Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 26/09/2560 ]
แอพพ์'RDU'รู้เรื่องยา เพื่อการใช้อย่างสมเหตุผล

หากพูดถึงเรื่องยาแล้ว หลายคนยังไม่ทราบว่า การใช้ยาอย่างเหมาะสมเป็นอย่างไร และการใช้ยาที่ไม่เหมาะสมจะก่อให้เกิดปัญหาอะไรบ้าง...
          แต่ล่าสุดมีช่องทางให้สามารถหาความรู้ได้ไม่ยาก เพราะเมื่อวันที่ 24 กันยายน นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการพัฒนานวัตกรรม Mobile Application "RDU รู้เรื่องยา" ระหว่างผู้แทน จาก 6 หน่วยงาน ประกอบด้วย นพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ. นายศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) รศ.ภญ. สุวัฒนา จุฬาวัฒนพล คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และ ทพ.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมี ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาสมเหตุผล ร่วมลงนามเป็นสักขีพยาน
          นพ.ปิยะสกลให้ข้อมูลว่า รัฐบาลไทยได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติให้ประชาชนใช้ยาอย่างสมเหตุผล ปลอดภัย สธ.จึงกำหนดนโยบายให้สถานพยาบาลในสังกัดทุกระดับพัฒนาระบบบริการให้มีการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ความร่วมมือของ 6 หน่วยงานในการพัฒนาแอพพลิเคชั่น ข้อมูลยาในครั้งนี้ ถือเป็นนวัตกรรมที่ช่วยสนับสนุนการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ทำให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาฉลากยา ฉลากยาเสริม และข้อมูลการใช้ยาอย่างปลอดภัยที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ ช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงความรู้เรื่องการใช้ยาที่จำเป็นได้ง่ายขึ้น และมีการใช้ยาอย่างปลอดภัยและสมเหตุผล
          สธ.ร่วมมือกับเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย และ สวรส. พัฒนาข้อมูลยาที่เป็นมาตรฐาน สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์พัฒนาการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลผ่านทางแอพพ์ ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลยาที่พัฒนาขึ้น ได้ง่าย ส่วนคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ สสส. พัฒนาในการจัดทำข้อมูลและความรู้ด้านยาที่เป็นประโยชน์เผยแพร่แก่ประชาชน
          ขณะนี้ แอพพ์ดังกล่าวมีข้อมูลยากว่า 700 รายการ อยู่ระหว่างการทดสอบความสมบูรณ์ เพื่อมอบความรู้เรื่องยา (Drug Literacy) เป็นของขวัญปีใหม่ ปี 2561 แก่ประชาชน โดยใช้แอพพ์นี้บันทึกข้อมูลยาเก็บไว้ในโทรศัพท์มือถือจากคิวอาร์โค้ด (QR Code) ที่ซองยา ได้แก่ ชื่อโรงพยาบาล ชื่อยาที่ได้รับ วิธีการใช้ยา ข้อมูลฉลากเสริมพร้อมข้อมูลความปลอดภัยด้านยา เป็นต้น และมีข้อมูลอื่นๆ เช่น ข้อมูลยา ข่าวสารเรื่องยา สาระยาน่ารู้ รวมถึงใช้ในการค้นหาโรงพยาบาลและร้านยาคุณภาพ เมื่อระบบเสร็จสมบูรณ์จะเริ่มใช้ที่ รพ.ศิริราช รพ.รามาธิบดี รพ.ราชวิถี รพ.วชิรพยาบาล รพ.มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และโรงพยาบาลในสังกัด สธ. 10 แห่ง ได้แก่ รพ.สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 17 จ.สุพรรณบุรี รพ.พระจอมเกล้า จ.เพชรบุรี รพ.พระพุทธโสธร จ.ฉะเชิงเทรา รพ.สระแก้ว รพ.ระนอง รพ.กระบี่ รพ.บุรีรัมย์ รพ.อุดรธานี รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี และ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ จ.เชียงราย
          ทพ.สุปรีดากล่าวว่า ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาอย่างน้อยปีละ 20,000-38,000 คน ส่งผลต่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจถึง 46,000 ล้านบาท โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม หรือเกินความจำเป็น ที่ผ่านมา สสส.ร่วมกับศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ทำการศึกษาข้อมูล การใช้ยาทำให้พบพฤติกรรมการใช้ยาของ คนไทยที่ไม่เหมาะสม เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะใน 3 โรคยอดฮิต เช่น หวัด แผล ท้องเสีย การใช้ยาในกลุ่มเอ็นเสดเป็นเวลานาน เช่น ยาแก้ปวดคลายกล้ามเนื้อทำให้เสี่ยงต่อโรคไต หรือแม้แต่ยาพาราเซตามอล หากมีการใช้อย่างไม่ถูกต้องจะเกิดพิษต่อตับ
          ข้อมูลการใช้ยาเหล่านี้มีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องทำให้ประชาชนเข้าถึงได้โดยง่าย สสส.จึงยินดีสนับสนุนข้อมูลข่าวสารเรื่องยา สถานการณ์ยาและข้อมูลการใช้ยาที่มีเนื้อหาถูกต้องและทันสมัย โดยเปิดให้เชื่อมโยงผ่าน Application Programming Interface เพื่อนำไปแสดงบน Mobile Application  "RDU รู้เรื่องยา" ในหัวข้อ "ข่าวสารเรื่องยา" รวมถึงกระจายการเข้าถึงการใช้ยาอย่างสมเหตุผลผ่านการทำงานตรงไปที่บุคลากรทางการแพทย์และเภสัชกรในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) รวมทั้งเครือข่ายเภสัชกรรมชุมชนในการให้คำแนะนำกับผู้บริโภคในพื้นที่
          ด้าน รศ.นพ.สุรศักดิ์กล่าวว่า การทำแอพพ์ "RDU รู้เรื่องยา" เป็นความพยายามของเภสัชกรและแพทย์ในเครือข่าย ที่ต้องการจะเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้ยาแก่ประชาชนชาวไทยให้มากยิ่งขึ้น โดยประสานกับทั้งฝ่ายการศึกษาและเภสัชกรใน สธ. เพื่อจัดทำข้อมูลยาของประเทศที่มีมาตรฐาน ทันสมัย และเป็นหนึ่งเดียว
          สำหรับโครงการนี้แบ่งได้เป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 เป็นช่องทางให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลยาที่กำลังได้รับหรือที่สนใจได้อย่างทั่วถึง และเชื่อถือได้ ทั้งยังสามารถเก็บข้อมูลยาของตนเองได้ในมือถือ ผ่านการสแกน QR code ที่ติดอยู่บนฉลากยาเพียงครั้งเดียว ไม่ต้องเขียนบันทึกหรือทำอะไรเพิ่มเติม ระยะที่ 2 จะมีการเตือนเมื่อถึงเวลากินยา และ จะมีระบบเตือนเมื่อได้รับยาที่เคยแพ้ หรือได้รับยาใหม่ที่อาจมีปัญหาตีกันกับยาเดิม สามารถแจ้งบุคลากรผู้สั่งและจ่ายยาได้ใน ทันที เป็นการป้องกันอาการไม่พึงประสงค์จากยาที่รุนแรง จนอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ ระยะที่ 3 จะเชื่อมโยงข้อมูลยาของประชาชนกับสถานพยาบาลเมื่อผู้ป่วยเข้ารักษาตัว เพื่อทำให้ได้รับยาอย่างต่อเนื่องถูกต้อง และหลีกเลี่ยงการได้ยาซ้ำซ้อน เกินขนาด หรือขัดขวางการรักษา เพิ่มความปลอดภัยด้านยาให้แก่ผู้ป่วยมากขึ้น
          อย่างไรก็ตาม แม้เบื้องต้นจะใช้ในโรงพยาบาลตามจุดจ่ายยาที่จะมี QR code ติดตรงฉลากยา เพื่อให้ทราบบันทึกการใช้ยารายบุคคล แต่สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลความรู้การใช้ยา ปัจจุบันยังดาวน์โหลดได้เฉพาะระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ก่อนจะพัฒนาไปสู่ไอโอเอสในอนาคตอันใกล้

 pageview  1205142    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved