Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ข่าวสด [ วันที่ 17/04/2555 ]
ลูกพูดช้า-ติดอ่าง พ่อแม่อย่าชะล่าใจ

การพูดถือเป็นตัวชี้วัดได้อย่างหนึ่งว่าเด็กมีพัฒนาการและการเจริญเติบโตสมวัยหรือไม่เด็กบางคนพูดจาน่ารักน่าเอ็นดู พูดเป็นนกแก้วนกขุนทอง แต่เด็กบางคนโตจนตั้งไข่หัดเดินได้แล้วกลับพูดแม้แต่คำว่าพ่อและแม่ไม่ได้ หรือบางรายกลายเป็นเด็กพูดไม่ชัด พูดติดอ่าง หรือพูดแล้วฟังไม่รู้เรื่อง

ปรียา หล่อวัฒนพงษา นักบำบัดทางการพูดและภาษา โรงพยาบาลมนารมย์ บอกว่าพัฒนาการของสมาชิกตัวน้อยถือเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสูงน้ำหนักตัว การกิน การเล่น ไปจนถึงการพูด ควรมีพัฒนาการดีขึ้นเป็นลำดับ

แต่หากถึงวัยเหมาะสมแล้วลูกยังไม่พูด พูดติดอ่าง หรือพูดไม่ชัด แสดงว่าลูกอาจมีความผิดปกติทางการพูดและการสื่อสารลักษณะแบบนี้อย่าคิดว่าเป็นเรื่องปกติของเด็กและอย่าชะล่าใจคิดว่าเดี๋ยวเด็กก็พูดได้เอง

ปรียาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สมาคมโสตสัมผัสวิทยาและการแก้ไขการพูดแห่งประเทศไทย บัญญัติเกี่ยวกับปัญหาด้านการพูด 9 ชนิดที่พบมากในบ้านเราคือ พูดไม่ชัด พูดเสียงแหบ พูดติดอ่าง พูดช้า ปัญหาการพูดของคนที่มีความบกพร่องทางสมอง กลุ่มดาวน์ซินโดรม กลุ่มของเด็กที่มีปัญหาด้านจิตใจ กลุ่มออทิสติก และกลุ่มที่มีปัญหาเรื่องหูและการได้ยิน

โดยความผิดปกติทางการพูดจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือการพูดที่ผิดปกติหรือออกเสียงเพี้ยนอย่างเห็นได้ชัด หรือออกเสียงทางจมูกแทนที่จะเปล่งออกมาทางปาก และการพูดที่สื่อความหมายได้ยาก โดยที่ผู้พูดมีความรู้สึกไม่สบายใจในขณะที่พูด และผู้ฟังก็มีความรู้สึกไม่สบายใจในขณะที่ฟังจากข้อมูลผลการวิจัยของนักศึกษาปริญญาตรี-โท เกี่ยวกับการพูดของผู้อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ พบว่าเด็กอายุ 3 ขวบสามารถพูดได้ชัดทุกเสียง แต่ก็มีบางรายงานการวิจัยที่เขียนไว้ว่า เสียง ส เสือ ร เรือ ยากต่อการออกเสียง เด็กอาจใช้เวลานานกว่าจะพูดได้ชัดก็ประมาณ 7 ขวบ และหลังจาก 7 ขวบไปแล้วการเรียนรู้ในทุกภาษาจะสอนได้ยากมาก

นักบำบัดทางการพูดและภาษายกตัวอย่างให้เห็นถึงความผิดปกติทางการพูดที่เกิดขึ้นในเด็กว่า ส่วนใหญ่แล้วการพูดที่ผิดปกติในวัยเด็กมักพบปัญหาหลายเรื่องตั้งแต่ไม่พูดกระทั่งพูดได้ เริ่มพูดแต่ว่าพูดแล้วไม่พัฒนาภาษาขึ้นมา คำพูด คำศัพท์มีน้อย ไม่สามารถนำคำศัพท์มาใช้ได้ ไม่สามารถเรียบเรียงต่อเป็นประโยค ไม่สามารถบอกความต่อเนื่องหรือเล่าเรื่องได้เป็นต้น ส่วนอาการของการพูดไม่ชัดสังเกตได้จากการนำเสียงใดก็ได้มาทดแทน เช่น "ช้อน" กลายเป็น "จ๊อน" "สวย" ก็ออกเสียงเป็น "จ๋วย" "กาน้ำ" ก็ออกเสียงมีคำควบกล้ำ "กราน้ำ"กรณีที่เพิ่ม ร เรือ สะกดด้วยนี้ไม่ค่อยได้เจอบ่อย ขณะที่อาการพูดที่ฟังไม่รู้เรื่องเลยคือ เว้นคำในสระท้าย เช่น คำว่า "บ้าน" จะพูดว่า "บ้า" หรือ "บ้าง" โดยนำ ง งู มาเติมแทน น หนู เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีอาการพูดติดอ่างที่เป็นปัญหาหนึ่งของการพูดในเด็กประถมต้น สาเหตุพบได้บ่อยเกิดจากการที่ลมหายใจของเด็กไม่สัมพันธ์กับการพูด เด็กพวกนี้มักจะมีร่างกายอ่อนแอ หรือเหนื่อยง่ายมีโรคประจำตัว โรคภูมิแพ้ มีน้อยมากที่เกิดจากพ่อแม่ดุ แต่ก็ยังบอกสาเหตุการเกิดได้ยาก แต่หากรับการรักษาจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นเป็นลำดับ

ปรียาแนะวิธีการสังเกตเด็กว่ามีปัญหาในเรื่องการพูดหรือไม่โดยให้พ่อแม่หมั่นพูดคุยกับลูกและเปรียบเทียบพัฒนาการกับเด็กคนอื่นในวัยเดียวกันหากมีปัญหาพูดไม่ชัดหรือสื่อความหมายถึงสิ่งที่เขารู้สึกไม่ได้ ทั้งที่เพื่อนในวัยเดียวกันทำได้ให้รีบพามาปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงและรับการรักษาที่ถูกวิธี

พัฒนาการของเด็กไม่ใช่เรื่องของการพูดอย่างเดียวแต่ยังมีเรื่องของพัฒนาการด้านร่างกายสังคม และทักษะอื่นๆพ่อแม่คือด่านแรกที่จะตรวจลูกตัวเองว่ามีความผิดปกติในเรื่องใดบ้างพัฒนาการด้านต่างๆ ไปด้วยกันหรือไม่ เช่น 1 ขวบควรจะชี้หู ตา จมูกได้, ขวบครึ่งถึง 2 ขวบ ควรพูดได้, 3 ขวบควรจะพูดชัด, 4 ขวบน่าจะเล่าเรื่องสั้นๆได้ หากผิดเพี้ยนไปจากนี้ควรปรึกษาแพทย์

ทุกความผิดปกติสามารถแก้ไขได้ หากพ่อแม่สังเกตพบแต่เนิ่นๆ แล้วพามาตรวจเพื่อรับการรักษาด้วยการฝึกพูดด้วยวิธีที่ถูกต้อง เพราะหากได้รับการรักษาตั้งแต่ ที่พบอาการช่วงแรกๆ จะทำให้พัฒนา การของเด็กตามเพื่อนวัยเดียวกันได้ดีกว่าที่จะปล่อยไว้จนโตแล้วมาแก้ไขทีหลัง

การที่เด็กได้รับการรักษาล่าช้า เมื่อเติบ โตขึ้นอาจเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตอยู่กับสังคมรอบกาย ไม่ว่าจะในกลุ่มเพื่อนหรือที่ทำงานจากปมด้อยที่ถูก เพื่อนล้อ

การบำบัดรักษาทางการพูดและภาษานี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมการรักษาแนวใหม่ของโรงพยาบาลมนารมย์ สนใจดาวน์โหลดข้อมูลด้านการดูแลสุขภาพจิต แบบประเมินทางจิตวิทยาต่างๆ ได้ที่ www.manarom.com หรือหากต้องการรับคำปรึกษาจากจิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักกิจกรรมบำบัด โทร.0-2725-9595, 0-2399-2822

 pageview  1205072    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved