Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 17/07/2560 ]
รู้จักภาวะ Burnout Syndrome

 คนกรุงเทพฯ ติดอันดับ 5 จาก 71 เมือง ที่มีชั่วโมงการทำงานมากที่สุด โดยทำงานมากถึง 42.13 ชม.ต่อสัปดาห์ทำให้ชีวิตส่วนตัวและเวลาพักผ่อนน้อยลงจนเกิดภาวะ "Burnout Syndrome"
          นพ.สิทธวีร์ เกียรติชวนันต์ ผู้เชี่ยวชาญ ด้านหู  คอ จมูก และเวชศาสตร์ชะลอวัย ให้ข้อมูลว่า Burnout Syndrome เป็นโรคทางร่างกายและจิตใจชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากการทำงานหนัก มากเกินไปจนหมดพลัง เพราะเสียสมดุลระหว่างเรื่องงานและ การใช้ชีวิตส่วนตัว ทำให้เกิดอาการสมองไม่เล่น ความจำไม่ดี มีอาการนอนไม่หลับ ขาดความกระตือรือร้นในการทำงาน และรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสุขกับการทำงาน หากปล่อยทิ้งไว้จะทำให้เกิดโรคทางกาย เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคทางจิต เช่น โรคประสาทเครียด และโรคซึมเศร้าตามมาได้
          สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อรางกายเริ่มมีภาวะ Burout Sydrome แล้วปล่อยให้เรื้อรัง ไม่รีบดึงร่างกย และจิตใจ ให้กลับมาอยู่ในภาวะสมดุลตามธรรมชาติ สุดท้ายจะหาทางออกด้วยการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป สูบบุหรี่จัดกินมากกว่าปกติและพึ่งการใช้ยานอนหลับ
          พฤติกรรมเหล่านี้จะส่งผลให้ร่างกายเกิด "ความเสื่อม" เพราะมีสารอนุมูลอิสระเข้าสู่ร่างกายมากเกินไปจนเกินความสามารถของสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกายจะขจัดหมด หรือทำให้ปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกายลดลง เมื่อเซลล์เสื่อมจึงทำให้อวัยวะทั้งหลายทำงานมีประสิทธิภาพลดลง ในที่สุดร่างกายก็จะเสื่อมตาม ทำให้ความแก่และโรคภัยต่างๆ มาเยือนได้ง่ายขึ้น เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดแดงแข็ง โรคไต โรคตับ เป็นต้น จึงไม่แปลกที่ทุกวันนี้เราจะเห็นคนที่ยังมีอายุน้อยแต่มีปัญหาสุขภาพต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างมาก
          สำหรับวิธีป้องกันตัวเองจากภาวะ Burnout Syndrome คือ
          1. จัดระเบียบให้ชีวิต จัดสรรเวลาทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัวให้ลงตัว และรู้จักการแบ่งเวลาทั้งเรื่องงาน ครอบครัว เพื่อนฝูง และเวลาสำหรับการพักผ่อนส่วนตัว ให้ชัดเจน เช่น เวลาทำงาน 1 ชม. ควรใช้สมอง 45 นาทีแล้วพัก 10-15 นาที หมุนเวียนทุกชั่วโมง หรือเมื่อทำงาน 5 วันแล้ว ควรพักสัก 2 วัน ไม่ใช่ทำงานตลอดทั้ง 7 วัน
          2. ลดการใช้โทรศัพท์และโซเชียลมีเดีย เมื่อถึงเวลาพักผ่อนควรงดใช้โทรศัพท์ และโซเชียลมีเดียทั้งหมด หากกังวลอยู่กับการใช้โซเชียลมีเดียหรือเช็กอีเมล อยู่ตลอดเวลาก็จะทำให้เวลาพักผ่อนน้อยลง แถมจะทำให้เกิดความเครียดในเวลาพักผ่อนอีกด้วย
          3. เลือกอาหารต้านอนุมูลอิสระ สารต้านอนุมูล อิสระสามารถสร้างได้หากรู้จักเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ และอาหารที่ช่วยเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระ ได้ดี เช่น อาหารที่ใช้วิตามินซีอย่าง ฝรั่ง ส้ม มะขามป้อม ส่วนวิตามินเอและแคโรทีนอยด์ มีมากในพืชผักที่มีสีเขียวเข้มและผลไม้ที่มีสีเหลืองส้ม
          นพ.สิทธวีร์กล่าวทิ้งท้ายว่า การขยันทำงานเป็นเรื่องดี แต่ต้องไม่ลืมว่า "งาน" ไม่ได้เป็นทุกอย่างของชีวิต หากต้องทำงานหนักจนสุขภาพเสื่อมโทรม ทำให้ต้องใช้เงินทั้งหมดที่หามาได้ไปกับการรักษาตัวเองเมื่อล้มป่วย คงไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนปรารถนา ดังนั้น เมื่อทำงานอย่างเต็มที่แล้วอย่าลืมพักผ่อน และให้รางวัลชีวิตแก่ตนเองด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการรักษาต้นทุนชีวิตของเรานั่นเอง และเมื่อสุขภาพกายแข็งแรง สมองปลอดโปร่ง ก็จะก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน มากขึ้นอย่างแน่นอน

 pageview  1204512    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved