Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 20/02/2561 ]
นอนไม่ถึง7ชม.เสี่ยงโรครุมเร้า หมอชี้ อ้วน-เบาหวาน-ซึมเศร้า

 แพทย์ชี้ติดโซเชียล-สมาร์ทโฟน ส่งผล'นอนไม่พอ' ก่อสารพัดโรค'อ้วน-เบาหวาน-ซึมเศร้า-ไบโพลาร์' แนะควรหลับให้ได้วันละ 7-9 ชม. ด้าน รพ.จุฬาฯจัดกิจกรรมรณรงค์
          เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ นพ.วิญญู ชะนะกุล รองผู้อำนวยการสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าว "กิจกรรมวันนอนหลับโลก" ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ว่า การนอนเป็น 1 ใน 3 ปัจจัยสำคัญต่อสุขภาพที่ดี องค์การอนามัยโลกระบุว่าควรนอนหลับให้เพียงพอวันละ 7-9 ชั่วโมง แต่จากข้อมูล พบว่าประชากรโลกร้อยละ 45 ที่มีอาการผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่ง มีถึง ร้อยละ 35 ที่มีปัญหานอนไม่หลับ
          "ปัจจุบันยังมีปัญหาไม่ยอมหลับไม่ยอมนอน เนื่องจากใช้ชีวิตอยู่กับอินเตอร์เน็ต ดูคลิปวิดีโอต่างๆ ดูการแข่งขันกีฬา ดูซีรีส์ หรือเล่นสมาร์ทโฟน รวมทั้งทำงานก่อนนอน ข้อเท็จจริงแล้วทำงานหรือใช้สมาร์ทโฟน ควรทำก่อนเข้านอนประมาณ 4 ชั่วโมง เพราะไม่เช่นนั้นร่างกายจะรู้สึกตื่นตัว และนอนไม่หลับ ยิ่งแสงสีฟ้าจากสมาร์ทโฟนยิ่งมีผลทำให้รู้สึกนอนหลับยาก เมื่อนอนไม่พอ ก็มีผลกระทบมาก ผลระยะสั้น จะทำให้ไม่มีสมาธิ หงุดหงิดง่าย มีปัญหาต่อการเรียนรู้ในวันถัดไป ซึ่ง พบว่าคนที่นอนหลับไม่เพียงพอมีปัญหาขาดงาน ทำงานไม่มีประสิทธิภาพมากกว่า คนที่นอนหลับอย่างเพียงพอถึง 3 เท่า ส่วนระยะยาว มีปัญหาสุขภาพ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ฯลฯ อาจส่งผลให้เกิดโรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ หรือคนสองบุคลิก โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยอยู่เดิมอาจจะทำให้อาการกำเริบได้ และภาวะอ้วนก็เป็นส่วนหนึ่งที่ อาจมาจากการนอนไม่เพียงพอ เนื่องจากมีผลต่อระบบการเผาผลาญของร่างกาย ทำให้ เกิดความอยากอาหาร แต่ประเด็นนี้ต้องรอข้อมูลวิจัยยืนยัน" นพ.วิญญูกล่าว และว่า ที่หลายคนเชื่อว่านับแกะจะช่วยให้นอนหลับง่ายนั้น ยังไม่มีข้อมูลยืนยัน แต่ที่แน่ๆ จะทำให้เกิดความกังวล หลับยากขึ้น
          รศ.นพ.ณัฐพงษ์ เจียมจริยธรรม หัวหน้าศูนย์นิทราเวช รพ.จุฬาฯ แถลงว่า ที่น่ากังวลคือ กลุ่มคนที่ทำงานเป็นกะ และมีการเปลี่ยนกะบ่อยๆ เช่น ทุก 3 วัน เปลี่ยนกะ ซึ่งจะมี ปัญหามาก วงจรชีวิตไม่คงที่ มีการศึกษาใน กลุ่มพยาบาลของ รพ.จุฬาฯ ที่เปลี่ยนกะเข้าเวร บ่อยๆ มีปัญหาโรคลำไส้แปรปรวน ท้องเสีย และมีการศึกษาในประเทศสแกนดิเนเวีย พบการเกิดเนื้องอกบางชนิดขึ้น แต่สำหรับคนที่ทำงานเป็นกะ แต่ไม่ได้เปลี่ยนกะบ่อยๆ ใช้เวลาเป็นเดือนจะไม่ค่อยมีปัญหามากนัก จึงอยากให้ทุกคนเห็นความสำคัญนาฬิกาชีวิต ตามที่ได้กำหนดสโลแกนวันนอนหลับโลกปี 2561 ว่า "หลับเป็นเวลา ตามนาฬิกาชีวิต พิชิตโรคร้าย ร่างกายแข็งแรง"
          ทั้งนี้ รพ.จุฬาฯจะจัดกิจกรรมรณรงค์เรื่องนี้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม ที่สวนลุมพินี เป็นกิจกรรมรักษ์การนอน Walk Rally และในวันที่ 5-9 มีนาคม จัดนิทรรศการวัน นอนหลับโลก ที่บริเวณโถงชั้นจี อาคาร ภปร. วันที่ 10 มีนาคม อบรมให้ความรู้เรื่องโรคความผิดปกติจากการนอนหลับสำหรับประชาชน

 pageview  1204270    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved