Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ข่าวสด [ วันที่ 26/08/2556 ]
ชี้ปล่อยเด็กอยู่กับทวีพัฒนาภาษาช้าแนะวิธีสังเกต-ผุดคู่มือครู

 พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีความเป็นห่วงปัญหาเด็กไทย โดยเฉพาะเด็กชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่ยังอ่านไม่ออก เขียนไม่คล่องว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดจากการที่เด็กมีพัฒนาการที่ล่าช้า แต่ไม่ได้รับการใส่ใจหรือแก้ปัญหาตั้งแต่ช่วงขวบปีแรกๆ ซึ่งกรณีอ่านเขียนไม่คล่องนั้นเกิดจากการพัฒนาการล่าช้าด้านการเข้าใจภาษา ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการที่ไม่มีใครสื่อสารกับลูกตั้งแต่เด็ก เช่น พ่อแม่ต้องทำงานก็ปล่อยให้ลูกอยู่กับทีวี ไม่ได้มีการพูดคุยกับลูก ทำให้เด็กมีปัญหาการพัฒนาการด้านภาษา พ่อแม่จะต้องหมั่นพูดคุยกับลูกบ่อยๆ เช่น เล่านิทานให้ลูกฟัง เป็นต้น
          "เด็กที่มีพัฒนาการด้านภาษาล่าช้า ทำให้บางครั้งจะไม่สามารถอ่านเขียนแบบเรียงบรรทัดได้ พ่อแม่ต้องสังเกตและช่วยเหลือ หากอยากทราบว่าเด็กมีปัญหาพัฒนาการด้านภาษาหรือไม่ สังเกตได้ตั้งแต่เล็ก จากสมุดการบ้าน หากเละ เขียนผิดๆ ตกหล่น ให้รีบแก้ไข แต่ส่วนใหญ่เมื่อเด็กอ่านเขียนไม่คล่อง ครูมักจะคิดว่าเด็กไม่ตั้งใจเรียน ก็จะบังคับให้อ่านหนังสือ บังคับให้เขียนจนกว่าจะได้เหมือนเพื่อนๆ ซึ่งการสอนแบบนี้จะไม่สามารถช่วยให้เด็กกลับมามีพัฒนาการที่เป็นปกติได้" รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
          พญ.พรรณพิมลกล่าวว่า การฝึกพัฒนาการด้านภาษาล่าช้าสำหรับเด็กประถมหรือมัธยม ต้องฝึกให้อ่านแบบภาพแทน ถ้าให้ฝึกจากการสะกดตัวอักษรจะทำให้เด็กงง ซึ่งปัจจุบันร.ร.หลายแห่งจะมีการเปิดสอนสำหรับเด็กที่มีปัญหาดังกล่าวแล้ว โดยจะเปิดห้องเรียนพิเศษเหมือนเรียนซ่อมเสริม แต่จะให้เด็กได้มาเรียนรู้ภาษาในลักษณะของสื่อการเรียนการสอนที่คล้ายกับการเล่นเกม โดยในปี 2557 กรมสุขภาพจิต จะร่วมกับ ศธ. ให้เด็ก ป.1 มีกระบวนการประเมินเพื่อหาเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการล่าช้า โดยจะทำคู่มือสำหรับครูโดยเฉพาะ การทดสอบจะทำให้ทราบปัญหาและหาทางกระตุ้นพัฒนาการให้เด็กกลับมาเป็นปกติได้

 pageview  1205575    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved