Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ข่าวสด [ วันที่ 09/10/2557 ]
ปรับพฤติกรรม-กินผักผลไม้เคล็ดลับง่ายๆพิชิตอาการท้องผูก
ปัจจุบันคนไทยมีวิถีชีวิตที่เร่งรีบ อยู่ภายใต้ความเครียดและความกดดัน ทำให้หลายคนละเลยเรื่องการกินอาหาร รวมถึงการดูแลสุขภาพ เป็นผลทำให้ร่างกายเสี่ยงกับการเกิดโรคต่างๆ รวมถึงภาวะท้องผูก
          โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่เข้าใจว่า อาการท้องผูกไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต จึงไม่รักษา แต่อาการนี้ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย โดยเฉพาะในรายที่เป็นรุนแรง ซึ่งอาจพบร่วมกับโรคลำไส้แปรปรวน ริดสีดวงทวาร ไปจนถึงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
          รศ.นพ.สมชาย ลีลากุศลวงศ์ นายกสมาคมประสาททางเดินอาหาร และการเคลื่อนไหว (ไทย) กล่าวในการเสวนาหัวข้อ "ยาระบายสำหรับทุกคนในครอบครัว" ในงานเปิดตัวอย่างยาระบาย "ดูฟาแลค" (Duphalac) ถึงอาการท้องผูกว่า ท้องผูกเป็นปัญหา 1 ใน 4 ของคนไทยต้องพบเจอ โดยเป็นอาการถ่ายอุจจาระที่เป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากอุจจาระอยู่ในสภาพที่แห้ง แข็ง เกิดความทรมานในการขับถ่าย หรือขับถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ซึ่งพบได้ในคนทุกกลุ่มอายุ
          สัญญาณของอาการท้องผูก แต่ละกลุ่มจะแตกต่างกันออกไป 3 ประเภท 1.คือท้องผูกในเด็ก โดย 5-10% ของเด็กจะมีปัญหา ซึ่งพ่อแม่ต้องหมั่นสังเกตความถี่ของการอุจจาระ ที่บ่งบอกว่าลูกท้องผูก คือขับถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ เมื่ออุจจาระแข็ง ทำให้เจ็บปวดเวลาเบ่งถ่าย หรืออาจมีเลือดติดออกมาด้วย เพราะเกิดแผลที่ผิวหนังบริเวณทวาร พอเจ็บจะกลัวการขับถ่าย ซึ่งจะยิ่งทำให้อุจจาระแข็งมากขึ้น
          2.ท้องผูกในคุณแม่ตั้งครรภ์ โดยคุณแม่จะมีปัญหาเกี่ยวกับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะช่วงเดือนก.ค.-ก.ย. ฉะนั้น โอกาสที่จะท้องผูกก็เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ มดลูกของแม่ก็จะเริ่มโตและไปกดหลอดเลือดใหญ่ ทำให้การไหลเวียนของเลือดในส่วนล่างของร่างกายช้าลง
          3.ท้องผูกในผู้สูงอายุ ซึ่งมักรับประทานอาหารได้น้อยลง บางคนรับประทานอาหารที่มีกากใยไม่ได้ ดื่มน้ำน้อย เป็นโรคเบาหวาน หรือประสาทการรับรู้ถึงการเคลื่อนไหวในลำไส้น้อยลง กล้ามเนื้อการขับถ่ายเสื่อมตามวัย และส่วนใหญ่มักใช้ยา ซึ่งอาจมีผลทำให้ท้องผูกมากขึ้น และการเบ่งอุจจาระมากๆ อาจทำให้เกิดอาการหน้ามืดเป็นลม
          การรักษา บางคนอาจคิดว่าตนเองท้องผูก หากไม่ได้ขับถ่ายอุจจาระออกมาทุกๆ วัน แต่การขับถ่ายไม่เหมือนกันในแต่ละคน ในคนปกติจะถ่ายเฉลี่ยวันละสามเวลา ไปจนถึงสามครั้งต่อสัปดาห์
          แนวทางรักษาต้องดูตามอาการและสาเหตุ มีทั้งการใช้ยา เช่น ยาที่ทำให้อุจจาระอ่อนนิ่ม ยาที่กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ ยาระบาย การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและวิถีชีวิต อาทิ การดื่มน้ำ กินผักผลไม้ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อช่วยให้ลำไส้เคลื่อนไหวดีขึ้น และฝึกนิสัยการขับถ่ายให้เป็นเวลา
 pageview  1204946    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved