Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 11/08/2560 ]
'ฉี่หนู'โรคที่พึงระวังหลังน้ำลด

จากเหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 28 ก.ค.60 ที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ถือเป็นบทเรียนครั้งสำคัญของชาวบ้านรวมถึงเจ้าหน้าที่ในด้านการรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วม เพราะนับว่าเป็นเหตุรุนแรงที่ไม่เคยเกิดขึ้นใน จ.สกลนคร ในรอบ 40 ปี รวมถึงพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย
          ภาพเหตุการณ์ที่เราเห็นคือในยามที่พี่น้องชาวไทยประสบกับความยากลำบากทั้งหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนก็ต่างยื่นมือเข้าไปให้ความช่วยเหลือดังที่ปรากฏเห็นในสื่อที่เป็นโซเชียล ที่เราได้เห็นน้ำจิตน้ำใจของเหล่าดาราและคนดังได้ระดม ความช่วยเหลือไปยังผู้ที่ประสบอุทกภัยจนเกิดภาพความประทับใจของความเอื้ออาทรที่ทุกคนมีต่อคนไทยด้วยกัน
          แต่หลังจากสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายสิ่งที่ประชาชนสงสัยในสิ่งที่ต้องเผชิญหลังน้ำลดคืออะไร ทีมงานไขประเด็นจึงได้นำข้อมูล และความรู้มาเพื่อเตือนประชาชนในพื้นที่น้ำท่วม หลังน้ำลดให้ระวังโรคฉี่หนูตามมา โดยนายแพทย์เจษฎาโชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้เปิดเผยข้อมูลว่า "จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคเลปโตสไปโรซิสหรือโรคไข้ฉี่หนู ในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. -29 ก.ค. 60 พบผู้ป่วยแล้ว 1,362 ราย เสียชีวิต 29 ราย โดยพบว่าผู้ป่วยครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 50) อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีผู้ป่วย 674 ราย เสียชีวิต10 ราย ส่วนจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่พบผู้ป่วยมากที่สุด 5 อันดับแรกได้แก่ ศรีสะเกษ, นครราชสีมา, มหาสารคาม, กาฬสินธุ์ และอุบลราชธานี"คาดว่าในช่วงนี้จะพบผู้ป่วยโรคไข้ฉี่หนูเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝน ซึ่งสามารถพบได้ทุกพื้นที่โดยเฉพาะในช่วงน้ำลด ทั้งนี้ โรคไข้ฉี่หนู อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลาไม่กี่วันหลังจากเริ่มป่วยหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ที่ผ่านมาหลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่หลายๆครั้ง จะพบว่ามีผู้ป่วยโรคไข้ฉี่หนูเพิ่มขึ้นผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ บางรายมีอาการปวดหัว ตาแดงแต่จะมีบางส่วนซึ่งมีอาการรุนแรง ในกลุ่มนี้จะมีอาการไตวาย (ปัสสาวะไม่ออก) ตับวาย (ตัวเหลือง ตาเหลือง)อาจมีอาการเหนื่อย ไอเป็นเลือด และช็อก(ไม่รู้สึกตัว) ในคนที่รอให้มีอาการมากแล้วจึงมารักษามักจะเสียชีวิต ส่วนใหญ่ในผู้ที่มีอาการรุนแรงอาการจะแย่ลงอย่างรวดเร็วในวันที่ 4-5 หลังจากเริ่มมีไข้
          ปัจจัยเสี่ยงติดเชื้อคือ บาดแผลบริเวณร่างกายที่โดนน้ำโดยเฉพาะเท้า บาดแผลอาจเป็นเพียงรอยถลอก หรือแม้แต่แผลจากน้ำกัดเท้า หากมีอาการดังกล่าว และมีประวัติการสัมผัสแหล่งน้ำหรือในพื้นที่หลังน้ำท่วม ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการตรวจวินิจฉัย และได้รับการรักษาโดยเร็ว กรมควบคุมโรคขอแนะนำให้ประชาชนป้องกันตนเองโดยหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำ แช่น้ำ และในบางพื้นที่ที่น้ำลดจะมีปริมาณ เชื้ออยู่ในสิ่งแวดล้อมมาก ควรใส่รองเท้าบู๊ตหรือสิ่งป้องกันชั่วคราวสวมใส่บริเวณเท้าโดยเฉพาะช่วงทำความสะอาดบ้านเรือน หากมีข้อสงสัยสอบ ถามข้อมูลเพิ่มเติมโทรสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422"
          แต่สิ่งที่สำคัญ คือ "น้ำใจ" ที่พี่น้องคนไทยควรช่วยเหลือกันในเวลาที่พี่น้องชาวไทยต้องประสบกับภัยธรรมชาติเช่นนี้ และเราเชื่อว่า "น้ำใจ" ก็จะช่วยให้เหตุการณ์ทุกอย่างได้รับการแก้ไขและผ่านความทุกข์ยากที่เกิดจากภัยธรรมชาติไปด้วยกัน

 pageview  1204462    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved