Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 21/02/2561 ]
ทส.-สธ.-มท.จับมือป้องปราม แก้ หมอกควัน-ไฟป่า ภาคเหนือ

  เมื่อย่างเข้าสู่ฤดูแล้ง ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่กลายเป็นปัญหาประจำและสำคัญของภาคเหนือ โดยเฉพาะภาคเหนือตอนบน คือ "หมอกควัน" ซึ่งจำเลยของหมอกควันทุกปี ไม่พ้น "ไฟป่า" หรือ "เผาตอซัง" เพราะส่วนใหญ่พบว่าจุดเกิดความร้อน หรือฮอตสปอต มักพบในพื้นที่เกษตร การวัดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศที่เป็นเกณฑ์มาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษ คือไม่เกิน 120 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ซึ่งพบว่าจังหวัดในภาคเหนือที่เกิดปัญหาหมอกควันถึงขั้นวิกฤตทุกปี คือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง แพร่ น่าน และพะเยา
          ล่าสุด กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดย ดร.วิจารย์ สิมะฉายา ปลัดกระทรวง ประสานความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย ทำงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควัน-ไฟป่า โดย 9 จังหวัดภาคเหนือ ทส.สนับสนุนข้อมูลตรวจวัดคุณภาพอากาศ ข้อมูลจุดความร้อน เพื่อดำเนินการอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะ ทส.รับผิดชอบพื้นที่ป่า ได้สร้างความเข้าใจกับทุกกลุ่มเป้าหมาย ซึ่ง "พะเยา" เป็นจังหวัดในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ที่ปลัด ทส.ลงพื้นที่เป็นประธานเปิดกิจกรรมรณรงค์รวมพลัง 2 แผ่นดิน (ไทย-ลาว) ต้นไฟป่าและหมอกควัน ที่บริเวณด่านชายแดนไทย-ลาว (กิ่วหก) บ้านฮวก ต.ภูซาง อ.ภูซาง จ.พะเยา ซึ่งมี นายประจญ ปรัชญ์สกุลผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจังหวัดพะเยา ท่านสมนึก สิงคำ รองเจ้าเมืองคอบ แขวงไชยะบุลี สปป.ลาว พร้อมคณะ ร่วมพิธีและมอบอุปกรณ์ดับไฟป่าให้แก่ตัวแทน 13 ชุมชนเมืองชายแดน และปล่อยขบวนจักรยานปั่นต้านไฟป่าเพื่อร่วมรณรงค์ต่อต้านไฟป่าและหมอกควัน
          ดร.วิจารย์กล่าวว่า ทส.ร่วมกับ มท.ทำงานร่วมกันป้องกันและแก้ปัญหาหมอกควัน-ไฟป่า โดยเฉพาะ ทส.รับผิดชอบพื้นที่ป่า ได้สร้างความเข้าใจกับทุกกลุ่มเป้าหมาย พะเยาเป็นจังหวัดในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งได้ห้ามเผาตั้งแต่ 16 กุมภาพันธ์ - 16 เมษายน 2561 ต้องขอความร่วมมือจากประชาชน เพราะว่าปัญหาถ้ามันเกิดขึ้นแล้วมันแก้ไขยาก อีกทั้งส่งผลกระทบด้านการท่องเที่ยวด้วย
          "ในปี 2561 เรามีเป้าหมายให้ลดลงกว่าร้อยละ 20 ของปี 2560 จะสำเร็จหรือไม่ ทั้งนี้อยู่ที่ความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพราะว่าปัญหาหมอกควันไฟป่าที่เกิดขึ้นเกิดจากฝีมือมนุษย์เกิดจากคนทั้งนั้น สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราต้องร่วมมือกัน โดยหลีกเลี่ยงการเผาทุกวิถีทาง ฝุ่นยิ่งขนาดเล็กยิ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยมาก เพราะเมื่อสูดเข้าไปในระบบหายใจจะส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ตรงนี้เป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน"
          ด้านนายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา มือปราบหมอกควัน กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า ปี 2561 มีมาตรการหลักคือป้องปรามควบคู่การใช้ระเบียบกฎหมายห้ามเผาทุกชนิดในช่วง 60 วันอันตราย ระหว่าง 16 กุมภาพันธ์ - 16 เมษายน 2561 และรัฐบาลมีเป้าหมายให้ทุกพื้นที่ต้องลดพื้นที่เกิดจุดความร้อน หรือฮอตสปอต และจำนวนวันที่มีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานจะต้องลดลงจากปี 2560 ที่ผ่านมาร้อยละ 20 ปี 2560 จังหวัดพะเยาเกิดฮอตสปอตประมาณ 80 จุด ปี 2561 จะต้องไม่เกิน 60 จุด ส่วนจำนวนวันที่มีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานปี 2560 มี 1 วัน ดังนั้นปี 2561 จะต้องไม่มีการเกิดค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานแม้แต่วันเดียว
          "เบื้องต้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการจำแนกพื้นที่เสี่ยง กลุ่มเสี่ยง ที่เป็นพื้นที่เป้าหมายในการเกิดปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ขณะที่กลุ่มเสี่ยงก็ต้องมีการเฝ้าระวัง โดยเฉพาะพื้นที่ป่าหากไม่จำเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐจะขอความร่วมมือประชาชนงดการเข้าป่าในช่วง 60 วันห้ามเผา ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ได้เน้นเรื่องการส่งเสริมการทำปุ๋ยหมัก ซึ่งจังหวัดให้ทุกพื้นที่ดำเนินการจัดทำ 1 หมู่บ้าน 1 กองปุ๋ยหมัก 1 ครัวเรือน 1 เสวียน หรือ 1 ต้น 1 เสวียน การไถกลบตอซังในนาข้าวเพื่องดเผาทุกพื้นที่ แต่หากยังพบว่าพื้นที่ใดมีควันจะต้องมีผู้รับผิดชอบ และพื้นที่ชายแดนได้สร้างความตระหนักเรื่องพิษภัยของหมอกควันร่วมกับเมืองชายแดนของ สปป.ลาว ทั้งหมดทั้งมวลเพื่อสุขภาพของประชาชนในระยะยาวให้ปลอดภัยจากหมอกควันอย่างยั่งยืน"
          สำหรับการดูแลสุขภาพประชาชนในช่วงสถานการณ์หมอกควัน นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า "ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม สร้างจิตสำนึกสร้างเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพ เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่พึงประสงค์ ดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัวได้ นำไปสู่การลดอัตราการเจ็บป่วยเนื่องจากภาวะหมอกควันน้อยลง สาธารณสุขในระดับพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ได้ประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงาน แนวทางปฏิบัติที่ดี และบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อความพร้อมรับมือกับภาวะหมอกควัน นำไปสู่การคุ้มครองสุขภาพของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ"
          ในระดับพื้นที่ นพ.ไกรสุข เพชระบูรณิน นายแพทย์ สสจ.พะเยา กล่าวว่า "นอกจากเจ้าหน้าที่ของ สธ.ทุกหน่วยงานจะทำงานเชิงรุกด้านสุขภาพ
          ของ ปชช.แล้ว สสจ.พะเยา ได้มีการจัดเตรียมหน้ากากอนามัยจำนวน 30,000 ชิ้น ไว้ให้สำหรับแจกจ่ายประชาชนกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง 4 กลุ่มโรค และนอกจากนี้ทางสำนักงานควบคุมโรค (สคร.) เขต 10 เชียงใหม่ จะสนับสนุนหน้ากากอนามัยเพิ่มให้อีกจำนวน 30,000 ชิ้น เพื่อให้นำมาแจกจ่ายประชาชนป้องกันการเกิดผลกระทบต่อร่างกายในช่วงที่เกิดสถานการณ์ปัญหาหมอกควันด้วย"
          ทุกภาคส่วนประสานกันทั้งด้านสิ่งแวดล้อมเฝ้าระวังตรวจสอบคุณภาพอากาศทุกวัน ด้านสุขภาพประชาชน สธ.ติดตามดูแลใส่ใจทุกพื้นที่ ขณะที่ มท. โดย ผวจ.กำชับทุกพื้นที่เฝ้าระวังป้องปราม คือการผสานงานทั้งเชิงรุกเน้นการป้องกันเพื่อผลการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพ เพื่อคุณภาพอากาศและชีวิตที่ดีของชาวพะเยาและจังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือ

 pageview  1205105    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved