Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ข่าวสด [ วันที่ 13/11/2556 ]
สามพรานโมเดล เกษตรอินทรีย์ยุคไอที

 

 "กินดี อยู่ดี" เป็นเรื่องพื้นฐานชีวิตที่ทุกคนต่างต้องการ
          แนวทางเกษตรอินทรีย์ ถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่ปัจจุบันผู้คนหันกลับมาสนใจ เพราะเกษตรอินทรีย์เป็นวิถีเกษตรที่ลดการพึ่งพาสารเคมี ทำให้ลดการเกิดสารเคมีตกค้างในอาหาร ในสิ่งแวดล้อม และช่วยเกษตรกรให้ได้รับสารพิษลดลง
          ห่างจากกรุงเทพฯ ไม่ถึงชั่วโมง พื้นที่อำเภอสามพราน เป็นต้นแบบของการทำงานด้านเกษตรอินทรีย์ ได้รับความร่วมมือทั้งจากนักวิชาการ เกษตรกร หน่วยงานเอกชน และสนับสนุนการเชื่อมโยงเครือข่ายโดยสำนัก งานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
          "โครงการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของเครือข่ายเกษตรกรและผู้บริโภคด้วยการผลิตพืชระบบอินทรีย์" เป็นความร่วมมือระหว่างบริษัทสวนสามพราน จำกัด และตั้งศูนย์พัฒนาเกษตรกร เกษตรอินทรีย์สุขใจ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ระบบการผลิตพืชอินทรีย์แบบบูรณาการ
          ศูนย์พัฒนาเกษตรกร เกษตรอินทรีย์สุขใจ ปัจจุบันสามารถขยายองค์ความรู้และทำให้เกษตรกรที่สนใจเปลี่ยนจากการใช้สารเคมีเป็นระบบเกษตรอินทรีย์ ได้อบรมเกษตรอินทรีย์ไปแล้ว 9 รุ่น หรือประมาณ 500 ราย
          นพ.ปัญญา ไข่มุก ประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางแผนอาหารเพื่อสุขภาพ สสส. อธิบายว่า ศูนย์พัฒนาเกษตรกรเกษตรอินทรีย์ "สุขใจ" คอยเป็นพี่เลี้ยง ให้คำปรึกษา ติดตามแปลงผลิตของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการอย่างใกล้ชิด ทำให้เกษตรกรมีความมั่นใจและเชื่อมั่นในการผลิตพืชผักอินทรีย์
          ทางศูนย์เชื่อมโยงและพัฒนาช่องทางการตลาดต่างๆ อยู่ตลอดเวลา ทำให้ผลผลิตพืชผักอินทรีย์ของเครือข่ายเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ออกไปสู่การบริโภคของประชาชนทั้งระดับบุคคลและองค์กรชั้นนำ
          ตั้งแต่ต้นปี 2556-เดือนตุลาคม รวมระยะเวลา 10 เดือน มีเกษตรกรในพื้นที่ปรับเปลี่ยนการผลิตมาเป็นระบบเกษตรอินทรีย์ทันที 116 ราย และมี 128 ราย ที่ยื่นแบบฟอร์มขอมาตรฐาน Organic Thailand หรือการตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และ 10 ราย ได้ยื่นขอมาตรฐาน IFOAM หรือตรารับรองเกษตรอินทรีย์ ซึ่งผ่านการตรวจสอบแล้ว โดยในปีหน้าจะได้รับใบรับรองมาตรการการผลิตพร้อมจำหน่ายไปสู่ผู้บริโภค
          ส่วนเป้าหมายในปีหน้าจะเน้นพัฒนาศักยภาพกลุ่มเกษตรที่พร้อมปรับเปลี่ยนการผลิตมาเป็นระบบเกษตรอินทรีย์ ให้มีความรู้ในเชิงเทคโนโลยีการผลิตพืชผักอินทรีย์ขั้นสูง และการจัดการบริหารแปลงผลิตด้วยตนเอง โดยทำงานร่วมกับ กรมวิชาการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน ในอนาคต
          นายอรุษ นวราช กรรมการผู้จัดการ สามพราน ริเวอร์ไซด์ ในฐานะหัวหน้าโครงการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของเครือข่ายเกษตรกรและผู้บริโภคด้วยการผลิตพืชระบบอินทรีย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเปลี่ยนจากวิถีเกษตรแบบใช้สารเคมี เป็นอินทรีย์นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่สามารถใช้เงินลงทุนสร้างขึ้น แต่ที่สำคัญคือ "ใจ" ที่เกษตรกรทุกคนต้องตระหนักถึงความสำคัญในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเอง และสังคม กว่าปีที่เริ่มต้นดำเนินโครงการมาเรื่อยๆ มีการสร้างความเข้าใจ ส่งต่อความรู้ มาจนถึงนำเทคโนโลยีมาเชื่อมโยง เพื่อพัฒนาตลาดให้กว้างขึ้นด้วย
          จากการเริ่มต้นเล็กๆ ในพื้นที่ของสวนสามพราน มาถึงความร่วมมือกับ สสส. เพื่อขยายเครือข่ายให้เกษตรในจังหวัดนครปฐมร่วมกันเห็นความสำคัญ โดยเชื่อว่าเกษตรอินทรีย์ คือทางออก ท่ามกลางสถานการณ์ที่สารเคมีเป็นตัวการทำให้ต้นทุนสูง ทำลายสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ การหันกลับมาใช้ต้นทุนที่มีความรู้ดั้งเดิมที่พิสูจน์แล้วด้วยวิทยาศาสตร์ว่าได้ผลจริง เช่น การใช้น้ำหมักจากผัก ผลไม้ หรือการใช้ไส้เดือนมาทำปุ๋ย ซึ่งได้รับการพิสูจน์จากมหาวิทยาลัยว่ามีคุณสมบัติทดแทนสารเคมีนั้น จะเป็นทางออกได้ ซึ่งล้วนเป็นภูมิปัญญาที่มีมาแต่ดั้งเดิมทั้งสิ้น
          "สิ่งสำคัญในการทำเกษตรอินทรีย์จึงไม่ใช่แค่การลงทุนด้วยเงิน แต่เป็นการลงทุนด้วยความตั้งใจ อาศัยความอดทน เพราะแต่ละขั้นตอนไม่ง่ายเหมือนการใช้สารเคมีที่ฉีดลงไปแล้วฆ่าแมลง เพลี้ยออกจากแปลงได้ทันที แต่การใช้น้ำหมักจะเป็นการไล่ไม่ให้แมลงรบกวนและรักษาสมดุลของระบบนิเวศไว้ ขณะที่ต้องแลกมาด้วยผลผลิตที่ออกมาไม่ได้หน้าสวย ถูกใจคนซื้อเหมือนการใช้สารเคมี แต่ก็ไม่ต้องเอาสุขภาพตัวเองและคนกินไปเสี่ยง จึงเป็นเรื่องใหญ่ที่จะทำให้เกษตรอินทรีย์เกิดได้จริง" นายอรุษกล่าว
          เมื่อสร้างกลุ่มเกษตรอินทรีย์ได้แล้ว ขั้นต่อมา คือ การเปิดตลาด จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานเอกชนที่เข้ามาทำงานร่วมกันนายพีระพงษ์ กลิ่นละออ ผอ.มูลนิธิสำนึกรักบ้านเกิด บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ซึ่งเข้ามาช่วยเหลือในส่วนการนำผลผลิตถึงผู้บริโภคด้วยเทคโนโลยี และการขยายความรู้สู่เกษตรกรที่ให้ความสนใจ อธิบายว่า ในฐานะพันธมิตรของสสส. จึงร่วมกับสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน และศูนย์พัฒนาเกษตรกรเกษตรอินทรีย์สุขใจ นำความก้าวหน้าในยุคดิจิตอลมาผสมผสานภายใต้วิสัยทัศน์ Internet for All ให้ภาคเกษตรไทยเป็นเกษตรแบบก้าวหน้า
          ช่องทางการทำงานด้วยเทคโนโลยี จะช่วยให้กระจายความรู้สู่เครือข่ายเกษตรกรทั่วประเทศได้ตลอดหรือแบบเรียลไทม์ผ่านระบบโทรศัพท์มือถือด้วยบริการ SMS *1677 ซึ่งเกษตรกรจะติดตามความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าเกษตรได้แบบวันต่อวัน ช่วยเพิ่มโอกาสให้เกษตรกรตรวจสอบและเปรียบเทียบราคาสินค้าได้ทุกวันจากแหล่งรับซื้อทั่วประเทศ ก่อนนำไปขายเพื่อให้ได้ราคาดี
          ในอนาคตยังมีการวางแผนพัฒนาเป็นแอพพลิเคชั่นลงบนสมาร์ตโฟน เพื่อนำข้อมูลทุกด้านมารวมไว้ให้เกษตรกร และผู้บริโภคเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลการปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ ราคา การซื้อ การขาย โดยเกษตรกรเก็บประวัติการปลูกการขายเพื่อทำเป็นบัญชีไว้เพื่อการลงทุนในอนาคตได้
          แม้ว่าจะหันมาทำเกษตรแบบดั้งเดิม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะก้าวถอยหลัง เพราะปัจจุบันเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์เข้ามามีส่วนสำคัญในโลกยุคใหม่ การทำเกษตรอินทรีย์ในยุคนี้จึงเต็มไปด้วยฐานความรู้ ว่าจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้ดีต่อสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กับผลผลิตที่มีคุณภาพ รวมทั้งเชื่อมโยงไปถึงการเปิดช่องทางทางการตลาด เพิ่มมูลค่าสินค้าให้เกษตรกรมีชีวิตที่ดีได้จริง
          ถือเป็นโฉมใหม่ของเกษตรกรยุคต่อไป
 pageview  1205345    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved