Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 06/11/2556 ]
ประชากรโลก200ล.คนเสี่ยงมลพิษ แพทย์จีนเผยเหยื่อมะเร็งปอดเด็กสุดแค่8ขวบ

 

 เจนีวา-กลุ่มสิ่งแวดล้อมเผยชื่อ 10 แหล่งมลพิษสาหัสสุดของโลก แหล่งรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ยุโรปในกานาติดด้วย เตือนประชากรโลก 200 ล้านคนทั่วโลกเสี่ยงมลพิษ ด้านจีนพบเด็กหญิง 8 ขวบเป็นผู้ป่วยมะเร็งปอดอายุน้อยที่สุด แพทย์ชี้มลพิษ ตัวการ
          เมื่อวันจันทร์ ( 4 พ.ย.) ตามเวลาในสหรัฐ สถาบันแบล็กสมิธ องค์กรจับตาด้านสิ่งแวดล้อมมีสำนักในสหรัฐ และกรีน ครอสส์ สวิตเซอร์แลนด์ เผยสถานที่เสี่ยงมลพิษมากที่สุดในโลก 10 แห่ง ซึ่งเป็นการจัดอันดับครั้งแรกนับจากปี 2550 โดยอิงจากการประเมินความเสี่ยงกว่า 2,000 กรณีในสถานที่ปนเปื้อนใน 49 ประเทศทั่วโลก ปรากฏว่า เขต อัคบอกโบลชี (Agbogbloshi) ในกรุงอักกรา เมืองหลวงของประเทศกานา เป็นหนึ่งในพื้นที่
          เสี่ยงมลพิษมากที่สุดแห่งใหม่ ในฐานะแหล่งคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ใหญ่อันดับ 2 ในภูมิภาคแอฟริกา ตะวันตก
          ทุกปี ประเทศกานาจะนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มือสองราว 2.15 แสนตันจากยุโรปตะวันตก และคาดว่าตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว ภายในปี 2563  ปัญหาสุขภาพสืบเนื่องจากการคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ในกานาคือ การเผาสายเคเบิลเพื่อเอาทองแดงที่อยู่ข้างใน เนื่องจากสายเคเบิลมีโลหะหนักหลายชนิดปะปนอยู่ รวมทั้งตะกั่ว และตัวอย่างดินที่เก็บจากย่านดังกล่าว พบโลหะเป็นพิษเข้มข้นกว่าระดับที่ยอมรับได้ถึง 45 เท่า
          นายแจ็ก คาราวาโนส ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยสถาบันแบล็กสมิธ กล่าวว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นปัญหาท้าทายและขยายตัวรวดเร็ว ทุกคนใช้คอมพิวเตอร์ แล็ปท็อป อุปกรณ์สมัยใหม่ ดังนั้น สิ่งที่เห็นเป็นแค่ส่วนเล็กน้อยเท่านั้น
          ด้านนายริชาร์ด ฟุลเลอร์ ผู้อำนวยการสถาบันแบล็กสมิธ เตือนว่า ประชากรโลกกว่า 200 ล้านคนเสี่ยงที่จะเผชิญปัญหาสุขภาพเนื่องจากมลพิษในประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้
          ส่วนสถานที่ใหม่ที่ติดอันดับแหล่งมลพิษในปี 2556 นี้ ได้แก่ ที่ราบลุ่มแม่น้ำซิตารุม ในชวาตะวันตก ประเทศอินโดนีเซีย ที่มีประชากรอาศัยราว 9 ล้านคน และเป็นที่ตั้งของโรงงานกว่า 2,000 แห่ง แม่น้ำสายนี้ซึ่งใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคและการชลประทานทำนา ปนเปื้อนสารพิษมากมาย รวมทั้งอะลูมิเนียมและแมงกานีส ผลการทดสอบน้ำดื่มพบระดับสารตะกั่ว สูงกว่าเกณฑ์ปลอดภัยในสหรัฐกว่า 1,000 เท่า
          จ.กาลิมันตัน บนเกาะบอร์เนียว ส่วนของประเทศอินโดนีเซีย ก็ติดอันดับเช่นกัน เนื่องจากการทำเหมืองทองขนาดเล็กแบบพื้นบ้านอย่างกว้างขวาง และชาวบ้านใช้สารปรอทในกระบวนการสกัดแยก
          เมืองซาฮาริบากห์ ประเทศบังกลาเทศ ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงฟอกหนังส่วนใหญ่ของประเทศที่มีอยู่ทั้งหมด 270 แห่ง โดยทุกปี โรงฟอกหนังเหล่านี้จะปล่อยน้ำเสียเป็นพิษประมาณ 2.2 หมื่นลูกบาศก์เมตร รวมถึงสารก่อมะเร็งอย่าง เฮกซะวาเลนท์ โครเมียม ลงสู่แม่น้ำบุรี แม่น้ำสายหลักและแหล่งน้ำดิบของกรุงธากา
          สามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์ ประเทศไนจีเรีย และที่ราบลุ่มแม่น้ำ มาตันซา-ริอาชวยโล ประเทศอาร์เจนตินา ก็ติดโผแหล่งมลพิษด้วย
          ที่เหลือเป็นพื้นที่เดิมจากการจัดอันดับครั้งก่อน ได้แก่ เขตอุตสาหกรรมในอดีตสหภาพโซเวียต รวมถึงบริเวณที่ตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ที่เกิดเหตุเพลิงไหม้เป็นหายนภัยนิวเคลียร์ร้ายแรงเมื่อปี 2529 และคับเว เมืองทำเหมืองตะกั่ว ในประเทศแซมเบีย
          สิ่งที่แตกต่างจาก 10 อันดับเมื่อ 6 ปีที่แล้วคือ จำนวนมากเป็นเมืองในจีนและอินเดีย แต่เมืองจากสองประเทศนี้ ไม่ปรากฏอยู่ในทำเนียบล่าสุดแล้ว
          ส่วนที่จีน สำนักข่าวซินหัวของทางการ รายงานอ้างการเปิดเผยของ นพ.เจี่ย เฟิงตง ที่โรงพยาบาลมะเร็งเจียงซู ในนครหนานจิง หรือนานกิง ว่า เด็กหญิง 8 ขวบคนหนึ่ง ที่อาศัยอยู่ใกล้กับถนนสายหลักในมณฑลเจียงซู กลายเป็นผู้ป่วยมะเร็งปอดอายุน้อยที่สุดในแดนมังกร ซึ่งสาเหตุเกิดจากการสูดฝุ่นและอนุภาคที่เป็นอันตรายมาเป็นเวลานาน
          สมาคมมะเร็งปอดอเมริกันระบุว่า มะเร็งปอดในเด็ก เป็นกรณีที่พบน้อยมาก โดยอายุเฉลี่ยของการวินิจฉัยพบ อยู่ที่ประมาณ 70 ปี
          แต่ผู้ป่วยเป็นโรคนี้เพิ่มขึ้นมากในจีน สถิติกระทรวงสาธารณสุขจีนระบุว่า อัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งปอด เพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่าในช่วง 30 ปี อันเป็นผลพวงของการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ที่ทำให้คุณภาพอากาศเสื่อมโทรม โดยเฉพาะในเขตเมือง
          ปัจจุบัน มะเร็งคือสาเหตุหลักการเสียชีวิตในนครหลวงปักกิ่งที่เผชิญหมอกควันพิษปกคลุมเป็นระยะ
 pageview  1205446    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved