Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 03/05/2561 ]
อย.เปิดกฎเหล็กคุม สินค้าสุขภาพ ปกป้องชีวิตคนไทย

 อย.เปิดกฎเหล็กคุม 'สินค้าสุขภาพ'ปกป้องชีวิตคนไทย
          ช่วงเวลาที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เจอศึกหนักไม่ใช่น้อย ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจจับผลิตภัณฑ์สุขภาพของ บจก.เมจิก สกิน มีดาราคนดังมารีวิวผลิตภัณฑ์จำนวนมาก จนเป็นข่าวโด่งดัง จนเกิดคำถามจากกลุ่มคนรีวิว ประชาชนต่างสงสัยร่วมกันว่า ในเมื่อบนผลิตภัณฑ์ มีตรา "อย." แต่ยังเป็นปัญหา เพราะมีการปลอม สวมทะเบียนมากมาย
          ไม่เพียงแค่ "เมจิก สกิน" เท่านั้น แต่ยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่อ้าง อย.แบบปลอมๆ
          แต่จะมีใครรู้บ้างหรือไม่ว่า ในเรื่องการตรวจจับนั้น อย.เข้าไปเกี่ยวข้องตั้งแต่ต้น ภก.สมชาย ปรีชาทวีกิจ รองเลขาธิการ อย. เปิดเผยว่า การตรวจจับผลิตภัณฑ์เมจิก สกิน ที่ผ่านมา เป็นผลสืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ อย.ตรวจพบความผิดปกติจากการโฆษณาผลิตภัณฑ์ในเครือ บจก.เมจิก สกิน ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม 2561 จนนำไปสู่การตรวจสอบและส่งเรื่องให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการขยายผลออกไปอีก
          นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการ อย. กล่าวว่า อยากให้เชื่อมั่น อย. เพราะเรามีการตรวจสอบตลอด แต่การปลอมเลข อย. หรือการกระทำที่ไม่สุจริตเป็นเรื่องยากจะควบคุม ต้องเกิดความร่วมมือเครือข่ายทั้งระดับภูมิภาค โดยอาศัยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดและภาคประชาชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รวมทั้งสื่อมวลชน และเพจดังต่างๆ ที่ช่วยกันสอดส่องเพราะ อย.เพียงหน่วยงานเดียวจะไปตรวจสอบทั้งหมดคงทำได้ไม่ครอบคลุม อย่างเรื่องผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางมีบุคลากรส่วนกลางที่สุ่มตรวจเพียง 10 คน ส่วนผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมี 60 คน ก็จะเยอะหน่อย แต่ก็ยังไม่พออีก จึงต้องสร้างเครือข่ายต่างๆ ทั้งภาคประชาชน สื่อมวลชน หรือเพจบนเฟซบุ๊กต่างๆ ก็สามารถร่วมเป็นหูเป็นตาในการตรวจสอบ และสอดส่องให้กับทาง อย.
          "สามารถแจ้งมาได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือเว็บไซต์ อย. Oyor.com หรือแอพพลิเคชั่น อย. Oryor Smart Application หรือสะดวกส่งอีเมล์มาที่ 1556@fda.moph.go.th รวมถึงช่องทางไลน์ FDAthai และเดินทางมาที่สำนักงานด้วยตนเอง และที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ใครแจ้งเบาะแส เรายังมีรางวัลให้โดยคิดเป็น 80 เปอร์เซ็นต์ของเงินสั่งปรับให้ทั้งผู้แจ้งและเจ้าหน้าที่ โดย 1 ใน 4 ของ 80 เปอร์เซ็นต์เป็นของผู้แจ้ง" นพ.วันชัยกล่าว และว่า นอกจากนี้ยังร่วมกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เกี่ยวกับการโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ ช่องทางทั้งหลาย วิทยุ ทีวี ทาง กสทช.จะอำนวยความสะดวกให้ อย.เข้าไปตรวจสอบทุกชิ้น หากไม่เหมาะสมจะระงับทันที
          นพ.วันชัยกล่าวต่อว่า สำหรับดารานักแสดงที่จะออกมารีวิวผลิตภัณฑ์ ขอให้ศึกษารายละเอียดสินค้าให้ดีกว่านี้ เพราะการที่บอกว่า เห็นมี อย.อย่างเดียวคงไม่ได้ ต้องดูบริบทภาพรวมด้วยว่าสินค้าแบบนี้มีการอวดอ้างเกินจริงหรือไม่ หากไม่มั่นใจก็ให้มาถาม อย. มีหลายช่องทาง หากพบว่าเข้าข่ายผิดจริง มีการโฆษณาชวนเชื่อ ก็ออกมาลักษณะชัดเจนว่าโฆษณาจริงก็ถือว่าผิด ทาง อย.ได้รวบรวมข้อมูลเสนอให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเอาผิดให้ถึงที่สุด อย่างการโฆษณาเกินจริงก็จะมีโทษปรับตั้งแต่ 5 พันบาทไปจนถึงแสนบาท และจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนไปจนถึง 3 ปี แต่กรณีนี้ต้องให้โทษสูงสุด
          "ส่วนเรื่องระบบส่วนกลางมีการปรับปรุงเพิ่มเติมคือ กรณีเครื่องสำอาง เนื่องจากมีการจดแจ้งจำนวนมากยอดสะสมกว่า 7 แสนรายการ จึงให้เจ้าหน้าที่ อย.ตรวจเอกสารอย่างละเอียดและตรวจโรงงานผลิตด้วย จะออกเป็นกฎกระทรวงในเดือนมิถุนายนนี้ ส่วนกรณีการปลอมตรา อย.  ในอนาคตสภาอุตสาหกรรมจะเข้ามาช่วยหาทางออก ทำให้ อย.ปลอมยากขึ้น รวมทั้งเป็นไปได้หรือไม่ที่หากผู้ผลิตรายใดทำผิดซ้ำ จะห้ามการขอขึ้นทะเบียน อย.อีก" นพ.วันชัยกล่าวสรุป
          ด้านว่าที่ ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์ รองประธานหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนา เศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลาง กล่าวว่า ส่วนตัวมีความเห็นว่า ที่ผ่านมา อย.ได้ปรับหลักเกณฑ์และแนวทางในการอนุญาตกฎเกณฑ์และระเบียบในการขออนุญาต อย. เพื่อให้ความช่วยเหลือกับกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และกลุ่มสินค้าในท้องถิ่นและสินค้าโอท็อป สามารถได้รับการอนุญาต อย.ที่ง่ายขึ้น เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของธุรกิจเหล่านี้ ทำให้สามารถขอ อย.ออนไลน์ได้ อย่างไรก็ตาม กรณีนี้อาจจะเป็นดาบ สองคม เพราะคนไม่ดีที่เห็นช่องว่างจุดนี้ก็มีการหาประโยชน์โดยการมายื่นขออนุญาต อย. เพื่อนำไปใช้กับสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีคุณภาพแต่มีการโฆษณาชวนเชื่อ ดังนั้น หลังจากที่ให้ใบอนุญาตไปแล้วต้องมีการสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์เป็นระยะ หรือลงพื้นที่ไปตรวจสอบสถานประกอบการด้วย ซึ่ง อย.จะต้องมีการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรที่จะลงพื้นที่ด้วย
          "กรณีนี้ยังไม่สายที่จะป้องกัน เป็นเรื่องที่มีผลเกี่ยวข้องกับประชาชน ที่ผ่านมา อย.ตึงไปก็ไม่ดี หย่อนไปก็ไม่ดี อาจจะต้องขยับเกณฑ์การตรวจสอบต่างๆ เพิ่มขึ้นมาอีกนิด แต่ก็ไม่ให้ตึงจนเกินไปจนกลุ่มผู้ผลิตที่ดีอยู่แล้วได้รับผลกระทบจากการป้องคนคนไม่ดีที่มีส่วนน้อย และต้องมีการติดตามรายละเอียดให้รอบคอบถี่ถ้วนมากขึ้น" ว่าที่ ร.อ.จิตร์กล่าว
          ว่าที่ ร.อ.จิตร์กล่าวอีกว่า ภาครัฐควรมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังมากขึ้น ไม่ให้คนที่กระทำความผิดกลับมากระทำซ้ำ ขณะนี้ในกฎหมายฉบับต่างๆ มีการระบุโทษจากการกระทำความผิดไว้อยู่แล้วแต่ขึ้นกับการบังคับใช้ว่าจะมีผลมากเพียงใด ต้องทำให้รู้สึกเข็ด อย่างมีการยึดทรัพย์ผู้ที่กระทำความผิดปลอมแปลงผลิตภัณฑ์เพื่อเป็นตัวอย่าง การเปรียบเทียบปรับ การจำคุก เป็นต้น
          นายเชิญพร เต็งอำนวย นายกสมาคมสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน ให้ความเห็นว่า หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต้องมีกระบวนการตรวจสอบที่ชัดเจนผลิตภัณฑ์อาการเสริม ตั้งแต่ขั้นตอนก่อนที่จะมีการนำอาหารเสริมออกสู่ตลาด (Pre Marketing) และหลังจากนำอาหารเสริมออกมาจำหน่ายทั่วไปแล้ว (Post Marketing) เพื่อป้องกันปลอมแปลงและการหลอกลวง จะทำให้ผู้บริโภคได้รับผล กระทบ เพราะที่ผ่านมาก็มีตัวอย่างให้เห็นหลายกรณี
          นายนาคาญ์ ทวิชาวัฒน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงแนวทางการดูแลผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเมจิก สกิน ว่ากลุ่มอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับ อย. เพื่อเพิ่มโทษผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ไม่ได้มาตรฐาน เดิมเป็นโทษของการจำหน่ายอาหารปลอม มีบทลงโทษจำคุกระหว่าง 3-5 ปี ต่อไปจะขอให้เป็นโทษของการจำหน่ายยาปลอม มีบทลงโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึงจำคุกตลอดชีวิต ซึ่งพิจารณาแต่ละกรณีๆ ไป เพื่อให้ผู้ผลิตสินค้ามีความหลาบจำ
          "สิ่งที่ต้องทำคือการเพิ่มโทษ อย่างในต่างประเทศ หากเป็นโรงงานที่ผลิตสินค้าไม่ได้มาตรฐาน จะมีโทษสั่งปิดโรงงานทันที อีกกรณีต่างประเทศใช้คือ การให้รางวัลนำจับเพื่อให้ผู้บริโภคช่วยสอดส่องตรวจสอบกับหน่วยราชการ" นายนาคาญ์กล่าว และยอมรับว่า การขอ อย.เป็นเรื่องยาก แต่ขั้นตอนการผลิตกลับเป็นเรื่องง่าย บางรายขอ อย.มาประเภทหนึ่ง แต่ผลิตอีกประเภทหนึ่ง หรือบางรายผสมสารที่ผิดเงื่อนไขเพิ่มเติม อยากเตือนผู้บริโภค ก่อนซื้อผลิตภัณฑ์ต้องดูให้ดี เริ่มตั้งแต่การเข้าไปเสิร์ชชื่อผลิตภัณฑ์ในเว็บไซต์ อย.ว่าได้รับ อย.หรือไม่ ต้องดูว่า ชื่อผลิตภัณฑ์กับเลข อย.สอดคล้องกันหรือไม่ หากไม่ตรงแปลว่าของปลอม
          นอกจากนี้ สามารถตรวจรายชื่อได้ที่เว็บไซต์ของ ส.อ.ท. หัวข้อตรวจสอบรายชื่อโรงงาน ผลิตอาหารเสริมและเครื่องสำอางที่ได้คุณภาพ และอีกวิธีให้เลือกซื้อกับร้านค้าที่น่าเชื่อถือเท่านั้น ตอนนี้สินค้าปลอมมีการปลอมจนถึงตรา อย.ก็มี โดยเฉพาะสินค้าขายดี ตลาดผลิตภัณฑ์อาหารเสริมขยายตัวเร็วมากจาก ที่ผ่านๆ มาอยู่ประมาณหลักหมื่นล้านบาท ขณะนี้ใกล้ระดับแสนล้านบาทแล้ว
          "ขณะนี้กลุ่มอุตฯผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้จับมือกับจีเอส 1 ไทยแลนด์ เตรียมจัดทำตราสัญลักษณ์โดยการใช้เทคโนโลยีดราก้อน โค้ด จะเป็นตราสัญลักษณ์ที่ติดกับผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการ ให้ผู้บริโภคใช้แอพพลิเคชั่นตรวจสอบได้ว่า เป็นผลิตภัณฑ์ปลอมหรือผลิตภัณฑ์จริง อยู่ระหว่างการทดลองใช้กับผลิตภัณฑ์บางตัว และจะใช้ในเชิงพาณิชย์อย่างแพร่หลายภายใน 3 เดือนนับจากนี้"  นายนาคาญ์กล่าวทิ้งท้าย

 pageview  1205146    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved