Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 06/11/2556 ]
ไทยอันดับโลกชอบใช้รุนแรงเพศ-ครอบครัวพม.ชงก.ม.แก้

 

 พม.เผยไทยติดอันดับต้นๆ ของโลกในปัญหาความรุนแรงทุกรูปแบบ ชี้น่าห่วงแนะทุกภาคส่วนต้องร่วมมือ "ปวีณา" เตรียมเดินหน้าปรับกม.ตามยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องเพื่อแก้ปัญหา
          เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ที่โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ กรุงเทพฯ นางปวีณา หงสกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) เป็นประธานเปิดโครงการสัมมนาวิชาการเนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี โดยร่วมกับสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทย และสถาบันอุดมศึกษา 12 แห่งร่วมกันจัดกิจกรรมทุกรูปแบบเพื่อส่งเสริมการหยุดความรุนแรงในเด็กและสตรี เนื่องจากเดือนพฤศจิกายนเป็นเดือนยุติความรุนแรง
          นางปวีณา กล่าวว่า รู้สึกยินดีและภูมิใจที่เด็กและเยาวชนไทยจาก 12 สถาบันได้เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อรณรงค์ให้เกิดความตระหนักในปัญหาความรุนแรงต่างๆ ทั้งนี้จากการรับเรื่องร้องเรียนของศูนย์ช่วยเหลือสังคม หรือโอเอสซีซี ตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม ถึงปัจจุบันพบว่า มีผู้ที่ร้องเรียนเข้ามา 10,847 ราย เป็นเรื่องหลักที่ พม.ให้ความสำคัญคือความรุนแรงให้ครอบครัว 758 ราย เรื่องท้องไม่พร้อม 169 ราย เรื่องค้ามนุษย์ 110 ราย และค้าแรงงานเด็ก 34 ราย นอกจากนี้ยังมีร้องเรียนเข้ามาที่มูลนิธิปวีณาเพื่อเด็กและสตรี 6,195 ราย เฉลี่ยแล้วมีผู้ร้องเรียนเข้ามาวันละ 30 ราย โดยครึ่งหนึ่งเป็นเรื่องความรุนแรงในครอบครัว
          นางปวีณากล่าวอีกว่า วันที่ 20 พฤศจิกายนนี้ พม.เตรียมจะมีการประชุมร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานด้านเด็ก สตรีและครอบครัว เพื่อปรับยุทธศาสตร์การจัดการกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคม ให้มีความสอดคล้องไปกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 และปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้มีความเข้มงวดขึ้น เช่น ปรับ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 จากเดิมที่เป็นตัวสำคัญที่จะช่วยป้องกัน และคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรง ปรับรูปแบบในการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ที่กระทำความรุนแรงไม่ให้กลับมาทำอีก ดังนั้น ประชาชนเองจะต้องเรียนรู้เพิ่มเติมเรื่องกฎหมายด้วย
          ด้าน นางสุทธินี เมธีประภา นายกสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ กล่าวว่า จากข้อมูลศูนย์พึ่งได้ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าตั้งแต่ปี 2550-2556 มีเด็กและสตรีถูกกระทำความรุนแรงและเข้ารับบริการที่ศูนย์พึ่งได้ในโรงพยาบาลจำนวน 117,506 ราย เฉลี่ยปีละ 23,501 ราย หรือก่อเหตุทุก 20 วินาที ล่าสุดปี 2554 มีเด็กและสตรีเข้ารับบริการจำนวน 22,565 ราย เป็นเด็ก 11,491 ราย เป็นสตรีอายุ 18 ปีขึ้นไป 11,075 ราย โดยผู้กระทำส่วนใหญ่เป็นคนใกล้ชิด เกิดขึ้นในครอบครัว ซึ่งถูกมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบข้อมูลของ พม.กับ สธ. พบว่าการกระทำความรุนแรงในครอบครัวมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น
          นางสุทธินี กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และครอบครัว ยังเป็นปัญหาความรุนแรงระดับสากลที่เกิดทุกสังคมทั่วโลก และจากข้อมูลของ UN Women สำรวจสถิติความรุนแรงทางร่างกายต่อคู่ของตัวเองจาก 75 ประเทศ ยังพบว่าประเทศไทยเป็นลำดับที่ 36 ที่มีการกระทำความรุนแรงทางกายมากที่สุด ขณะที่อันดับแรกคือประเทศคิรีบาติ รองลงมาคือสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และเอธิโอเปีย ส่วนประเด็นความรุนแรงทางเพศต่อคู่ของตัวเองจากข้อมูล 71 ประเทศ ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 7 ที่มีการกระทำความรุนแรงทางเพศมากที่สุด โดยอันดับแรกคือ ประเทศเอธิโอเปีย รองลงมา โซโลมอนไอร์แลนด์ และคิรีบาติ นอกจากนี้ยังพบว่าความเชื่อที่สามีตีภรรยาเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ ข้อมูลจาก 49 ประเทศพบว่าประเทศไทยเป็นอันดับ 2 ที่มีความเชื่อนี้มากที่สุด อันดับแรกคือ อันดับแรกคือประเทศแซมเบีย และอันดับ 3 คือประเทศมาลี
          "น่าตกใจที่ประเทศไทยอยู่อันดับต้นๆ ของปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงต่อร่างกาย จิตใจ ความรุนแรงทางเพศซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น จะเห็นว่าจากการที่เรามีกฎหมาย มีผู้บังคับใช้กฎหมาย แต่ปัญหาก็ไม่ได้ลดน้อยลง จึงคิดว่าเรื่องนี้ทุกคน ต้องตระหนักถึงปัญหาและช่วยกันลดความรุนแรงเหล่านั้น และเชื่อว่าเด็ก และเยาวชนจะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมที่มีปัญหาความรุนแรงลดน้อยลงได้" นางสุทธินี กล่าว
          ด้าน ศ.(พิเศษ) จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวในการอภิปรายเรื่อง "พลังเยาวชนกับการมีส่วนร่วมยุติความรุนแรงในครอบครัว" ว่า รากเหง้าความรุนแรงอยู่ในระบบคิดและจิตวิญญาณของมนุษย์ทุกคน และจะเบ่งบานเมื่อมีอำนาจ ดังนั้นทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันดูแลระบบคิดและจิตวิญญาณทั้งภายในและภายนอก เพราะยิ่งสังคมเปิดช่องก็จะยิ่งทำให้สร้างความเดือดร้อนและเสียหายมากยิ่งขึ้น มิติทางสังคมที่เป็นรูปธรรมที่จะยืนหยัดต่อต้านความรุนแรงคือกฎหมาย ซึ่งสังคมไทยได้ออกแบบกฎหมายที่ปฏิเสธความรุนแรงทุกรูปแบบ
 pageview  1205453    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved