โรคไต เบาหวาน โรคโลหิตจาง เนื่องจากมีภูมิต้านทานโรคต่ำ จึงติดเชื้อง่าย และอาการรุนแรงกว่าคนทั่วไป
          ผู้ที่มีความเสี่ยงป่วยง่าย ไม่คลุกคลีใกล้ชิดและไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้ป่วยที่เป็นหวัด ไอ จาม เช่น ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ จาน โดยเฉพาะครอบครัวที่มีเด็กเล็ก รวมทั้งมีผู้ป่วยที่อยู่ในความดูแล เช่น ผู้ป่วยอัมพาต ผู้สูงอายุที่ป่วยและช่วยตัวเองไม่ได้ ขอให้เพิ่มการดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ จุดที่ต้องเพิ่มความอบอุ่นเป็นพิเศษ คือ ศีรษะ คอ และหน้าอกการป้องกันการเจ็บป่วยจากโรคต่างๆ ในฤดูหนาว
          1.ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง โดยออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง
          2.รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และเพิ่มผัก ผลไม้สด ซึ่งมีวิตามินซี จะช่วยเพิ่มภูมิต้านทานโรคได้
          3.นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง ไม่หักโหมทำงานหามรุ่งหามค่ำ เนื่องจากจะทำให้เกิดความอ่อนเพลีย
          4.สวมเสื้อผ้าหนาๆ หรือสวมเสื้อหลายๆ ชั้น เพื่อรักษาร่างกายให้อบอุ่น
          5.หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา สูบบุหรี่ และยาเสพติดต่างๆ เนื่องจากเป็นสิ่งทำลายสุขภาพ ทำให้ร่างกายอ่อนแอลง โดยเฉพาะการดื่มสุราเพื่อหวังแก้หนาวเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง การดื่มสุราระยะแรกจะทำให้ร่างกายร้อนวูบวาบเนื่องจากหลอดเลือดฝอยใต้ผิวหนังขยายตัวจากฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ ความร้อนจะถูกระบายออกจากร่างกายมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว และทำให้อุณหภูมิในร่างกายลดต่ำลง ระบบไหลเวียนเลือดหนืดขึ้น อาจเสียชีวิตได้ และหากดื่มหนักฤทธิ์แอลกอฮอล์จะกดประสาทส่วนกลางทำให้เมา หลับไม่รู้สึกตัว โดยเฉพาะถ้ามีเครื่องนุ่งห่มให้ความอบอุ่นไม่เพียงพอ ร่างกายตากอากาศเย็นเป็นเวลานานอาจเสียชีวิตได้เช่นกัน
          การดูแลตัวเองในช่วงหน้าหนาวควรยึดหลักปฏิบัติ คือ ให้กินร้อน ช้อนกลาง และล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ ขอให้ประชาชนกระตุ้นสมาชิกในครอบครัว หรือหากเป็นโรงเรียน ขอให้ครูฝึกและกระตุ้นให้นักเรียนปฏิบัติให้ติดเป็นนิสัย การล้างมือจะขจัดเชื้อโรคที่ติดมากับมือออกไปได้ถึงร้อยละ 80 และให้สังเกตอาการป่วย
          หากเป็นไข้หวัดหรือป่วยมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยเนื้อตัว อ่อนเพลีย เจ็บคอ ไอ ให้นอนพักอยู่บ้าน หาก 2 วันแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ยังมีไข้สูง หรือมีอาการหายใจลำบาก หายใจเร็ว หอบเหนื่อย โดยเฉพาะเด็กเล็กหายใจมีเสียงหวีด ซี่โครงบุ๋ม ขอให้นึกถึงโรคปอดบวม ซึ่งเป็นโรคที่มีอันตรายสูง ขอให้รีบไปพบแพทย์ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านทันที หากเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ควรใช้ผ้าปิดปากและจมูกเวลาไอจาม ไม่คลุกคลีกับผู้อื่น รวมทั้งขอให้กลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ไปรับบริการที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน
 pageview  1205832    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved