Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ข่าวสด [ วันที่ 13/12/2556 ]
เตือนภัยโรคฤดูหนาว
    ปีนี้อุณหภูมิเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทันและเจ็บป่วยได้ง่ายกว่าปกติกรมควบคุมโรคได้ออกคำแนะนำเพื่อป้องกันโรคที่เกิดขึ้นบ่อยในฤดูหนาว ได้แก่ โรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม โรคหัด โรคหัดเยอรมัน โรคสุกใส โรคมือเท้าปาก และอุจจาระร่วงในเด็ก
          โรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ เป็นเชื้อไวรัสติดต่อได้จากทางเดินหายใจ เข้าสู่ร่างกายทางจมูก ปาก ตา เชื้อจะอยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย ของผู้ป่วยที่ไอจาม และยังอาจติดอยู่ที่สิ่งของต่างๆ ที่ถูกละอองและสารคัดหลั่งของผู้ป่วย
          อาการของไข้หวัดจะมีไข้ ปวดหัว น้ำมูกไหล ไอ จาม เจ็บหรือแสบคอ แต่ไข้หวัดใหญ่จะรุนแรงกว่า คือ ตัวร้อนจัด หนาวสั่น ปวดหรือเวียนหัวมาก ปวดเนื้อตัว คลื่นไส้
          หากพักผ่อนเพียงพอ รักษาอย่างถูกต้องก็หายภายใน 5-7 วัน แต่บางรายจะมีอาการแทรกซ้อน คือ ปอดบวม หลอดลมอักเสบ โดยกลุ่มเสี่ยงที่จะมีโรคแทรกซ้อน เช่น หญิงตั้งครรภ์ คนอ้วน ผู้มีโรคเรื้อรัง หอบหืด เบาหวาน เป็นต้น
          โรคปอดบวม เป็นโรคแทรกซ้อนของไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ การติดต่อเหมือนกันแต่มักเกิดในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ โดยเฉพาะเด็กเกิดน้ำหนักตัวน้อย เด็กขาดสารอาหาร พิการแต่กำเนิด เป็นต้น
          โรคหัด พบบ่อยในเด็กอายุ 1-6 ขวบ ติดต่อจากการไอจามรดกันโดยตรงคล้ายหวัด ข้อสังเกตคือมักเกิดช่วงปลายหนาวต่อกับฤดูร้อน มีไข้ น้ำมูกไหล ไอ ตาแดง จะรุนแรงขึ้นและมีผื่นประมาณวันที่สี่ ตั้งแต่เริ่มมีไข้ จะกระจายไปทั้งตัวและหายประมาณ 14 วัน แต่สามารถเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ปอดอักเสบ อุจจาระร่วง ช่องหูอักเสบ สมองอักเสบ
          โรคมือเท้าปาก เกิดจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในลำไส้ ติดต่อจากการสัมผัส และเกิดในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ขวบ มักเกิดในช่วงอากาศเย็นและชื้น โรคจะแพร่และติดต่อง่ายช่วงสัปดาห์แรกของการป่วย 3-5 วัน
          หลังจากรับเชื้อมีไข้ อ่อนเพลีย ต่อมาเจ็บปากและไม่ยอมทานอาหาร เนื่องจากมีตุ่มที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม มักเกิดตุ่มผื่นนูนสีแดงเล็กๆ ที่ฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้าและก้น จะกลายเป็นตุ่มพองใส ต่อมาจะแตกและเป็นแผลหลุมตื้นๆ หายภายใน 7-10 วัน
          การป้องกันจึงต้องฝึกให้เด็กล้างมือให้สะอาดโดยเฉพาะหลังจากใช้ห้องส้วม ก่อนรับประทานอาหาร และสถานที่ที่เด็กอยู่รวมกันเยอะควรรักษาความสะอาดของใช้ ของเล่นมากกว่าปกติ เป็นต้น
          อันตรายจากการดื่มเหล้าแก้หนาว มักพบผู้เสียชีวิตเพราะเหตุนี้เป็นประจำ เพราะมีความเชื่อผิดๆ ว่าจะทำให้อุ่นขึ้นได้ แต่ความจริงเป็นความเชื่อที่ผิดและอันตรายต่อร่างกายมาก เพราะฤทธิ์แอลกอฮอล์จะเพิ่มอุณหภูมิร่างกายแต่เกิดจากการขยายตัวของหลอดเลือดฝอยใต้ผิวหนัง รู้สึกร้อนวูบวาบ เพราะหลอดเลือดฝอยขยายตัวทำให้ความร้อนระบายออกได้ง่ายขึ้น แต่ทำให้อุณหภูมิในร่างกายต่ำกว่าปกติ
          การรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอด้วยการออกกำลังกาย พักผ่อนเพียงพอ และรับประทานอาหารให้ครบ  5 หมู่จึงเป็นสิ่งที่ควรทำให้เป็นนิสัยเพื่อทำ ให้สุขภาพแข็งแรงทุกฤดูกาล
 pageview  1205831    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved