Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ข่าวสด [ วันที่ 09/12/2556 ]
'เอดส์'ป้องกันได้วิจัยเร่งรักษาหายขาด
  "เอชไอวี เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันบกพร่องในคน ส่วนโรคเอดส์ หมายถึงกลุ่มอาการของภูมิคุ้มกันบกพร่องที่ไม่ได้เป็นแต่ กำเนิด ปัจจุบันนี้การติดเชื้อเอชไอวีและ โรคเอดส์ยังเป็นปัญหาสาธารณสุข ที่สำคัญของโลกและประเทศไทย" รศ.พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี อธิบายเบื้องต้น
          การติดต่อของโรคที่พบมากที่สุดในประเทศไทย คือ ทางเพศสัมพันธ์ทั้งที่เป็นเพศเดียวกันหรือต่างเพศ การใช้ เข็มฉีดยาร่วมกัน รวมถึงการสัก และจากมารดาสู่ทารก หลังจากได้รับเชื้อเอชไอวีในช่วงแรก ผู้ติดเชื้อครึ่งหนึ่งอาจมีอาการคล้ายไข้หวัด และจะเข้าสู่ระยะติดเชื้อที่ไม่มีอาการ แต่เนื่องจากเชื้อไวรัสมีการแบ่งตัวตลอดเวลาจึงทำให้เม็ดเลือดขาวซีดี 4 ซึ่งมีหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรคลดต่ำลงไปเรื่อยๆ
          จากนั้นจะเข้าสู่ระยะมีอาการ เช่น น้ำหนักลด ฝ้าขาวในปาก ท้องเสียเรื้อรัง หรือมีตุ่มคันขึ้นตามแขนขา และระยะสุดท้าย คือ เอดส์ ซึ่งเป็นระยะที่เม็ดเลือดขาวซีดี 4 ต่ำมากและหรือมีโรคติดเชื้อฉวยโอกาสแทรกซ้อน เช่น วัณโรคหรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อรา เป็นต้น ซึ่ง 2 ระยะหลังนี้ ทำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์และได้รับการวินิจฉัยว่ามีการติดเชื้อเอชไอวี
          หัวใจสำคัญที่สุดของการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี คือ การรักษาด้วยยาต้านเอชไอวี การใช้ยาอย่างน้อย 3 ชนิดรวมกันเป็นสูตรยาที่เหมาะสมและถูกต้อง ทำให้มีภูมิคุ้มกันดีขึ้นหรือจำนวนเม็ดเลือดขาวซีดี 4 สูงขึ้น มีอุบัติการณ์ของโรคติดเชื้อฉวยโอกาสลดลง อัตราตายลดลงและมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
          ปัจจุบันได้มีการพัฒนายาชนิดใหม่ๆ ที่กินง่าย มีผลข้างเคียงน้อย ราคาถูกลง รวมไปถึงมีการพัฒนารูปแบบยาให้เป็นแบบฉีดและออกฤทธิ์ได้นาน นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัย ที่จะพยายามทำให้โรคหายขาด ตอนนี้มีอยู่ 2 หลักการ คือ การรักษาเร็วตั้งแต่ที่มีการติดเชื้อใหม่ๆ และการปลูกถ่ายไขกระดูก
          ส่วนวิธีที่ยังมีประสิทธิภาพสูงที่สุดในการป้องกันการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ คือ การใช้ถุงยางอนามัย การให้ยาต้านเอชไอวีแก่มารดาที่ติดเชื้อและการให้ยาในเด็กทารกแรกเกิด เป็นต้น
          "การติดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์สามารถป้องกันได้ โดยการลดพฤติกรรมเสี่ยง และการป้องกันโดยวิธีต่างๆ ที่ขึ้นกับพฤติกรรมเสี่ยงนั้น ปัจจุบันยังมีการศึกษาวิจัยและพัฒนายาใหม่ๆ รวมไปถึงการวิจัยที่จะทำให้การรักษาเป็นแบบหายขาด"
 pageview  1205835    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved