Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 06/06/2561 ]
ชวนคนไทย7กลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฟรี

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า โรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคพบบ่อยในทุกกลุ่มอายุ ตั้งแต่กลุ่มเด็กเล็กจนถึงผู้สูงอายุ เป็นโรคที่เกิดได้ตลอดปี แต่ระบาดมากในฤดูฝน อาการป่วยส่งผลต่อสุขภาพและต้องหยุดพักรักษาตัว ในกลุ่มเสี่ยงมีภูมิต้านทานน้อยอาจมีอาการแทรกซ้อน บางรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
          จากรายงานเฝ้าระวังโรคโดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคปี 2560 พบผู้ป่วย 196,765 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 300.74 ต่อแสนประชากร เสียชีวิต 55 ราย สูงกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง ทั้งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และในปีนี้ตั้งแต่ 1 มกราคม-31 มีนาคม 2561 พบผู้ป่วยจำนวน 29,324 ราย เสียชีวิต 1 ราย ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ A (H1N1), A (H3N2) และสายพันธุ์ B ในปี 2561
          เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและลดความรุนแรงของโรคไข้หวัดใหญ่ สปสช.จัดเตรียมวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฤดูกาลใหม่ 3.5 ล้านโดส ร่วมกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยบริการ เพื่อฉีดให้กับประชาชนทุกสิทธิที่เป็นกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่ม ตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติกำหนด โดยเป็นวัคซีนผลิตจากเชื้อตาย 3 สายพันธุ์ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก พบการระบาดมากในประเทศไทยและทั่วโลก ประกอบด้วยไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด A (H1N1) เป็นสายพันธุ์เดิมมิชิแกน, ชนิด A (H3N2) เป็นสายพันธุ์ใหม่สิงคโปร์แทนฮ่องกง ใกล้เคียงกับสายพันธุ์ที่ระบาดในไทยถึงร้อยละ 87.50 และไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด B สายพันธุ์ใหม่ ยามากะตะ/ภูเก็ต แทนวิคตอเรีย/บริสเบน เป็นสายพันธุ์ที่พบร้อยละ 95.14 ในกลุ่มผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B ในไทย (ข้อมูลจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ณ 30 เมษายน 2561)
          ทั้งนี้ ประชาชนทั้ง 7 กลุ่มเสี่ยงสามารถเข้ารับวัคซีนได้ที่หน่วยบริการรัฐและเอกชนภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2561 เป็นต้นไปถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2561 หรือจนกว่าวัคซีนจะหมด "วัคซีนที่เตรียมฉีดให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงฤดูกาลใหม่นี้ เป็นวัคซีนเชื้อตายที่ได้ผลดี ไม่มีปัญหากลายพันธุ์และมีความปลอดภัย ใช้ในประเทศไทยมากว่า 10 ปีแล้ว ทั้งคุ้มค่ากว่าวัคซีน 4 สายพันธุ์ที่เพิ่งมีการให้บริการฉีดในภาคเอกชน โดยเพิ่มสายพันธุ์ชนิด B/วิคตอเรีย ซึ่งองค์การอนามัยโลกระบุว่าพบน้อยที่สุด มีความชุกเพียงร้อยละ 5 ดังนั้นในด้านประสิทธิภาพความครอบคลุมระหว่างวัคซีน 3 สายพันธุ์และ 4 สายพันธุ์ ทางการแพทย์ถือว่ามีความใกล้เคียง ไม่จำเป็นต้องใช้วัคซีน 4 สายพันธุ์ที่มีราคาสูงกว่า 2-3 เท่า" เลขาธิการ สปสช.กล่าว
          นพ.ศักดิ์ชัยกล่าวว่า อย่างไรก็ตามการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ วัคซีนมีผลช่วยป้องกันได้ร้อยละ 60-70 ดังนั้นการดูแลตนเองด้วยการหลีกเลี่ยงหรือป้องกันตนเองจากการสัมผัสผู้ที่ป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่ การทำร่างกายให้แข็งแรง กินอาหารที่เอื้อต่อสุขภาพและล้างมือให้สะอาด ยังเป็นมาตรการที่จำเป็นสำหรับกลุ่มเสี่ยงและประชาชนทั่วไป
          ทั้งนี้ ประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงในการรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ คือ 1) หญิงมีครรภ์อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 2) เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี 3) ผู้มีโรคเรื้อรังประจำตัว ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หัวใจ หืด ไตวาย หลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน 4) ผู้สูงอายุที่อายุ 65 ปีขึ้นไป 5) ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 6) โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ 7) โรคอ้วน หรือผู้ที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 100 กิโลกรัม หรือดัชนีมวลกายตั้งแต่ 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร.

 pageview  1205134    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved