Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 26/02/2561 ]
แผลทางใจ รุมเร้า4.7แสนคน 4จว.แดนใต้พบผู้ป่วยมากสุด

  กรมสุขภาพจิตเผยพบคนไทยเป็น 'โรคพีทีเอสดี' 470,000 คน 4 จังหวัดชายแดนใต้เสี่ยงสูงกว่าพื้นที่อื่น ชี้หากเกิดในหญิงตั้งครรภ์จะส่งผลต่อสมองเด็ก ล่าสุดพัฒนาเครื่องมือค้นปัญหาสำเร็จเป็นแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน
          น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมโรงพยาบาล (รพ.) จิตเวชสงขลาราชนครินทร์ จ.สงขลา และศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 จ.ปัตตานี ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ จ.สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส พัทลุง ตรัง และสตูล ว่ามีนโยบายพัฒนาให้ รพ.จิตเวชสงขลาเป็นศูนย์เชี่ยวชาญการดูแลและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดมาจากภัยวิกฤตทุกประเภท ที่มีความรุนแรงที่สุด คือโรคพีทีเอสดี (Post Traumatic Stress Disorder: PTSD) หรือโรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "โรคบาดแผลทางใจ" ซึ่งในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความเสี่ยงเกิดโรคนี้ได้สูงกว่าพื้นที่อื่น เนื่องจากมีเหตุการณ์ความไม่สงบอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2547 - เดือนธันวาคม 2560 มีรายงานเกิดเหตุการณ์ทั้งหมด 19,622 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 6,703 ราย และบาดเจ็บรอดชีวิต 13,247 ราย
          น.ต.นพ.บุญเรืองกล่าวว่า ล่าสุดปี 2556 กรมสุขภาพจิตสำรวจพบคนไทยอายุ 18 ปีขึ้นไป ป่วยโรคพีทีเอสดีร้อยละ 0.9 คาดว่าขณะนี้ทั่วประเทศจะมีคนเป็นโรคนี้ประมาณ 470,000 คน จึงต้องเร่งป้องกันโดยค้นหาผู้ป่วยให้ได้เร็วที่สุดและให้การดูแลอย่างต่อเนื่องจนหมดความเสี่ยง
          "ขณะนี้ รพ.จิตเวชสงขลาได้วิจัยและพัฒนาเครื่องมือค้นหาโรคพีทีเอสดีเป็นผลสำเร็จ มีเพียง 2 คำถาม คือ 1.ประสบการณ์เผชิญเหตุสะเทือนใจอย่างรุนแรงในชีวิต เช่น ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกจับเป็นตัวประกัน สูญเสียบุคคลใกล้ชิดอย่างกะทันหัน ภัยพิบัติต่างๆ ทำให้มีอาการทางจิตใจเกิดขึ้น เช่น ตื่นตัวตลอดเวลา หรือหวนระลึกถึงเหตุการณ์ซ้ำๆ และ 2.เหตุการณ์มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน เช่น กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ฯลฯ ผลทดสอบพบว่า ให้ผลแม่นยำร้อยละ 89 เครื่องมือชนิดนี้ยังไม่เคยมีใช้ที่ไหนมาก่อน จึงนับเป็นความสำเร็จแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะช่วยให้บุคลากรการแพทย์ค้นหาปัญหาทางจิตใจได้เร็ว สามารถให้การเยียวยาได้อย่างทันท่วงที ช่วยลดความเสี่ยงเกิดโรคนี้ได้ร้อยละ 90 ขณะนี้ได้ขยายผลใช้ทั่วประเทศแล้ว เพราะสามารถใช้ได้กับทุกเหตุการณ์รุนแรง และได้ให้ศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 แปลเป็นภาษามลายูใช้ในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่างด้วย" น.ต.นพ.บุญเรืองกล่าว
          พญ.บุญศิริ จันศิริมงคล ผู้อำนวยการ รพ.จิตเวชสงขลา กล่าวว่า ขณะนี้ได้เผยแพร่แบบประเมินหาโรคพีทีเอสดีทาง www.skph.go.th เพื่อให้ประชาชนใช้ประเมินตัวเองได้จากระบบเสียงและข้อความ ใช้เวลาไม่ถึง 1 นาที ก็รู้ผล หากพบว่ามีความเสี่ยง จะมีคำแนะนำให้พบจิตแพทย์ที่ รพ.จิตเวช ทั่วประเทศ หรือปรึกษาสายด่วน 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง และอยู่ระหว่างพัฒนาเป็นแอพพลิเคชั่น
          "สำหรับโรคพีทีเอสดีหากเกิดกับเด็กและวัยรุ่นจะมีผลต่อพัฒนาการทางสมอง บุคลิกภาพ และอารมณ์ ทำให้ไม่มีสมาธิในการเรียน หรือทำสิ่งต่างๆ บางครั้งทำให้เด็กรู้สึกตนเองไม่มีคุณค่า อาจกลายเป็นคนเก็บตัว อารมณ์ถูกกระตุ้นได้ง่าย อาจกลายเป็นคนก้าวร้าว หรือซึมเศร้า หากเกิดในหญิงตั้งครรภ์จะทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนบางตัวออกมา เช่น คอร์ติซอล (Cortisol) สามารถผ่านทางรก ทำให้เด็กในครรภ์มีขนาดศีรษะเล็กกว่าปกติ มีผลต่อพัฒนาการของสมองและมีผลต่อสติปัญญา อาการของโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้แม้เหตุการณ์จะผ่านไปแล้วนานกว่า 6 เดือน" พญ.บุญศิริกล่าว

 pageview  1205119    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved