Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 09/10/2560 ]
สธ.ประชุม10ตุลาฟันเบียร์สดเซเว่น ชี้ขายลักษณะนี้ไม่มีประเทศใดในโลก

 วันที่ 10 ต.ค.นี้ อนุ กก.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะประชุมพิจารณาความผิดร้านสะดวกซื้อเซเว่น-อีเลฟเว่นขายเบียร์สด
          ไทยโพสต์ * สนง.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประชุม 10 ตุลานี้ ฟันเซเว่นฯ ขายเบียร์สดผิดกฎหมาย เผยนักวิชาการระดับโลกถึงกับอึ้ง ระบุไทยเป็นประเทศแรกที่ยอมให้ร้านสะดวกซื้อทำได้ วอนหน่วยงานรัฐเร่งอุดช่องโหว่ ขณะที่นักวิชาการไทยสะกิดต่อมสำนึกพ่อค้าอย่าเลี่ยงบาลีโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบจากน้ำเมา
          นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผอ.สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวเมื่อวันที่ 8 ตุลาคมนี้ ถึงเบียร์ตู้กดในร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น ว่าเรื่องนี้จะมีการหารือในที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ที่มี นพ.วิฑูร อึ้งประพันธ์ เป็นประธาน ในวันที่ 10 ตุลาคม นี้ เวลา 13.00 น. เพื่อพิจารณาความผิดที่ชัดเจนกับร้านสะดวกซื้อดังกล่าว ทั้งนี้ การจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในลักษณะเบียร์กดในต่างประเทศแบบนี้ไม่เคยมีมาก่อน เพราะต่างประเทศมีการแยกจดทะเบียนการค้า ระหว่างการนั่งดื่มและแบบซื้อไปดื่มที่บ้านชัดเจน และโทษเมาแล้วขับก็รุนแรง การจำหน่ายเบียร์สดเหมาะสำหรับการจำหน่ายแล้วดื่มทันที เหมือนกันกับการดื่มในร้าน ฉะนั้นการพิจารณาเรื่องนี้จะเน้นกรอบกฎหมายเป็นหลัก
          เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา มีผู้พบร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น ในกรุงเทพฯ บางสาขา เช่น ที่ย่านเยาวราช เปิดจำหน่ายเบียร์สดยี่ห้อหนึ่ง โดยติดตั้งเครื่องกดเบียร์ไว้ภายในร้านเพื่อบริการลูกค้า ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง โดยส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสม และอาจเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมาย
          นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา กล่าวว่า หลังจากที่ทางเครือข่ายได้เฝ้าดู ก็พบว่าการจำหน่ายเบียร์สดแบบกดดื่มในร้านสะดวกซื้อมีความผิดชัดเจน คือ 1.การส่งเสริมการขาย และ 2.การควบคุมอายุของ ผู้ดื่ม เพราะแม้ว่าร้านสะดวกซื้อจะปฏิบัติตามกฎ หมายเรื่องเวลาการจำหน่าย แต่การควบคุมอายุของผู้ดื่มเป็นการทำได้ยาก เพราะเป็นลักษณะการให้กดเองและจ่ายเงิน ฉะนั้นเสี่ยงที่เยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปีจะเข้าไปใช้บริการ และยังมีผลพวงเกี่ยวเนื่องไปถึงประชาชนบนท้องถนน เพราะการดื่มเบียร์สดมักดื่มทันที ไม่สามารถเก็บได้ การจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อก็ยิ่งกระตุ้นให้นำเบียร์ไปดื่มทันที อาจเป็นการดื่มข้างถนน ในรถยนต์ ยิ่งทำเกิดอันตรายได้ง่ายทั้งตัวผู้ขับขี่และคนเดินถนน
          นายคำรณกล่าวว่า ทางเครือข่ายอยากเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขออกกฎกระทรวง ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ประกาศห้ามร้านสะดวกซื้อจำหน่ายเบียร์สด ทั้งนี้ เพื่อให้สอด คล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายตั้งแต่แรกที่ต้องการควบคุม และห้ามการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านสะดวกซื้อ
          ด้าน นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ นักวิชาการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ว่า ขณะที่ประเทศไทยมีข่าวร้านสะดวกซื้อเปิดจำหน่ายเบียร์สดในเครื่องแบบกดนั้น เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่มีการประชุม Global Alcohol Policy Conference (GAPC) 2017 ที่กรุงเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 4-6 ตุลาคม 60 ซึ่งเป็นการประชุมใหญ่ที่สุดของวงการนักวิชาการด้านนโยบายการควบคุมแอลกอฮอล์ ข่าวคราวการจำหน่ายเบียร์สดในร้านสะดวกซื้อของไทยเป็นที่สนใจแก่วงการวิชาการแอลกอฮอล์โลกมาก เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศแรกในโลกที่เอาเบียร์สดมาขายในร้านสะดวกซื้อได้ ทำให้นักวิชาการประณามสิ่งที่เกิดขึ้น แสดงความเป็นห่วงเด็กและเยาวชนในประเทศ ไทย ขอให้ผู้เกี่ยวข้องทบทวนนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเร่งด่วน และขอให้ประชาชนตื่นตัวกับสิ่งที่เกิดขึ้นและอาจจะเป็นภัยที่ส่งผลกระทบต่อสังคมโดยกว้างได้
          สำหรับเวทีดังกล่าว นักวิชาการที่ร่วมแสดงความคิดเห็นล้วนเป็นนักวิชาการระดับโลกที่ผ่านการตีพิมพ์การวิจัยประเด็นที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์นับร้อยฉบับ อาทิเช่น ศาสตราจารย์แซลลี คาสเวล (Sally Casswell) ประธานกรรมการเครือข่ายแอลกอฮอล์ระดับโลก Global Alcohol Policy Alliance (GAPA) และศาสตราจารย์โรบิน รูม (Prof.Robin Room) ที่ปรึกษาอาวุโส The Centre for Alcohol Policy Research (CAPR) เป็นต้น
          นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี กล่าวว่า ในมาตรา 30 ของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ว่าด้วยการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยใช้เครื่องขายอัติโนมัติ ซึ่งที่ร้านเซเว่นฯ สุ่มเสี่ยงจะทำผิดคือ การใช้เครื่องอัตโนมัติเติมเบียร์ลงแก้ว แต่ที่อาจจะหลุดไป เพราะต้องไปจ่ายเงินกับพนักงาน ไม่ใช่หยอดตู้ ซึ่งคงต้องมีการตีความกันให้ชัดๆ ออก มา ส่วนอีกมาตราที่ห้างค้าปลีกใช้ช่องว่างของกฎหมาย จนหลุดข้อควบคุมคือ มาตรา 32 ของ พ.ร.บ. เดียวกัน "ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอ ฮอล์ หรือแสดงชื่อ หรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณ หรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม" ข้อนี้ร้านเซเว่นฯ เลยเอาผ้ามาคลุมตู้เบียร์เพื่อไม่ให้เห็นชื่อยี่ห้อไปเสียเลย เลยไม่ผิดกฎหมาย คำถามคือเวลาเปิดขายต้องเอาผ้าคลุมออกหรือเปล่า แล้วโลโก้ก็ปรากฏอยู่ดีใช่หรือไม่
          "อยากฝากไปถึงทั้งห้างค้าปลีกและบริษัทผู้ผลิตแอลกอฮอล์ที่คิดค้นวลีเลี่ยงบาลีกฎหมาย เอาเบียร์สดมาวางขาย ว่าช่วยมารับผิดชอบผลกระทบจากแอลกอฮอล์ให้คนไทยหน่อยได้หรือไม่ พวกท่านหาช่องว่างของกฎหมาย หาเจอก็ใช้โอกาสทันที เน้นโกยสตางค์เข้ากระเป๋าลูกเดียว ไม่สนจริยธรรมอะไรเลย รู้ทั้งรู้ว่าคนไทยส่วนหนึ่งยังใส่ใจกับขนบธรรมเนียมและจริยธรรมอยู่ และคนไทยเองก็ได้รับผลกระทบจากแอลกอฮอล์มากมายแล้ว ยังหวังจะเพิ่มยอดขาย เพิ่มรายได้ของตัวเองอย่างเดียว ถ้าเป็นไปได้ มาจ่ายค่าชดเชยผู้เสียชีวิต ผู้รับเคราะห์จากแอลกอฮอล์ทั้งหมดได้ก็ดี" นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี กล่าว.

 pageview  1204505    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved