Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ข่าวสด [ วันที่ 02/10/2557 ]
มหาวิทยาลัยสุขภาพปลุกพฤติกรรมด้านบวก
  "สุขภาพดี" มิใช่การพึ่งพาปฏิบัติทางการแพทย์เพียงอย่างเดียว แต่สุขภาพที่ดีเป็น
          ความรับผิดชอบของแต่ละคน เป็นห่วงโซ่ของความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างปัจจัยทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม พฤติกรรมสุขภาพ และการใช้ชีวิตของแต่ละบุคคล
          ดังนั้น การมีพฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพที่ดีและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพมีความสำคัญอย่างยิ่ง
          มหาวิทยาลัยรังสิตจึงสร้างบรรยากาศสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุน เอื้อให้เกิดการเรียนรู้วิธีดี และก่อให้เกิดพฤติกรรมการเรียนรู้ การดำรงชีวิตที่มีความสุข ความอยู่รอดปลอดภัย เป็นแบบอย่างที่ดี ของสังคมได้ โดยในปี 2553-2555 ทางมหาวิทยาลัยดำเนินการโครงการ RSU Healthy Campus เพื่อพัฒนามหาวิทยาลัย สู่การเป็นมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพ โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
          สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ 7 ด้าน ได้แก่ การลด ละ เลิก สูบบุหรี่ สุรา สิ่ง เสพติดทั้งหลาย ส่งเสริมให้มีอาหาร และโภชนาการที่ปลอดภัย เรื่องความรัก และเรื่องเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย รวมถึงการพัฒนา สิ่งแวดล้อม โดยผ่านกระบวนการพัฒนาหลักสูตร การทำกิจกรรมการเรียนการสอน การศึกษาวิจัย และการพัฒนานวัตกรรม โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นคณาจารย์ นักศึกษา บุคลากรในมหาวิทยาลัย และชุมชนใกล้เคียง
          ในการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เป็นเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาเอกชน เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ ที่อาคารอาทิตย์ อุไรรัตน์ มหาวิทยาลัยรังสิต มีผู้แทนจากมหาวิทยาลัยรังสิต ผู้บริหารสสส. ผู้บริหารจากสถาบันเอกชน อาทิ วิทยาลัยพยาบาล บรมราชชนนีราชบุรี มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยชินวัตร มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ โรงเรียนวัดนาวง รวมถึงชุมชน โดยรอบมหาวิทยาลัยรังสิต เข้าร่วม
          ก่อนเริ่มงาน นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ปาฐกถา เรื่อง
          "มหาวิทยาลัยรังสิต นวัตกรรมการเรียนรู้สู่สุขภาพ ที่ยั่งยืน" ตอนหนึ่งว่า จากความสำเร็จที่ผ่านมา เราตั้งเป้าหมายร่วมกันสนับสนุนวิชาการ และองค์ความรู้ พัฒนาสู่การเป็นสถาบันอุดมศึกษา เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ นอกจากนี้ จะติดตามและประเมินผล การดำเนินงาน เพื่อปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งจากการดำเนินโครงการ RSU Healthy Campus 2 ปีที่ผ่านมา มีความสัมฤทธิผลเป็นอย่างดี อาจารย์ บุคลากร นักศึกษา และประชาชนรอบมหาวิทยาลัย มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม บูรณาการสร้างเสริมสุขภาพกับภารกิจปกติ
          "มหาวิทยาลัยเห็นโอกาสเสริมความเข้มแข็ง
          ของระบบ และกลไกการสร้างเสริมสุขภาพของมหาวิทยาลัย สร้างเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาที่มีความพร้อม รวมตัวกันเป็นเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา เพื่อสร้างเสริมสุขภาพที่จะเกิดความยั่งยืนในการดำเนินงานต่อไป" อธิการบดี ม.รังสิต กล่าว
          ภายในงานมีนิทรรศการสร้างเสริมสุขภาพและการดูแลสิ่งแวดล้อม ภายใต้การดำเนินงานของนักศึกษาและชุมชน อาทิ บูธแสดงผลงานนวัตกรรมทางด้านเภสัช จากคณะ
          เภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต, บูธวิชาสังคมธรรมาธิปไตย จากนักศึกษามหาวิทยาลัยรังสิต, เรียนรู้เรื่องหลัก 6 โมเดล แสดงเกี่ยวกับการเตรียมพร้อมรับมืออุทกภัย, คลินิกฟ้าใส ให้คำแนะนำวิธีลด ละ เลิก บุหรี่หรือสิ่งเสพติด, ศูนย์การเรียนรู้เรื่องการรณรงค์สูบบุหรี่ จากวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีราชบุรี การจัดการขยะชุมชนจากเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.)
          นอกจากนี้ ยังมีเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการผ่านการเสวนา เรื่อง "มุมมองของผู้บริหารกับการสร้างเสริมสุขภาพในสถาบันอุดมศึกษา" โดย ดร.พรชัย มงคลวนิช นายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.) และทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
          ดร.พรชัย เผยถึงการตระหนักเรื่องสุขภาพว่า การเกิดโรคเจ็บไข้หรือป่วยนั้น แท้จริงแล้วสาเหตุเกิดจากไม่ยอมออกกำลังกาย ทำให้ไม่มีภูมิคุ้มกันที่มากพอ เมื่อเกิดโรคแทรกซ้อนขึ้น เราสามารถเลือกได้ว่า จะรักษาด้วยการกินยาไปเรื่อยๆ หรือจะเริ่มต้นด้วยการออกกำลังกาย ดังนั้น การมีสุขภาพดี ใช่ว่าจะเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของพฤติกรรม เกี่ยวเนื่องไปยังชุมชนที่อยู่รอบข้างด้วย
          "หลายมหาวิทยาลัยประสบปัญหาร้านเหล้า และอบายมุขรอบมหาวิทยาลัย ทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา ดังนั้น เราควรจะทำให้มหาวิทยาลัยและชุมชนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ให้ความสำคัญ กับคนที่อยู่ในชุมชนรอบข้าง มิใช่เฉพาะแต่บุคลากรภายในเพียง อย่างเดียว โดยสร้างความเชื่อว่า มหาวิทยาลัยไม่ใช่กำแพงกั้นระหว่างชุมชน และนำนักศึกษาลงพื้นที่ดูสภาพปัญหาจริง เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมร่วมกัน" ดร.พรชัยกล่าว
          ทพ.กฤษดากล่าวว่า จากการสำรวจเชิงความเข้าใจของเด็กร้อยละ 90 จะทราบถึงผลเสียของการดื่มสุรา สูบบุหรี่ และทราบว่า
          การกินอาหารอย่างไรที่ไม่เหมาะ ทำให้เกิดโรคอ้วนตามมา แต่จากผลสำรวจ เด็กก็ยังมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม หมายถึง การเกิดพฤติกรรมบุคคลถึงแม้จะมีความรู้ แต่ด้วยความเชื่อจากสิ่งแวดล้อม ที่ว่าด้วยการดื่มสุราถือเป็นการสังสรรค์ ทำให้ตัวเด็กยังมีพฤติกรรมแบบเดิม ซึ่งทำลายสุขภาวะ
          "สิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยหนึ่ง ที่กำหนดพฤติกรรมของเด็ก ซึ่งมหาวิทยาลัยเป็นตัวกลจักรสำคัญ ที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็ก ให้รู้เท่าทัน ควบคู่กับการเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมรอบข้าง เพื่อให้พฤติกรรมของเด็กอยู่ในเชิงบวกขึ้น เมื่อเอ่ยถึงเรื่องสุขภาพ ทุกคนมักจะติด กรอบเดิมๆ ว่าเป็นเรื่องการเต้นแอโรบิก หรือสอนให้กินอาหารตามหลักโภชนาการ แต่แท้จริงแล้ว เป็นเรื่องของการฉีกกรอบความคิดแบบเดิม และทำให้เกิดเป็นรูปธรรม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ความคิดระหว่างองค์กรมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ชุมชนบริเวณโดยรอบ และองค์กรภาครัฐ เพื่อให้เกิดสุขภาวะที่ยั่งยืน" ทพ.กฤษดากล่าวและว่า สสส.สนับสนุนให้สถานศึกษาทุกระดับ มุ่งสู่การเป็นสถานศึกษา เพื่อสร้างเสริมสุขภาพ เพราะเป็นองค์กรสำคัญปลูกฝังแนวคิด และพัฒนาทักษะชีวิต และสร้างเสริมสุขภาพเด็กและเยาวชนได้อย่างยั่งยืน
          "ในส่วนของสถาบันอุดมศึกษา สสส. สนับสนุนทั้งรูปแบบของกิจกรรมสร้างสรรค์ พัฒนาแกนนำ เครือข่ายนิสิต นักศึกษา การพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการป้องกันนักสูบ นักดื่มหน้าใหม่ พัฒนาทักษะชีวิตด้านเพศศึกษา และป้องกันเพศสัมพันธ์ไม่ปลอดภัยให้บรรลุเป้าหมาย" หมอกฤษดากล่าว นายก สสอท.กล่าวทิ้งท้ายว่า มหาวิทยาลัยและชุมชนเป็นกำลังสำคัญของประเทศ จึงควรเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน เมื่อใดก็ตามที่ผนึกกำลังกันสำเร็จ ความยั่งยืนของการสร้างเสริมสุขภาพในสถาบันจะแข็งแกร่งและจะฝังรากลึกต่อไป
 pageview  1205133    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved