Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 23/01/2561 ]
หาต้นตอเด็กไทยสมาธิสั้น สมาร์ทโฟน คือ ผู้ร้าย?

 ภายหลังที่กรมสุขภาพจิตออกมาเผยตัวเลขที่ชัดเจนว่า กว่า 1 ล้านคนสำหรับเด็กไทยในวัย 6-12 ปี ทุกวันนี้กำลังเผชิญกับ "โรคสมาธิสั้น"
          ส่งผลให้เกิดคำถามตามมาว่า สาเหตุหลักที่เด็กไทยป่วยเป็นโรคดังกล่าวนั้นมาจากสาเหตุอะไร และเด็กไทยกำลังเผชิญอะไรในสังคมปัจจุบัน ที่ก่อให้เกิดโรคสมาธิสั้นสูงเช่นนี้
          อีกทั้งข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข เผยข้อสังเกตของเด็กที่มีอาการสมาธิสั้นไว้ อาทิ ไม่สามารถทำงานที่ผู้ปกครองสั่ง หรือครูสั่งได้สำเร็จ ไม่มีสมาธิขณะที่ทำงานหรือเล่น วอกแวกง่าย ซุกซนเกินปกติ ขี้ลืมบ่อย หรือทำของส่วนตัวหายบ่อยๆ เป็นต้น
          บวกกับผลพวงที่กรมสุขภาพจิตแถลง หากเด็กที่ป่วยเป็นโรคสมาธิสั้นจะส่งผลต่อพวกเขาในระยะยาว โดยเฉพาะการพกพาอาการเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ อันส่งผลให้เกิดแง่ลบตามมาต่างๆ ทั้งสุ่มเสี่ยงจะเป็นโรคซึมเศร้า มีพฤติกรรมก้าวร้าวใช้ความรุนแรง มีโอกาสติดยาเสพติด และร้ายแรงที่สุดคือฆ่าตัวตาย
          เป็นอันว่า ผลจากโรคดังกล่าวที่เกิดขึ้นในวัยเด็ก จะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของพวกเขาในระยะยาวอย่างน่ากังวล
          นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติ เพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล สะท้อนปัญหานี้ไว้อย่างน่าสนใจ ซึ่งหากมองถึงสาเหตุโรคพบว่ามีทั้งปัจจัยทางกายภาพ และปัจจัยทางการเลี้ยงดูจากผู้ปกครองที่ทำให้เด็กป่วยเป็นโรคสมาธิสั้น
          โดยในทางกายภาพนั้น นพ.สุริยเดว ให้ภาพอย่างง่ายว่า ในสมองของเด็กปฐมวัยจะมีสารชนิดหนึ่งที่จะช่วยให้เด็กสามารถจดจำและสนใจกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งจะช่วยให้เด็กเกิดสมาธิตามธรรมชาติ แต่สารที่ว่านี้เด็กแต่ละคนจะมีในระดับไม่เท่ากัน หรือแม้แต่เด็กบางคนอาจจะมีสารนี้ที่พร่องไปจากระดับปกติ ซึ่งเป็นผลให้เกิดโรคสมาธิสั้นตามมา
          แต่กระนั้น ยังถือว่าเป็นเรื่องธรรมชาติที่เด็กปฐมวัยทุกคนจะมี "อาการสมาธิสั้น" ติดตัวมาตั้งแต่เกิดอยู่แล้ว และถือว่าเป็นเรื่องที่ปกติ หากแต่อาการจะรุนแรงขึ้นมากน้อยแค่ไหนนั้น ปัจจัยการเลี้ยงดูของพ่อแม่ผู้ปกครองจะเป็นสิ่งเกื้อหนุนให้เกิดอาการที่รุนแรง หรือลดน้อยลงได้
          "เด็กปฐมวัยจะสมาธิสั้นเกือบทั้งหมด ฟังอะไรไม่ได้นาน แต่การเลี้ยงดูจะเป็นการกระตุ้นให้อาการรุนแรงขึ้น หรืออีกด้านก็เป็นการสร้างสมาธิให้กับเด็กได้มากขึ้นเช่นกัน" นพ.สุริยเดว ย้ำ
          นพ.สุริยเดว อธิบายเสริมว่า สมมติว่าผู้ปกครองเลี้ยงดูบกพร่อง ผิดวิถีธรรมชาติ เช่น ให้ดูทีวี หรือสื่อมีเดียทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ที่มากจนเกินไป ก็จะส่งผลให้สารเคมีในสมองของเด็กที่พร่องอยู่แล้วแย่ลงไปอีก เพราะสื่อมีเดียเหล่านี้มีคลื่นความถี่ผ่านจอภาพ ทำให้สายตาของเด็กต้องโฟกัสความเคลื่อนไหวของภาพตลอดเวลา และปัจจัยนี้ก็เป็นองค์ประกอบที่กระตุ้นให้เด็กมีอาการสมาธิสั้นหนักเข้าไปอีก
          "ก็เหมือนกับว่าเราไปซ้ำอาการของเขาโดยไม่รู้ตัว และในทางการแพทย์สำหรับเด็กปฐมวัยจะยังไม่มีการวินิจฉัยโรคสมาธิสั้น แต่จะเริ่มวินิจฉัยเมื่อเด็กเข้าเรียนชั้นประถมศึกษา เพราะทางการแพทย์ยังเชื่อว่าเด็กต้องได้รับการเลี้ยงดูตามธรรมชาติ ได้เล่นอย่างที่ถูกที่ควร แต่หากถูกกระบวนการเลี้ยงดูที่ผิดก็จะมีผลตามมาทันที เพราะเด็กเมื่อเข้าห้องเรียนก็จะอยู่นิ่งไม่ได้ ฟังไม่รู้เรื่อง และเปลี่ยนความสนใจอย่างรวดเร็ว" ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติ เพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล สะท้อนปัญหา
          นอกเหนือจากความเห็นของ นพ.สุริยเดวแล้ว สิ่งที่รองรับว่าพฤติกรรมการเลี้ยงดูเด็กเปลี่ยนไป คือ ผลสำรวจของ Amarin Baby & Kids Poll ในปี 2559 ที่พบว่าทุกวันนี้พ่อแม่ต้องทำงานนอกบ้าน และมีเวลาให้ลูกเพียงแค่วันละ 4 ชั่วโมง ขณะที่จำนวนชั่วโมงของการใช้สื่อมีเดียต่างๆ สำหรับเด็กก็มากขึ้น เพราะพ่อแม่ถือว่าเป็นตัวช่วยในการเลี้ยงดูลูกนอกเหนือจากบุคคลในครอบครัวที่มาช่วยเลี้ยง
          และที่น่าตกใจคือ พ่อแม่ถึง 60% ให้ลูกเล่นแท็บเล็ต สมาร์ทโฟน ตั้งแต่อายุน้อยกว่า 3 ขวบ และมีอีกถึง 20% ที่ซื้อแท็บเล็ตให้ลูกตั้งแต่อายุ 8 ขวบ รวมถึงอีกกว่า 50% ให้ลูกเล่นแท็บเล็ตตามลำพัง
          อย่างไรก็ตาม นพ.สุริยเดว แนะทางออกว่า พ่อแม่ผู้ปกครองต้องให้เด็กได้เล่นตามธรรมชาติอย่างเรียนรู้และสร้างสรรค์ อีกทั้งแน่นอนว่าพ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องมีเวลาให้และทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันอย่างใส่ใจ พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของเด็กอย่างเหมาะสม และจะช่วยเสริมสร้างสมาธิให้กับเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น
          "เด็กที่ป่วยเป็นโรคสมาธิสั้นสามารถแก้ไขโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและเสริมสร้างสมาธิให้กับเขาได้ แม้อาการจะไม่หายไปทั้งหมด แต่ก็จะช่วยให้เด็กกินได้ นอนหลับได้ หรือมีสมาธิกับห้องเรียนได้ แม้จะต่างจากเด็กที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการสมาธิสั้นไม่มาก แต่หากปล่อยไปเลยโดยไม่ใส่ใจ และคิดว่าเมื่อโตขึ้นอาการจะดีขึ้นเอง ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจผิด เพราะต้องได้รับการรักษา อีกทั้งอาการเหล่านี้หากไม่ได้รับการช่วยเหลือก็จะคงอยู่ และจะส่งผลต่อพวกเขาในระยะยาวอย่างน่ากังวล" นพ.สุริยเดว ทิ้งท้าย

 pageview  1205014    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved