Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 30/05/2561 ]
สธ.แนะถวายอาหาร พระสงฆ์ คำนึงสุขภาพรับอานิสงส์แท้จริง

  เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากข้อมูลปัจจุบันพบว่าพระสงฆ์มีปัญหาสุขภาพเพิ่มขึ้น กระทรวงจึงได้กำหนดกิจกรรม 1 วัด 1 รพ. เพื่อลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง วิธีการคือ ให้ รพ.ทุกแห่งสำรวจและกำหนดวัดในพื้นที่ขึ้นมาเพื่อติดตามดูแลสุขภาพพระสงฆ์ ให้มีการฝึกอบรมสร้างอาสาสมัครสาธารณสุขประจำวัด อาจจะเป็นประชาชนทั่วไป พระสงฆ์ หรือเณรก็ได้ ทั้งนี้เพื่อให้มีความรู้เรื่องการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคและการรักษา โดยจะดีเดย์วันวิสาขบูชานี้ เริ่มต้นจำนวน 1,000 วัด ก่อนขยายให้ครอบคลุมการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ 3.5 แสนรูปทั่วประเทศ
          นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากการสำรวจสุขภาพพระสงฆ์พบว่าปี 2549 มีพระสงฆ์สุขภาพดีร้อยละ 60 แต่ปี 2559 มีพระสงฆ์สุขภาพดีเพียงร้อยละ 52 พระสงฆ์ ที่มีความเสี่ยงทางสุขภาพปี 2549 ร้อยละ 22 ส่วนปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 19 ในขณะที่จำนวนพระสงฆ์อาพาธเมื่อปี 2549 อยู่ที่ร้อยละ 17 แต่ในปี 2559 เพิ่มเป็นร้อยละ 28 เท่ากับมีพระสงฆ์อาพาธเพิ่มถึงร้อยละ 11 ส่วนใหญ่เป็นโรคเกี่ยวกับพฤติกรรมคือ ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคไต และข้อเข่าเสื่อม
          พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปัญหาสุขภาพของพระสงฆ์ในประเทศไทย พบว่าครึ่งหนึ่งมีภาวะอ้วนลงพุง จากการบริโภคอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ เนื่องจากไม่สามารถเลือกฉันอาหารเองได้ ประกอบกับขาดกิจกรรมบริหารกาย เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค ขอให้ทำบุญตักบาตรด้วย "ภัตตาหารชูสุขภาพ" ควรประกอบด้วยอาหาร 5 หมู่ เลือกข้าวกล้องสลับข้าวขาว เลือกเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมันสลับเนื้อปลา ผักต่างๆ ผลไม้รสไม่หวาน ประกอบอาหารด้วยวิธีต้ม นึ่ง ย่าง ยำ อบ ลดหวาน มัน เค็ม หรือทำเป็นน้ำพริกรสไม่จัด มีผักลวกเคียง ไม่ลืมถวายน้ำเปล่า และนม
          นายชาญยุทธ พรหมประพัฒน์ ผู้อำนวยการกองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า แนะให้ประชาชนใช้หลักสุขบัญญัติในการปฏิบัติในช่วงวันวิสาขบูชาเพื่อให้ได้รับอานิสงส์อย่างแท้จริงจากการทำบุญและการปฏิบัติดี อาทิ ทำบุญให้จิตผ่องใสด้วยการใส่ใจ ถวายอาหารที่ดีต่อสุขภาพพระสงฆ์ เมนูอาหารสุขภาพ ครบ 5 หมู่ โดยหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง รสเค็มจัด หวานจัด เพิ่มผักและผลไม้ เน้นวัตถุดิบในการทำอาหารที่มีไขมันต่ำ เช่น ปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน โดยปรุงด้วยวิธีการต้ม ปิ้ง ย่าง ยำ หรืออบ ส่วนผลไม้ควรเลือกที่รสไม่หวาน เช่น ฝรั่ง ส้ม แตงโม มะละกอ หากเป็นอาหารสำเร็จรูปต้องเลือกซื้อจากร้านจำหน่ายอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ปรุงสุกใหม่ และปรุงจากวัตถุดิบที่สะอาด ปลอดภัยจากสารพิษ

 pageview  1204962    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved