Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 11/08/2560 ]
สร้างสังคมไทยปลอดควัน สานฝันไทยแลนด์ 4.0


สร้างสังคมไทยปลอดควัน สานฝันไทยแลนด์ 4.0 พิษภัยจากบุหรี่เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ ถ้าเอ่ยแบบนี้ไม่ได้เกินจริง เพราะสังคมที่เต็มไปด้วยนักสูบนำมาซึ่งภาระด้านค่ารักษาพยาบาล ทำให้ผู้คนเสียชีวิตก่อนวัยอันควร มีการศึกษาพบว่าเด็กเสพติดบุหรี่เพิ่มขึ้นทั้งที่พวกเขาจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ
          สารพัดปัญหาที่ยาสูบฝากไว้บั่นทอนสังคม กระทบการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยในเวลานี้ที่กำลังก้าวเข้าสู่โมเดล "ไทยแลนด์ 4.0" หวังขับเคลื่อนประเทศให้มั่งคั่ง มั่นคงและยั่งยืน แต่การพัฒนาคงสำเร็จได้ยากหากสังคมไทยยังเต็มไปด้วยควันบุหรี่
          จากการประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 เรื่อง "บุหรี่ : ภัยคุกคามต่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" จัดโดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แนวทางรณรงค์ป้องกันพิษภัยจากบุหรี่ได้ถูกนำเสนอผ่านเวทีนี้ในหลากหลายแง่มุมและควรผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรม
          นพ.สุเทพ เพชรมาก รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แสดงทัศนะน่าสนใจว่า ถ้าเราสามารถควบคุมและลดปริมาณการใช้ยาสูบให้ได้มากที่สุด ค่าเฉลี่ยอายุของคนไทยจะเพิ่มขึ้นอีก 10 ปี จากเดิม 75 ปี เป็น 85 ปี โดยพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 ซึ่งมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมการบริโภคยาสูบอย่างได้ผล
          สำหรับ สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เผยว่า กำหนดการห้ามขายผลิตภัณฑ์ยาสูบแก่เด็ก ซึ่งมีอายุต่ำกว่า 20 ปี จากเดิม 18 ปี ห้ามแบ่งขายบุหรี่และห้ามธุรกิจยาสูบทำกิจกรรมสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมให้การสนับสนุนทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน
          "กฎหมายฉบับนี้ยังมีการขยายบทนิยามให้มีความหมายกว้างขึ้น เพื่อให้สามารถควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบในรูปแบบใหม่ๆ ที่มีสารนิโคตินเป็นส่วนประกอบ เช่น บารากู่และบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงกลยุทธ์ทางการตลาดในการเพิ่มจำนวนนักสูบหน้าใหม่ ส่วนผู้ฝ่าฝืนสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท จากเดิม 2,000 บาท" นพ.สุเทพให้ข้อมูลชัดๆ
          ในการรณรงค์ส่งเสริมและลดปัจจัยเสี่ยงสู่สังคมไร้ควันนั้น สสส.เป็นหน่วยงานสำคัญที่มุ่งหวังเห็นคนไทยมีสุขภาพดี ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาลรองผู้จัดการกองทุน สสส.และผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก พูดถึงบทบาทของ สสส.กับการมีส่วนร่วมสร้างสังคมไทยปลอดบุหรี่ว่า ข้อมูลล่าสุดปี พ.ศ.2558 พบว่า คนไทยสูบบุหรี่อยู่ถึง 11 ล้านคน โดยบุหรี่ทำให้เกิดโรคมะเร็งถึง 12 ชนิด รวมถึงโรคหัวใจ โรคเส้นเลือดในสมอง โรคถุงลมโป่งพองและเบาหวาน บุหรี่ยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยถึงปีละ 50,000 คน ผู้ที่เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่เฉลี่ยแล้วอายุจะสั้นลง 12 ปี และยังป่วยหนัก 2.5 ปีก่อนจะเสียชีวิต
          75,000 ล้านบาท เป็นตัวเลขมูลค่าทางเศรษฐ ศาสตร์ที่ประเทศไทยสูญเสียจากการสูบบุหรี่ นี่คือเสียงสะท้อนจาก ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก ส่วนภัยคุกคามต่อความยั่งยืนนั้น ดร.นพ.บัณฑิตระบุชัดว่า บุหรี่กำลังจะทำลายเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของชาติ โดยจากการสำรวจในปี พ.ศ.2557 พบว่ามีเยาวชนถึง 200,000 คน เป็นนักสูบหน้าใหม่ หรือคิดเป็น 547 คนต่อวัน และที่สำคัญคือเด็กที่สูบบุหรี่ 7 ใน 10 คน จะเสพติดบุหรี่ไปตลอดชีวิต บุหรี่จึงเป็นภัยคุกคามต่อการพัฒนาประเทศไทยอย่างแท้จริง
          เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน พิชิตได้หากควบคุมการเติบโตของบุหรี่ ในทัศนะ ดร.นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ผอ.แผนกโรคไม่ติดต่อและอนามัยสิ่งแวดล้อม องค์กรอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียใต้-ตะวันออก เล่าให้ฟังว่า การควบคุมบุหรี่เกี่ยวข้องกับทุกเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) หรือ SDG ซึ่งกระบวนการนี้ต้องถูกขับเคลื่อนโดยทุกภาคส่วนภายในประเทศ ขณะที่ภาพรวมการควบคุมบุหรี่ไม่ได้มีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ไม่ได้มีผลต่อการจ้างงาน และไม่ได้ทำร้ายคนจนอย่างที่บริษัทบุหรี่กล่าวอ้าง ถ้าประเทศไทยขึ้นราคาบุหรี่อีก 50 เปอร์เซ็นต์ คนจนจะจ่ายเงินเพิ่มขึ้น 6 เปอร์เซ็นต์ แต่ 60 เปอร์เซ็นต์ของชีวิตที่รักษาไว้ได้จะอยู่ในคนจน
          "ประเทศไทยสูญเสียคนวัยทำงานไปถึงปีละกว่า 30,000 คน ภาระค่ารักษาพยาบาลโดยรวมมีมูลค่าสูงกว่ามูลค่าภาษีที่จัดเก็บได้ การเพาะปลูกยาสูบยังก่อปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งคุณภาพของดิน น้ำ อากาศและการทำลายป่า บุหรี่ยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการแก้ปัญหาความยากจน ขณะที่ค่าใช้จ่ายและต้นทุนต่างๆ ไม่ได้ถูกแบกรับจากผู้ที่สูบบุหรี่ แต่เป็นสังคมโดยรวมที่ต้องแบกรับต้นทุนในส่วนนี้ร่วมกัน รายได้ภาษีที่มาจากยาสูบจึงเป็นสิ่งที่ได้ไม่คุ้มเสีย เมื่อเทียบกับผลกระทบระยะยาวที่ยาสูบทิ้งไว้ให้กับสังคมไทย โดยเฉพาะการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร" ดร.นพ.ทักษพลฝากทิ้งท้าย
          คงปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกภาคส่วนต้องร่วมกันสร้างความเข้มแข็งในการควบคุมการบริโภคยาสูบ เพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมปลอดบุหรี่พร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยยุค 4.0 ไปสู่ความมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืนต่อไป.
          "ไทยสูญเสียคนวัยทำงานถึงปีละกว่า 30,000 คน ภาระค่ารักษาพยาบาลมีมูลค่าสูงกว่ามูลค่าภาษีที่จัดเก็บได้ การเพาะปลูกยาสูบยังก่อปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม บุหรี่เป็นอุปสรรคแก้ความยากจน"

 pageview  1204381    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved