Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 09/08/2560 ]
ชี้บัตรทองช่วยได้-ต้องไม่มากเกินจำเป็น

  เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม นายณัฏฐ์ หงษ์ดิลกกุล นักศึกษาปริญญาเอก คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยไซมอน เฟรเซอร์ ประเทศแคนาดา และเป็นผู้ทำวิจัยเรื่อง Welfare Analysis of the Universal Health Care Program in Thailand ให้ความเห็นถึงผลกระทบหลังจากมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งบางส่วนได้วิพากษ์วิจารณ์ว่าทำให้ผู้ป่วยมารับบริการมากเกินจำเป็น (overutilization) เปิดเผยว่า ต้องแยกเป็น 2 ประเด็น คือ 1.ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทำให้คนใช้บริการสาธารณสุขมากขึ้นหรือไม่ และ 2.ถ้าคนใช้บริการมากขึ้นจริง จะเป็นผลดีหรือไม่ดี
          "ในประเด็นที่ว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทำให้คนใช้บริการสาธารณสุขมากขึ้นหรือไม่นั้น มีหลักฐานจากงานของ Gruber, Hendren and Townsend (2014) และงานของ Limwattananon et al (2015) ยืนยันว่าโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทำให้คนใช้บริการมากขึ้นจริง อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาในประเด็นว่าการที่คนมาใช้บริการมากขึ้นเป็นเรื่องที่ดีหรือไม่นั้น ต้องแยกอีกว่าเป็นกรณีที่คนใช้บริการมากขึ้นจากที่สมัยก่อนคนไม่มีโอกาสเข้าถึงบริการเลยใช้บริการน้อยเกินไปและ 30 บาท ทำให้คนมีโอกาสใช้บริการสาธารณสุขมากขึ้น หรือเป็นกรณีที่คนได้รับบริการพอเพียงอยู่แล้วแต่ 30 บาท ทำให้คนใช้บริการสาธารณสุขมากเกินไป" นายณัฏฐ์กล่าว
          นายณัฏฐ์กล่าวอีกว่า สมัยก่อนคนเจ็บป่วยก็ทน ไม่ไปหาหมอ รอจนเจ็บหนัก กว่าจะถึงมือหมอก็ร่อแร่ หรือมันเป็นเพราะว่าคนได้รับบริการสาธารณสุขเพียงพออยู่แล้ว และระบบหลักประกันสุขภาพทำให้คนใช้บริการเกินจำเป็น เช่น ทำให้คนไปนอนเล่นฟรีๆ ที่โรงพยาบาล ถ้าเป็นกรณีแรก การที่มีคนมารับบริการเพิ่มขึ้นก็น่าจะดี แต่กรณีหลังก็ไม่น่าจะดี
          "ทีนี้มันจะเป็นกรณีไหน ก็ต้องไปวัดกันที่ผลของโครงการนี้ต่อดัชนีชี้วัดทางสุขภาพของคนไทย ซึ่งถ้าเป็นกรณีที่ทำให้คนไม่มีโอกาสเข้าถึงบริการ สามารถเข้ามารับการรักษามากอื่น ก็ต้องมีหลักฐานว่าโครงการนี้ทำให้ดัชนีชี้วัดด้านสุขภาพดีขึ้นแบบเห็นได้ชัด แต่ถ้าเป็นกรณีว่าทำให้เกิดการรับบริการเกินจำเป็น อันนี้น่าจะดูได้จากการที่ว่าจำนวนการรับบริการเพิ่มแต่ดัชนี้ชี้วัดด้านสุขภาพไม่ได้ดีขึ้นตาม" นายณัฏฐ์กล่าว
          นายณัฏฐ์กล่าวว่า หากพิจารณาตามเหตุผลข้างต้น มีหลักฐานที่ชี้คำตอบอยู่แล้วจากงานวิจัยของ Gruber, Hendren and Townsend (2014) ซึ่งพบว่าโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทำให้อัตราการตายของเด็กและทารกลดลง 13%-30% เมื่อเปรียบเทียบระยะเวลาหนึ่งปีระหว่างก่อนและหลังการเริ่มโครงการ และอายุขัยของคนไทยก็เพิ่มขึ้นชัด หลังมีโครงการนี้ ดังนั้น จึงสรุปว่าการที่มีจำนวนผู้รับบริการเพิ่มขึ้นนั้น น่าจะเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำเพราะโครงการนี้ทำให้คนที่เคยเข้าไม่ถึงบริการทางสาธารณสุขสามารถเข้าถึงบริการได้
          นายณัฏฐ์กล่าวอีกว่า ยังมีประเด็นเรื่องการร่วมจ่าย (copayment) ซึ่งมีการเสนอแนวคิดขึ้นมาเป็นระยะๆ ให้มีการร่วมจ่ายในระบบหลักประกันสุขภาพ ซึ่งส่วนตัวคัดค้านแนวคิดนี้เนื่องจากประโยชน์ทั้งหมดของโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาจากทางด้าน consumption smoothing ซึ่งปิดโอกาสที่คนจะต้องจ่ายค่ารักษาก้อนใหญ่กรณีที่ป่วยเป็นโรคแพงๆ แบบไม่คาดฝัน
          นายณัฏฐ์กล่าวว่า งานวิจัยที่ทำพบว่า 30 บาท ไม่ได้ทำให้ค่ารักษาจากกระเป๋าตัวเองหากวัดจากค่าเฉลี่ย แต่หากไปโดยที่ percentile แล้ว ค่ารักษาที่ percentile ที่สูงจะลดลงมาก เช่นที่ 90th percentile  ลดลงไป 40% สำหรับกรณีผู้ป่วยใน เพราะโครงการนี้ไปลดโอกาสที่จะจ่ายหนักๆ จนหมดตัว จุดนี้คือประโยชน์ที่สำคัญที่สุดของโครงการ ด้วยเหตุนี้ หากให้คนไข้ต้องร่วมจ่ายกรณีโรคราคาแพง อาทิ โรคมะเร็ง เท่ากับว่าเอาจุดดีที่สุดของระบบหลักประกันสุขภาพออกไป กลายเป็นว่าถ้าโชคร้ายเป็นมะเร็งขึ้นมาต้องจ่ายหนัก การที่เปิดโอกาสให้จ่ายหนักกรณีที่โชคร้ายเช่นนี้ คือการเอาประโยชน์ด้าน consumption smoothing ออกไป
          "ผมคิดว่าควรทำให้ break even โดยการขึ้น fixed payment จาก 30 บาท เป็น 100 บาท หรืออะไรอย่างอื่นแล้ว cap ค่ารักษาในกรณีโรคแพงไว้เหมือนเดิมก็ยังจะดีกว่าจะให้ร่วมจ่าย เพราะยังรักษาประโยชน์จาก consumption smoothing ไว้ครับ" นายณัฏฐ์กล่าว

 pageview  1204270    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved