Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ข่าวสด [ วันที่ 11/12/2556 ]
มหาวิทยาลัยสุขภาวะ พัฒนาคนมีปัญญา-ความสุข
  มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งสร้างบัณฑิตให้มีคุณภาพ เพื่อออกมาทำหน้าที่พัฒนาสังคมและประเทศชาติ คนที่มีคุณภาพสะท้อนจากการมีคุณภาพที่ดีและมีความสุข ตรงนี้เองสะท้อนถึง "องค์กรแห่งความสุข Happy Workeplace หรือ มหาวิทยาลัยแห่งความสุข" ซึ่งมหาวิทยาลัยแห่งความสุขก็นำไปสู่ "องค์กรสุขภาวะ Healhty Workplace" แต่การจะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งความสุข เพื่อนำไปสู่องค์กรสุขภาวะแห่งประเทศนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญ
          มหาวิทยาลัยแห่งความสุข ต้องเกิดจากบุคลากรทุกระดับมีส่วนร่วม และมีความคิดสร้างสรรค์ในการอยู่ร่วมกัน มีการทำงานอย่างเป็นทีม มีระบบแบบแผน ที่สำคัญ ต้องจัดการองค์ความรู้สู่ความสุขในการทำงานด้วย
          เหนือสิ่งอื่นใด ผู้บริหารและบุคลากร ทุกระดับ นิสิตนักศึกษาต้องร่วมกันรับรู้แนวทางการปฏิบัติ เพื่อถ่ายทอดจนกลายเป็นวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยแห่งความสุข
          มหาวิทยาลัยมหิดล จึงร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ 8 มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย ได้แก่ มหิดล ขอนแก่น เชียงใหม่ เทคโนโลยีสุรนารี ราชภัฏเทพสตรี วลัยลักษณ์ สงขลานครินทร์ และอุบลราชธานี ลงนามความร่วมมือ "แผนงานการบูรณาการมหาวิทยาลัยแห่งความสุขสู่องค์กรสุขภาวะแห่งประเทศไทย" สร้างเครือข่ายมหาวิทยาลัยแห่งความสุข เพื่อร่วมกันพัฒนาให้ "มหาวิทยาลัย" เป็นแหล่งพัฒนา "คน" ให้มีปัญญา และมีความสุข
          ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวินอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งพัฒนา ทางปัญญาและอารมณ์ที่สำคัญ เป็นแหล่งสร้างคนให้มีคุณภาพ เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศ คนที่มีคุณภาพสะท้อนจากการมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุข แผนงานนี้ นับเป็นความท้าทาย มีความสำคัญและจำเป็นเร่งด่วนที่จะช่วยสร้างเสริมคนทำงานให้มีความพร้อมในการแข่งขันกับการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อประเทศไทยจะเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ในสิ้นปี 2558 ที่จะ ถึงนี้
          "การสร้างคนให้ดี ต้องสร้างองค์กรให้ดีด้วย ให้การทำงานมีบรรยากาศที่มีความสุข ให้คนรอบข้างมีความสุขไปด้วย มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งผลิตคนพัฒนาคนต่อชุมชน เป็นกำลังสำคัญในการรับใช้สังคม บุคลากรทุกระดับจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อน การดำเนินการครั้งนี้ต้องทำควบคู่กันไปทั้งหมด เพราะมีความสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมคนทำงานให้มีความสุข เพื่อเตรียมความพร้อมในระดับภูมิภาคและระดับโลกต่อไป"
          อธิการบดี ม.มหิดล บอกด้วยว่า ขอบคุณ สสส.ที่ดำเนินการให้มีมหาวิทยาลัยแห่งความสุข มหิดลพร้อมเป็นแหล่งสร้างความสุขให้กับ 8 มหาวิทยาลัย เป็นเครื่องมือและการดำเนินการ มหาวิทยาลัยมหิดลจะเป็นแกนนำที่จะเริ่มในครั้งนี้ หากทำได้จะมีผลผลิตต่อองค์กรสู่สังคมไทย คนทำงานก็มีความสุข และคนรอบข้างก็จะมีความสุขด้วย
          การจะไปสู่องค์กรสุขภาวะ จำเป็นต้องใช้เครื่องมือสร้างและแผนงานสร้างความสุข
          ขณะที่ นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. บอกถึงแผนงานการบูรณาการมหาวิทยาลัยแห่งความสุขว่า พิธีลงนามบันทึกความร่วมมือฯ ครั้งนี้ ถือเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของทั้ง 8 มหาวิทยาลัย ในการร่วมมือกันสร้างสุขให้แก่บุคลากร และมุ่งสู่การเป็นองค์กรสุขภาวะแห่งประเทศไทย เริ่มตั้งแต่พ.ย. 2556 - พ.ย. 2558 มีเป้าหมายสำคัญในการสร้างความร่วมมือระดับผู้บริหารสูงสุดใน 8 ภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัยแห่งความสุข ดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้ และบูรณาการการบริหารจัดการความสุขแก่นักจัดการความสุข และสร้าง นักสร้างสุของค์กร ใน 8 ภาคีเครือข่าย โดย จะขยายผลไปยังมหาวิทยาลัยใกล้เคียง 8 มหาวิทยาลัย เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์สุดท้าย คือ เพิ่มองค์กรสุขภาวะ ในประเภทมหาวิทยาลัยทุกภาคทั่วประเทศในปี 2559
          "กรอบแนวคิดการทำให้มหาวิทยาลัยแห่งความสุขสู่องค์กร สุขภาวะ จะประกอบด้วยบุคลากรสนับสนุน คณาจารย์ สิ่งแวดล้อม การวัดความสุขเพื่อการพัฒนา การพัฒนาศักยภาพนักสร้างสุข ติดตามประเมินผลเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ให้มหาวิทยาลัยมีแนวคิดไปยังภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัยต่างๆ ปลูกฝังความคิดการสร้างสุขตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ"
          ผอ.ชาญวิทย์บอกอีกว่า สสส.ดำเนินการเรื่องนี้เพราะสังคมที่เปลี่ยนไป เริ่มจากใช้แฮปปินโนมิเตอร์ (Happinometer) หรือ เครื่องมือที่ใช้ในการฝึกอบรมการสร้างสุขให้แก่นักสร้างสุของค์กร สำรวจความสุขใน 8 ภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัยแห่งความสุข
          โดยเครื่องมือวัดความสุขด้วยตนเอง รวม  9 มิติ ดังนี้ 1.สุขภาพดี 2.ผ่อนคลายดี 3.น้ำใจดี 4.จิตวิญญาณดี 5.ครอบครัวดี 6.สังคมดี 7.ใฝ่รู้ดี 8.สุขภาพเงินดี 9.การงานดี
          "เครื่องมือนี้มีความสำคัญมาก เพราะเป็นการดูแลชีวิตของพนักงานในองค์กร หน่วยงานองค์กรต้องการหาคนที่เก่งและมีความสุขเพื่อจะได้ทำงานได้ดี ผมเชื่อว่าองค์กรทุกแห่งกำลังถูกท้าทายว่าไม่ใช่เงินเดือนเยอะ ไม่ใช่สวัสดิการดี แต่ต้องให้พนักงานรู้สึกว่ามี ความสุข ซึ่งต้องรับผิดชอบตัวเองได้ รู้ว่าตัวเองอย่างไร องค์กรต้องสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้เขา องค์กรบางแห่งสร้างฟิตเนสลงทุนเป็นล้านให้พนักงานมาเล่น แต่ไม่มีคนเล่น เพราะไม่เอื้อต่อการทำงาน หรือบางแห่งไม่ต้องให้เงินเดือนสูง แต่ทำให้พนักงานทุกคนมีความสุขได้"
          ผอ.สสส.บอกว่า แฮปปินโนมิเตอร์จะเป็นเครื่องมือให้เราบริหารคนในองค์กรได้ดีขึ้น และจะช่วยให้องค์กรมีความสุขได้จริงๆ และสุขภาวะในองค์กรก็จะเปลี่ยนไป กระบวนการทำงานก็จะไหลลื่นตามความต้องการจริงๆ ของคนในองค์กร สุดท้ายตนคิดว่า ศักยภาพในการแข่งขัน การพัฒนาประเทศ หรือการเป็นผู้นำในเชิงการสร้างเสริมสุขภาพ ผู้นำของการศึกษาของประเทศไทย จะเกิดขึ้นได้แน่นอน
          หากทำให้มหาวิทยาลัยเป็นต้นแบบขององค์กรแห่งความสุขและ มีคุณภาพที่ดีแล้ว เชื่อว่าจะเป็นโอกาสให้คนได้รับการพัฒนาสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี นำไปสู่ความสำเร็จในชีวิต
 pageview  1205831    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved