Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 08/05/2561 ]
อย.-สหวิชาชีพทางการแพทย์-กสทช.คุมเข้มรีวิวผลิตภัณฑ์สุขภาพเกินจริง ล้อมคอก มหากาพย์ขายฝัน

 อย.ปลอมเกลื่อนตลาด
          เรื่องเหลือเชื่อที่ต้องเชื่อทั้งเป็นประเด็นร้อนที่สังคมจับตามอง สำหรับการปลอมเลขสารบบสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 2 ยี่ห้อ
          เริ่มจากเมื่อช่วงวันที่ 16 มี.ค.2561 มีการร้องเรียนจากผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อหนึ่งทั้งในระดับน้อยไปจนถึงมาก เช่น นอนไม่หลับ ใจสั่น หน้าพัง ถึงขั้นต้องทำการรักษา จึงมีการบุกทลายแหล่งผลิต โดยความร่วมมือของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และ อย. ผลที่ตามมาคือทำให้ทราบว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีการใช้เลขสารบบ อย.ปลอม จนนำมาสู่ปฏิบัติการกวาดล้างอย่างเข้มข้นและขยายผลไปสู่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอีกยี่ห้อที่อวดอ้างสรรพคุณสามารถลดน้ำหนัก จนทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อและกลายเป็นเรื่องน่าเศร้า เพราะมีเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายถึงขั้นต้องสังเวยชีวิตถึง 4 รายกันเลยทีเดียว
          มหากาพย์การขายความฝันสร้างความหวังให้กับหนุ่มสาวที่อยากสวยหล่อหุ่นดีในครั้งนี้ ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อและมีอิทธิพลต่อการโน้มน้าวจิตใจ ที่ไม่สามารถมองข้ามได้ นั่นก็คือผู้มีชื่อเสียงทั้ง ดารา นักแสดง เน็ตไอดอล ตลอดจนผู้ที่มีความน่าเชื่อถืออย่างบุคลากรทางการแพทย์ที่มาร่วมวงทำการโฆษณา ซึ่งเปรียบเสมือนการการันตีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจนทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อ ความสูญเสียที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตของผู้บริโภคนั้นส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง
          ขณะที่กลุ่ม ดารา นักแสดง เน็ตไอดอล หลายคนออกมาขอโทษต่อสังคมในความผิดพลาด พร้อมระบุที่กล้ารีวิวเพราะเห็นว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีตราสัญลักษณ์ของอย.ที่ถือเป็นการช่วยการันตีความปลอดภัยเบื้องต้นให้กับผู้บริโภค
          ร้อนถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องออกมาร่วมกันแสดงความรับผิดชอบและสร้างมาตรการต่างๆเพื่อปกป้องคุ้มครองผู้บริโภค เริ่มตั้งแต่ผู้คุมบังเหียนบุคลากรทางการแพทย์ อย่าง กระทรวงสาธารณสุข ที่มีการหยิบยกกฎระเบียบข้าราชการพลเรือน ว่าการใช้ตำแหน่งหน้าที่โฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอาจผิดวินัยข้าราชการพลเรือน เช่นเดียวกับแพทยสภา สภาวิชาชีพทางการแพทย์ทั้งทันตแพทยสภา สภาการพยาบาล สภาเภสัชกรรม ที่มีการออกประกาศเตือนว่าการรีวิวสินค้าสุขภาพ ต้องไม่เกี่ยวโยงกับการประกอบวิชาชีพ หากทำจะเข้าข่ายผิดจรรยาบรรณมีโทษ 4 ระดับ คือ ว่ากล่าวตักเตือน ภาคทัณฑ์ พักใช้และเพิกถอนใบประกอบวิชาชีพ
          ขณะที่ อย.เองก็มีการแก้กฎกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) รวมทั้งจับมือกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ในการคุมเข้มเรื่องการโฆษณาและรีวิวผลิตภัณฑ์สุขภาพเกินจริง
          "อย.ไม่เคยนิ่งนอนใจ มีมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะกรณีมีดาราคนดังออกมารีวิวผลิตภัณฑ์เมจิกสกิน ผู้ที่รีวิวสินค้าจะถือว่าเข้าข่ายโฆษณาชวนเชื่อทันที ต่อไปหากผู้รับรีวิวไม่มั่นใจ ก็ต้องมีการสอบถามมาที่ อย.เลย เพราะจะอ้างไม่รู้ไม่ได้ และกฎหมายก็ไม่ละเว้นแน่นอนเช่นเดียวกับการขึ้นทะเบียนผ่านออนไลน์ หรือที่เรียกว่า e-Submission จะมีการปรับปรุง โดยเพิ่มมาตรการให้เข้มงวดขึ้นในส่วนของเครื่องสำอาง จากนี้ไปจะมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารอย่างละเอียดก่อนขึ้นทะเบียนและมีการโทร.ไปสอบถามโรงงานที่ผลิตด้วย" นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวถึง มาตรการคุมเข้มของ อย.ต่อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเลขาธิการ อย.ขยายภาพมาตรการคุมเข้มและการสร้างความน่าเชื่อถือในตรา อย.ด้วยว่าสินค้าเครื่องสำอางถือเป็นผลิตภัณฑ์ความเสี่ยงต่ำ เพราะใช้ภายนอก ในอดีตไม่ต้องตรวจสถานที่ผลิตแต่จากนี้จะออกประกาศเป็นกฎกระทรวงภายใต้ พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2558 ในเดือน มิ.ย.2561 และจะให้เวลาสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.)ทั่วประเทศ 3 เดือนในการตรวจโรงงานผลิตที่มีประมาณ 1-2 หมื่นแห่งให้ได้มาตรฐาน ทั้งหมดและหลังจากผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางได้รับขึ้นทะเบียนอย.ก็จะมีการตรวจหลังจากนั้นอีก รวมทั้งการขออนุญาตผลิตภัณฑ์แต่ละตัวจะมีอายุ 5 ปี หลังจากครบต้องมาขอใหม่ซึ่งตรงนี้จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ได้ทั้งยังจะสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังทั้งภาคประชาชนสื่อมวลชนซึ่งหากพบการกระทำผิดแจ้งมาได้หลายช่องทางทั้งสายด่วนอย.1556, เว็บไซต์อย.Oyor.com, แอปพลิเคชันอย. Oryor Smart Application, ส่งอีเมลมาที่ 1556@da.moph.go.th  รวมถึงช่องทางไลน์แอปพลิเคชัน FDAthai หรือมาที่ อย.ได้ด้วยตนเอง และ สสจ.ทั่วประเทศ
          นพ.วันชัย ยังกล่าวอีกว่า ขอรับรองว่าแบรนด์ อย.เชื่อได้แน่นอน เนื่องจากได้รับความเชื่อถือมานาน ประเทศรอบข้างยังเชื่อถือแต่ระยะหลังเศรษฐกิจขยายตัวและมีผู้ประกอบการที่ไม่สุจริตอาศัยตราอย.ไปหลอกลวง ก็ต้องช่วยกันและ อย.ได้ประสานกับ กสทช.ปราบปรามการโฆษณาเกินจริงผ่านสื่อออนไลน์ วิทยุ ทีวี ซึ่งทาง กสทช.จะอำนวยความสะดวกให้ อย.เข้าไปตรวจสอบทุกชิ้น หากไม่เหมาะสมจะระงับทันที
          ทีมข่าวสาธารณสุข เห็นด้วยกับการแก้ประกาศ สธ.ในการคุมเข้มการผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ตลอดจนเครื่องสำอางต่างๆโดยเฉพาะการประกาศให้ดาราและคนดัง หากไม่มั่นใจต้องสอบถามมาทาง อย.ก่อนจะรับรีวิวสินค้า รวมถึงปรับปรุงการขึ้นทะเบียนผ่านออนไลน์ ที่จะเพิ่มมาตรการให้เข้มงวดขึ้นตลอดจนการจับมือกับ กสทช.เพื่อระงับโฆษณาที่เกินจริง
          ถึงเวลาแล้วที่ อย.รวมถึงทุกหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งเครื่องผนึกพลังเอาจริงเอาจังทั้งการตรวจสอบและปราบปรามผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและเครื่องสำอางเถื่อนให้หมดไปเสียที
          เพื่อกอบกู้ศรัทธา และความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของผู้บริโภค.

 pageview  1204949    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved