Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 24/04/2560 ]
สธ.แนะ อย่าละเลย 9 พฤติกรรมสัญญาณเตือนภัย'โรคซึมเศร้า'

 นอกเหนือจากอาการเจ็บป่วยทางร่างกายแล้ว การเจ็บป่วยจากภายในที่มีสาเหตุมาจากความเครียดก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อชีวิตไม่แพ้กัน โดยเฉพาะ "โรคซึมเศร้า" ที่อยู่ใกล้เรามากกว่าที่คิด เนื่องจากสภาพแวดล้อมในปัจจุบันมีปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ง่ายขึ้นจากไลฟ์สไตล์แบบสังคมเมืองที่เต็มไปด้วยการแข่งขันทางเศรษฐกิจและวิถีชีวิตที่เร่งรีบ เสี่ยงต่อการนำไปสู่ความผิดหวังในชีวิต หรือการเจ็บป่วยร่างกายที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อจิตใจ ยิ่งกว่านั้น ข้อมูลทางการแพทย์ยังชี้ให้เห็นว่า การถ่ายทอดทางพันธุกรรมก็เป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดโรคซึมเศร้าอีกด้วย ดังนั้น หากไม่ทำความเข้าใจโรคซึมเศร้าอย่างถ่องแท้ การรับมือกับโรคร้ายที่คุกคามประชากรกว่า 300 ล้านทั่วโลกในขณะนี้ ก็คงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก
          นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคซึมเศร้าเป็นภัยเงียบที่คุกคามสุขภาพของประชาชน แต่สามารถป้องกันและรักษาได้ หากมีความรู้ความเข้าใจสาเหตุและอาการของโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวและชุมชนที่ต้องช่วยเหลือ รับฟัง และทำความเข้าใจ เพื่อให้ผู้ป่วยเอาชนะโรคซึมเศร้า ผู้ที่มีบทบาท คือ กระทรวงสาธารณสุขได้เผยแพร่แนวทางทางแก้ไขปัญหาโรคซึมเศร้าที่ประกอบด้วย 5 มาตรการสำคัญ เริ่มจาก ประการแรกลดอคติ สร้างความตระหนัก สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ประการที่ 2 ลดการเกิดโรคในผู้ที่เสี่ยงโดยค้นหาและป้องกัน ประการที่ 3 ลดระยะเวลาและความรุนแรงโรค ประการที่ 4 ป้องกันการฆ่าตัวตาย และประการสุดท้าย ป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ โดยสังเกตจากสัญญาณบอกเหตุของโรคซึมเศร้ามี 9 ข้อ ได้แก่ 1.ซึมเศร้า หงุดหงิด ก้าวร้าว 2.ขาดความสนใจสิ่งรอบข้าง 3.ไม่มีสมาธิ 4.อ่อนเพลีย 5.เชื่องช้า 6.รับประทานอาหารมากขึ้นหรือน้อยลง 7.นอนมากขึ้นหรือน้อยลงจนผิดปกติ 8.ตำหนิ ตัวเอง และ 9.พยายามฆ่าตัวตาย หากพบว่า ตนเองหรือคนใกล้ตัวมีอาการเหล่านี้เกินกว่า 5 ข้อ และมีอาการติดต่อกันนาน 2 สัปดาห์ ให้สงสัยได้เลยว่า อาจป่วยเป็นโรคซึมเศร้า
          ด้าน น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ภาวะซึมเศร้า เป็นความเจ็บป่วย ไม่ใช่ความอ่อนแอทางจิตใจ โดยทั่วไปผู้ป่วยจะมีความรู้สึกไม่สบายใจ ทุกข์ใจ เศร้า ท้อแท้ ซึม เบื่อ ไม่อยากพูดหรือปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวัน หากไม่รีบรักษาอาการจะรุนแรงขึ้น จากการศึกษาวิจัยสรุปได้ว่า ภาวะซึมเศร้าเกิดจากความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง ส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม โดยมีความเครียดทางสังคมเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรค ส่วนผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงโรคซึมเศร้า คือ ผู้ป่วยโรคทางกายเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง  โรคเบาหวาน โรคไตวายเรื้อรัง โรคมะเร็ง หญิงตั้งครรภ์หลังคลอด  ผู้สูงอายุ ผู้ที่ติดสุราและสารเสพติด และผู้ที่สูญเสียคนที่รักหรือสิ่งของที่รัก
          อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้ย้ำว่า โรคซึมเศร้า ป้องกันได้  เริ่มจากพาผู้ ที่มีความเสี่ยงเข้าร่วมกิจกรรมในชุมชน พยายามอย่าให้บุคคลเหล่านี้นึกถึงสิ่งบั่นทอนจิตใจ หากมีอาการมาก เช่น บอกไม่อยากมีชีวิตอยู่ หรืออยากทำร้ายตนเอง อย่าปล่อยให้อยู่คนเดียว ควรดูแลช่วยเหลืออย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง เก็บสิ่งที่อาจเป็นอันตรายไม่ให้มีในบ้าน เช่น เชือก ของมีคม อาวุธปืน ยาปราบศัตรูพืช ยาฆ่าแมลง หรือยาอันตรายต่างๆ
          ส่วนผู้ที่พบว่าตนเองมีความเสี่ยง สามารถหาวิธีการคลายเครียดได้โดยการเข้าพบแพทย์หรือจิตแพทย์  และทำตามที่แพทย์ผู้ดูแลอาการสั่งอย่างเคร่งครัด รวมทั้งดูแลการกิน การนอนให้เป็นเวลา ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หากทำแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น แนะนำให้เข้ารับบริการที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน หรือปรึกษาสายด่วนของกรมสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง

 pageview  1204481    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved