Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ข่าวสด [ วันที่ 06/09/2560 ]
เตือนภัยโรคผิวหนัง อันตรายที่มากับน้ำท่วม

   ผศ.พญ.สุวิรากร โอภาสวงศ์ ประธานฝ่ายกิจกรรมสังคมสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาน้ำท่วมและน้ำท่วมขังตามที่ต่างๆ ทำให้เกิดโรคผิวหนังชนิดต่างๆ รวมถึงเรื่องของแมลงและสัตว์มีพิษต่างๆ เกิดขึ้นตามมามากมาย โดยโรคน้ำกัดเท้าถือเป็นอันดับ 1 ของโรคที่มากับน้ำท่วม เรียกเดิมๆ ว่า ฮ่องกงฟุต น้ำกัดเท้า คือการติดเชื้อรา ในกลุ่มเดียวกันกับโรคขี้กลาก ติดเชื้อได้จากการลุยน้ำท่วมขัง หรือใส่รองเท้าที่มีเชื้อราอยู่ เชื้อราจึงเข้าสู่ผิวหนังและ ก่อให้เกิดโรคน้ำกัดเท้าได้
          เมื่อผิวหนังเกิดการระคายเคือง สังเกตง่ายๆ ผิวหนังจะแห้งๆ ย่นๆ เริ่มคัน มีสีแดง บางครั้งมีตุ่มน้ำบริเวณตรงซอกนิ้วเท้า หรือตรงซอกเท้า เป็นสีขาวๆ และเริ่มเป็นแผล ผิวหนังจะแห้ง ตกสะเก็ด แตกเป็นร่อง แผลสด บวม เจ็บและคัน บางครั้งอาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนได้ อาการที่เพิ่มขึ้นจะอักเสบบวมแดง ร้อน หรือเป็นหนอง ซึ่งจะส่งผลให้โรครุนแรงขึ้นตามลำดับ
          การรักษาจะต้องหมั่นทำความสะอาดเท้า ล้างเท้าด้วยน้ำสะอาดและใช้แป้งโรยที่เท้าได้ เพื่อไม่ให้อับชื้น ถ้าต้องย่ำน้ำควรทาโลชั่น วาสลีน ซึ่งเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการระคายเคือง และล้างเท้าด้วยน้ำสะอาด เช็ดให้แห้งทุกครั้ง
          เมื่อเป็นโรคน้ำกัดเท้าแล้ว จะต้องรักษาด้วยยารักษาเชื้อราเฉพาะที่ อาจจะเป็นยาทา ประเภทครีม เจล ขี้ผึ้ง หรือสเปรย์ หรืออาจจะต้องรับประทานยาฆ่าเชื้อราร่วมด้วย รักษาให้หายขาดได้ แต่หากไม่รักษาอาจเกิดเรื้อรัง ที่สำคัญอย่าทายาแก้แพ้ ที่มีสเตียรอยด์เพราะจะทำให้ลุกลามขึ้นเรื่อยๆ
          โรคติดเชื้อราที่ขาหนีบ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า สังคัง มักเกิดจากการเป็นเชื้อราที่เท้า แล้วเวลาสวมกางเกงในจะนำเชื้อราที่เท้าไปสัมผัสขาหนีบ มักมีอาการคันมาก โรคนี้เป็นได้ทั้งเพศชายและหญิง เมื่ออากาศร้อนชื้นทำให้บริเวณใต้ร่มผ้าอย่างบริเวณขาหนีบเกิดความ
          อับชื้นได้ง่าย จนกลายเป็นผดผื่นแดง และมีอาการคันตามมา หากปล่อยไว้ไม่รีบรักษาจะลามไปยังอวัยวะส่วนอื่นได้
          สำหรับยาที่รักษาเชื้อราที่ขาหนีบ มักจะเป็นยาประเภท Ketoconazole หรือ Clotrimazole โดยให้ทาบริเวณที่เป็นผื่นทุกเช้าเย็นหลังอาบน้ำ ส่วนใหญ่แล้วประมาณ 2-3 สัปดาห์ก็จะหายไปเอง หากทายาแล้วไม่ดีขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อตรวจ และรักษาทันที
          โรคเท้าเหม็น (Pitted Keratolysis) จะมีลักษณะผิวหนังเป็น รูๆ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย จะพบบ่อยในช่วงน้ำท่วม โดยเฉพาะ ผู้ป่วยที่ชอบใส่ถุงเท้าอับนานๆ มีเหงื่อออกมาก มักจะเป็นโรคนี้ บาง
          ครั้งมักจะเกิดขึ้นกับคนที่ชอบเดินเท้าเปล่าย่ำน้ำ เมื่อเท้าเปียกจนชื้นจากเหงื่อหรือน้ำที่เจิ่งนอง จะทำให้ผิวหนังยุ่ยและติดเชื้อแบคทีเรีย แล้วก็โชยกลิ่นเหม็นออกมา นอกจากได้กลิ่นเหม็นแล้ว ยังรู้สึกว่าถุงเท้าติดกับฝ่าเท้า
          โรคฉี่หนู ไข้ฉี่หนู หรือ โรคเล็ปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) เป็นอีกโรคหนึ่งที่น่ากลัว เพราะเป็นอันตรายถึงชีวิต เชื้อชนิดนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย และเป็นโรคจากสัตว์ เช่น สุนัข หนู โค กระบือ สุกร แพะ แกะ สัตว์เลี้ยงในบ้าน เป็นต้น แต่พบมากในหนู จะพบการระบาดในช่วงฤดูฝนต่อจนถึงในฤดูหนาว และในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง โดยจะติดต่อผ่านการสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่มีการปนเปื้อนของเชื้อ เช่น ลุยน้ำที่มีเชื้อ การกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ หายใจเอาไอละอองของปัสสาวะหรือของเหลวที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป และเข้าผ่านเยื่อบุต่างๆ เช่น ตา ปาก หรือไชเข้าทางผิวหนังตามรอยแผลและรอยขีดข่วน
          อาการจะมีไข้หรือปวดเมื่อยตามตัวค่อนข้างมาก ซึ่งเมื่อเกิดอาการดังกล่าวให้รีบไปหาแพทย์โดยทันที วิธีการป้องกันง่ายๆ คือการใส่รองเท้าบู๊ต หรือหุ้มเท้าด้วยถุงพลาสติก
          ส่วนวิธีการรักษาจะใช้ยาปฏิชีวนะ ควรให้ยาเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้หรือไม่ควรเกิน 4 วันหลังจากมีอาการเป็นอย่างช้า
          หากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ www.dst.or.th

 pageview  1204949    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved