Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 03/08/2560 ]
การเข้าถึง การดูแลรักษามะเร็งถ้วนหน้า Universal health coverage

การดูแลสุขภาพถ้วนหน้า หรือ Universal health coverage (UHC) คือการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ ทั้งในด้านการป้องกัน การรักษา การฟื้นฟู ในราคาที่จ่ายได้ ไม่เป็นภาระแก่ผู้ป่วย ในโลกนี้มีเพียง 56 ประเทศ จาก 196 ประเทศเท่านั้น ที่ได้ออกกฎหมายให้มีการดูแลสุขภาพถ้วนหน้าแก่ประชากรของตน ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่ง ที่กล้าประกาศให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแก่คนไทย มาตั้งแต่ พ.ศ.2545
          มะเร็งเป็นโรคที่มีความสำคัญระดับโลก เป็นสาเหตุของความเจ็บป่วย และความตาย ที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของมนุษย์ เราไม่สามารถป้องกันหรือรักษามะเร็งได้ทุกชนิด แต่มะเร็งบางอย่างก็ป้องกันได้ และถ้ารักษาแต่เนิ่นๆ จะสามารถหายขาดได้ เราสามารถระดมสรรพกำลังเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็ง เพื่อควบคุม"มะเร็งที่ควบคุมได้" ลดเพื่อการตายก่อนวัยอันควร การทำให้ผู้คนเข้าถึงการตรวจรักษามะเร็งจึงเป็นเรื่องสำคัญระดับนานาชาติ โดยองค์กรต่อต้านมะเร็งนานาชาติ UICC (International union for cancer control) และเป็นที่ยอมรับแล้วในสมัชชาโลกด้านสาธารณสุข World health assembly
          นพ.เรนคสวามี ศังกรานารายณัน ที่ปรึกษาพิเศษด้านการควบคุมมะเร็ง และหัวหน้าฝ่ายตรวจกองมะเร็ง ขององค์กรนานาชาติเพื่อการวิจัยมะเร็ง แห่งองค์การอนามัยโลก (IARC, WHO) ได้กล่าวชื่นชมประเทศไทย ในการประชุมนานาชาติด้านมะเร็ง World cancer congress 2016 ของ UICC ว่า ประเทศไทยเป็นตัวอย่างที่ยอดเยี่ยม สำหรับประเทศรายได้ปานกลาง ในการทำให้ประชากรเข้าถึงการดูแลมะเร็งอย่างทั่วถึง เป็นตัวอย่างที่สมควรศึกษาว่าประเทศไทยทำได้อย่างไร?
          เป็นที่รู้กันในระดับนานาชาติว่าประเทศไทยมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยที่มีงบประมาณด้านสาธารณสุขเพียง 17% ของงบประมาณแห่งชาติ คือ ประมาณ 5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ประชาชนไทยเข้าถึงการดูแลป้องกัน ตรวจกรองหามะเร็ง รักษามะเร็ง และการดูแลประคับประคอง โดยไม่ต้องเสีย ค่าใช้จ่าย
          ประเทศไทยเก็บ "ภาษีบาป" เพิ่มอีก 2% ของราคาขายบุหรี่และเหล้าได้กว่าปีละห้าหมื่นล้านบาทเพื่อเข้ากองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ รัฐบาลให้วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี และเอชพีวีหรือวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกฟรี และรักษามะเร็งฟรี โดยใช้งบประมาณเพียง 6% ของงบสุขภาพถ้วนหน้า หรือประมาณ 6 พันล้านบาทต่อปี
          องค์การอนามัยโลกวิเคราะห์ว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จ โดยการบริหารที่มีประสิทธิภาพหลายประการ ประเทศไทยมีการเก็บสถิติมะเร็งที่เชื่อถือได้ในระดับโลก โดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านสถิติมะเร็งโดยเฉพาะมากกว่า 15 ปี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง ได้ร่วมกันตกลงว่าการรักษาสูตรยาใดบ้างที่สำคัญและจำเป็น ออกมาเป็นมาตรฐานการรักษาของมะเร็งสำคัญที่สุด 12 ชนิด เพื่อให้การรักษาดีที่สุดเหมือนกันทั้งประเทศภายใต้งบประมาณที่จำกัด ส่วนการจัดหายารักษามะเร็ง ทำโดยการเจรจาต่อรองยามะเร็งที่มีราคาแพงแบบรวมศูนย์ (central bargaining) แล้วให้แต่ละโรงพยาบาลจัดซื้อ (local purchasing) ตามราคาที่ได้ต่อรองไว้ให้
          การคัดเลือกยามะเร็งที่จำเป็น ทำโดยผ่านการประเมินเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขโดยหน่วยงานเชี่ยวชาญเฉพาะคือ HITAP หรือโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ เพื่อประเมินราคาที่คุ้มค่าในบริบทของประเทศไทย และผลการวิจัยนั้นใช้เป็นฐานในการต่อรองรับบริษัทยาข้ามชาติ ตัวอย่างเช่น ยาออกซาลิแพลติน ซึ่งมีราคาขายในตลาดโลกขวดละ 8,000 บาท HITAP ได้ทำการวิจัยและประเมินว่าจะคุ้มค่าก็ต่อเมื่อ ระบบสาธารณสุขจ่ายในราคาขวดละ 5,000 บาท รัฐบาลไทยสามารถต่อรองกับบริษัทยาได้ในราคาขวดละ 2,500 บาท ซึ่งเป็นราคาที่รับได้ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งมีงบประมาณจำกัด
          ในกรณีที่ต่อรองไม่สำเร็จ ซึ่งเป็นยามะเร็งเพียง 4 ชนิด รัฐบาลไทยกล้าหาญที่จะใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (CL, compulsory licensing) เพื่อให้สามารถจัดหายารักษามะเร็ง ที่ผู้เชี่ยวชาญเห็นพ้องกันแล้วว่าเป็นยาสำคัญและจำเป็น ให้ได้มาในราคาที่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ารับได้ ซึ่งเป็นไปตามสนธิสัญญา TRIPS ข้อ 31B ตามมาตรฐานนานาชาติ
          ประเทศไทยมีการพัฒนาทางสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง ทำให้ ผู้ป่วยเข้าถึงการบริการแพทย์อย่างถ้วนหน้า ในปัจจุบัน ผู้เข้ารับบริการส่วนใหญ่ได้รับการดูแลใกล้บ้าน คือในศูนย์อนามัยชุมชน และโดยอัตราการมาโรงพยาบาลใหญ่มิได้เปลี่ยนแปลงมากในช่วง 15 ปีหลัง (ตารางที่ 1) บัดนี้ผู้ป่วยมะเร็งสามารถเข้าถึงบริการมะเร็งผ่านทาง สถาบันมะเร็ง 1 แห่ง และโรงพยาบาลเฉพาะทางมะเร็ง 6 แห่งในแต่ละภาค โรงพยาบาลที่มีการฉายรังสี รวม 22 แห่ง โรงพยาบาลที่สามารถวินิจฉัยมะเร็ง ผ่าตัดมะเร็ง ให้ยาเคมีบำบัด รวม 645 แห่ง
          และโรงพยาบาลที่ให้การดูแลประคับประคอง 549 แห่ง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
          อัตราตายจากมะเร็งของคนไทยคือ 104 รายต่อประชากรแสนคนต่อปี เป็นอันดับที่ 91 ของโลกในขณะที่คนอังกฤษมีอัตราตายจากมะเร็ง 140 รายต่อประชากรแสนคนต่อปี อันดับ 14 ของโลกทั้งที่ใช้งบประมาณในการรักษามะเร็งถ้วนหน้าสูงถึง 5,800 ล้านปอนด์ หรือ 2.5 แสนล้านบาทต่อปี สำหรับจำนวนประชากรที่ใกล้เคียงกัน คือ 65 ล้านคน แต่เราใช้เงินน้อยกว่าเกือบ 40 เท่า
          เราจึงควรภูมิใจได้ว่า วงการแพทย์และสาธารณสุขไทย มีประสิทธิภาพ คือถูกและดีกว่าหลายประเทศในโลก เรามีทรัพยากรน้อยก็จริง และการบริการนั้นยังไกลจากความสมบูรณ์แบบ แต่ด้วยจิตวิญญาณแห่งการบริการของบุคลากร วิสัยทัศน์และความสามารถของผู้บริหารในวงการสาธารณสุขไทยอย่างต่อเนื่อง คนไทยสามารถเข้าถึงบริการที่ดีมาก เมื่อเทียบกับทรัพยากรที่เรามีควรแก่การยกย่องเป็นตัวอย่างของโลก อย่างน้อยก็ในวงการมะเร็ง
          โลกจะยังคงพัฒนาไปอีกมาก ยาใหม่จะแพงขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเราไม่ตั้งหลักให้ดี เราคงจะหมดเงินมากขึ้นเรื่อยๆ ไปกับการรักษาโรคมะเร็งที่รักษาไม่หาย โรคมะเร็งไม่เหมือนโรคอื่น ผู้ป่วยมีเวลาที่ไม่แน่นอน เราสามารถเลือกใช้พุทธวิถีในการรักษามะเร็ง คือรักษาเฉพาะผู้ที่รักษาหายได้
          แต่สำหรับมะเร็งที่รักษายากนั้น แทนที่จะจ่ายเงินที่หาได้ทั้งชีวิตกับการรักษาช่วงสุดท้าย เขาพึงมีทางเลือกที่จะใช้ชีวิตกับมะเร็งอย่างสันติเช่นกัน

 pageview  1205140    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved