Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 20/04/2555 ]
ภูเก็ตแจ้งบ้านพัง200หลัง เตือนอีก2จว. เฝ้าระวัง'พังงา-ระนอง'ถลางอ่วมไหวซ้ำ5รอบ ทีมแพทย์ชี้ผวาทั้งเกาะ

'กทม.'ห่วงแผ่นดินไหวเขย่าอาคาร 5 ชั้น-บ้านทีมแพทย์ชี้ผวาทั้งเกาะการเคหะฯ เขย่า'ภูเก็ต' 3 วัน 15 ครั้ง ทธ.เผยอาฟเตอร์ช็อกอีก 1 สัปดาห์ แห่แจ้งบ้านเสียหายกว่า 200 ราย
          3วันเขย่าภูเก็ต15ครั้ง
          เหตุการณ์แผ่นไหวเกิดขึ้นในพื้นที่ จ.ภูเก็ตต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 เกิดติดต่อกันถึง 15 ครั้ง โดยเมื่อวันที่ 18 เมษายน สำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานการเกิดแผ่นดินไหวใน จ.ภูเก็ต ว่า ตั้งแต่วันที่ 16-18 เมษายนเกิดขึ้นทั้งสิ้น 15 ครั้ง เริ่มจากวันที่ 16 เมษายนเวลา 16.44 น.เกิดแผ่นดินไหว บริเวณต.ศรีสุนทร อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ขนาด 4.3 ริกเตอร์เวลา 20.30 น. วัดได้ 2.7 ริกเตอร์ เวลา 21.17 น. วัดได้ 2.6 ริกเตอร์ เวลา 23.01 น. วัดได้ 2.6 ริกเตอร์ เวลา 23.03 น. วัดได้ 2.7 ริกเตอร์ เวลา23.47 น. วัดได้ 2.1 ริกเตอร์ เกิดรวม 6 ครั้ง
          วันที่ 17 เมษายน เกิดแผ่นดินไหวอีก 5 ครั้งเริ่มตั้งแต่เวลา 01.00 น.วัดได้ 2.2 ริกเตอร์ เวลา02.02 น. วัดได้ 2.5 ริกเตอร์ เวลา 08.31 น.วัดได้ 2.3 ริกเตอร์ เวลา 12.18 น. วัดได้ 3.1 ริกเตอร์ เวลา 21.56 น.วัดได้ 2.0 ริกเตอร์ วันที่18 เมษายน เวลา 00.49 น. วัดได้ 2.6 ริกเตอร์เวลา 04.15 น. วัดได้ 3.2 ริกเตอร์ และเวลา04.19 น. วัดได้ 2.4 ริกเตอร์  เวลา 20:39 น.แผ่นดินไหว ขนาด 2.7 ริคเตอร์
          รองผู้ว่าฯสั่งเร่งซ่อมบ้าน
          วันเดียวกัน นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และคณะลงพื้นที่ต.ศรีสุนทร หารือร่วมกับนายวรวุฒิ ทรงยศนายกเทศมนตรีตำบลศรีสุนทร เพื่อวางแนวทางให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว
          นายจำเริญกล่าวว่า แนวทางการขับเคลื่อนของทางจังหวัดระยะเร่งด่วน จะต้องเข้าไปช่วยเหลือซ่อมแซมบ้านเรือนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวโดยเร็วเพราะมีประชาชนที่มาแจ้งความเดือดร้อนจำนวนมาก โดยเฉพาะกรณีบ้านเรือนที่มีรอยร้าวที่มีขนาดแตกต่างกันไป และปัจจุบันได้ร่วมกับทางเทศบาลตำบลศรีสุนทร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงไปตรวจสอบในพื้นที่ พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือซ่อมแซมบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย รวมทั้งเตรียมความพร้อมของหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และภาคประชาชน เตรียมรับมือบริหารจัดการที่ชัดเจน "ขณะเดียวกัน ยังให้ความสำคัญกับผลกระทบจากแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นกับอาคารสูง ทั้งที่เป็นอาคารของหน่วยงานราชการ อปท.และภาคเอกชน รวมทั้งให้ตรวจสอบและดูแลอาคารเก่า บริเวณย่านการค้าเมืองเก่าภูเก็ตอีกส่วนหนึ่งด้วย" นายจำเริญกล่าว และว่า จะกำหนดหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบ การกำหนดจุดอพยพ และการเข้าไปให้ความช่วยเหลือต่างๆ
          เผยแจ้งเสียหายกว่า200ราย
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เทศบาลตำบลศรีสุนทรจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังแผ่นดินไหว ต.ศรีสุนทรบนที่ทำการเทศบาลและมอบหมายงานให้เจ้าหน้าที่กองช่างเทศบาล และสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดภูเก็ต ตรวจสอบบ้านเรือนสิ่งปลูกสร้างต่างๆ เพื่อให้คำแนะนำว่า สมควรจะซ่อมแซมปรับปรุงอย่างไรบ้าง รวมทั้งการจัดเจ้าหน้าที่ไปประเมินราคาอีกส่วนหนึ่งด้วย หากงบประมาณของเทศบาลตำบลศรีสุนทรไม่เพียงพอ สามารถร้องขอรับการสนับสนุนงบประมาณฉุกเฉิน สำหรับพิบัติภัยจังหวัด ที่มีอำนาจสั่งจ่ายได้สูงถึง 50 ล้านบาทด้วย
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประชาชนมาแจ้งความเสียหายเพิ่มสูงขึ้นเป็น 200 กว่าราย เมื่อเปรียบเทียบกับวันที่ 17 เมษายน ที่มีเพียง 33-34 รายซึ่งเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบบ้านเรือนแต่ละหลังอย่างละเอียด
          ตั้งเครือข่ายแจ้งเตือนภัย
          ต่อมานายจำเริญ ประชุมร่วมกับ อปท.ทุกแห่งในจังหวัด รวมทั้งเครือข่ายโทรคมนาคมผู้นำชุมชน เครือข่ายสถานีวิทยุสมัครเล่นในพื้นที่จ.ภูเก็ต มูลนิธิกุศลธรรมภูเก็ต มูลนิธิร่วมใจกู้ภัยภูเก็ต และอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน ที่ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต เพื่อประชุมหารือจัดตั้งศูนย์วิทยุสื่อสารกลางของจังหวัดภูเก็ต ให้เป็นแม่ข่ายรายงานข้อเท็จจริง หรือสั่งการเกี่ยวกับปัญหาแผ่นดินไหวและภัยธรรมชาติอื่นๆ ไปยังอำเภอต่างๆ ในจังหวัดภูเก็ต และ อปท.ที่มีพื้นที่เสี่ยงภัย
          ทีมแพทย์ชี้ชาวบ้านมีอาการผวา
          วันเดียวกัน นพ.วีระ ชูรุจิพร ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 11 สุราษฎร์ธานี พร้อมทีมแพทย์ พบปะประชาชน ที่บ้านลิพอน-บางขามหมู่ที่ 2 ต.ศรีสุนทร อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ตเพื่อสอบถามข้อมูลและเพื่อปลอบขวัญ
          นพ.วีระกล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นประชาชนส่วนใหญ่มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นคล้ายคลึงกัน เช่น มีความตื่นตระหนกตกใจ บางคนนอนไม่หลับ มีอาการหวาดผวา ขณะเดียวกัน คนที่มีจิตใจเข้มแข็ง ก็ยืนยันกับทีมจิตแพทย์ว่ายังสามารถใช้ชีวิตตามปกติ โดยไม่รู้สึกหวั่นวิตกหรือตื่นตกใจแต่อย่างใด
          "โอกาสเดียวกันนี้เจ้าหน้าที่ยังสอดแทรกความรู้เกี่ยวกับแผ่นดินไหว เช่น การเกิดแผ่นดินไหวเกิดขึ้นได้อย่างไร พยายามอธิบายข้อมูลเชิงวิชาการอย่างง่ายๆ เพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจอย่างถูกต้อง จนถึงขณะนี้ยังไม่มีประชาชนต.ศรีสุนทร ไปขอรับยาจากโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตมารับประทานเพื่อคลายเครียดเลย"นพ.วีระกล่าว
          อาฟเตอร์ช็อกต่ออีก1สัปดาห์
          ด้านนายเลิศสิน รักษาสกุลวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักธรณีวิทยา สิ่งแวดล้อมและธรณีพิบัติภัยกรมทรัพยากรธรณี (ทธ.) กล่าวถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จ.ภูเก็ต ว่าจากที่มีการตรวจพบแผ่นดินไหวขนาด 3.2 ริกเตอร์ ในพื้นที่อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เมื่อช่วงเช้ามืดที่ผ่านมาเป็นกรณีอาฟเตอร์ช็อกของแผ่นดินไหวขนาด 7.3 ริกเตอร์ ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมาและจะมีอาฟเตอร์ช็อกต่อเนื่องไปอีกประมาณ 1 สัปดาห์ แนวทางการปฏิบัติตัวหากอยู่ในบ้านชั้นเดียว หรือ 2 ชั้น ให้ออกจากบ้านโดยทันที (อ่านรายละเอียด น.2)
          ด้านนายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ในส่วนของกรุงเทพมหานคร ไม่น่าวิตกกังวล เนื่องจากไม่ได้อยู่ในเขตรอยเลื่อน และอาคารสูงส่วนใหญ่มีโครงสร้างที่รับแผ่นดินไหวและแรงลม ยกเว้นอาคารระดับกลาง 4-5 ชั้น ที่ก่อสร้างมานานเช่น อาคารของการเคหะแห่งชาติ เพราะความเสื่อมของกำลังรับแรงแผ่นดินไหวจะลดลง แต่หากเกิดแผ่นดินไหวจริง ก็ไม่ถึงขั้นที่ตึกจะถล่มลงมา จะเกิดเพียงรอยร้าวของอาคารเท่านั้น(อ่านรายละเอียด น.2)
          ส่งทีมสุขภาพจิตดูแลชาวภูเก็ต
          ด้านนายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สั่งการให้โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ส่งทีมจิตแพทย์ นักจิตวิทยาพยาบาล 1 ทีม ลงพื้นที่ที่ ต.ศรีสุนทร เพื่อให้การดูแลประเมินผลกระทบด้านจิตใจประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบบ้านเรือนได้รับความเสียหายแตกร้าว เพื่อให้การดูแลอย่างเหมาะสมเนื่องจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นใหม่ และประชาชนส่วนใหญ่อยู่ในภาวะตื่นตระหนก (อ่านรายละเอียด น.2)ด้าน นพ.เจษฎา จงไพบูลย์วัฒนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต กล่าวว่า จากการตรวจสอบอาคารต่างๆ ของโรงพยาบาล ยังไม่มีความเสียหายจากแผ่นดินไหว ล่าสุด ได้ประชุมผู้บริหารโรงพยาบาล เพื่อทบทวนและปรับแผนการรับมือในภาวะฉุกเฉินของโรงพยาบาลที่มีอยู่ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และรองรับกรณีแผ่นดินไหวด้วย ทั้งเรื่องหน่วยกู้ชีพ การเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ระบบการส่งต่อผู้ป่วยทางเรือ ทางอากาศระบบการสื่อสาร การผ่าตัด คลังเลือด เวชภัณฑ์โรงพยาบาลสนาม และจัดซ้อมแผนในเร็วๆ นี้
          'ปภ.'ให้ภูเก็ตเป็นเขตภัยพิบัติ
          ด้านนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกล่าวว่า สั่งการให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประกาศให้ จ.ภูเก็ต เป็นเขตภัยพิบัติแล้ว เพื่อจะได้นำงบประมาณช่วยประชาชนได้ หลังจากนี้รัฐบาลจะดูแลอย่างครอบคลุม ทั้งมาตรการป้องกันเหตุ และการเยียวยาหลังเกิดเหตุ ทั้งหมดนี้จะทำอย่างเร่งด่วน ส่วนการเยียวยาค่าเสียหายหลังเกิดภัยพิบัตินั้น พิจารณาแล้วว่าค่าเสียหายทั้งหมดไม่มากมาย มีเพียงบ้านร้าวเล็กน้อย แต่ไม่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต หลังจากนี้ที่ต้องเร่งทำคือเรื่องการทำให้วัสดุก่อสร้างแข็งแรงขึ้นจุดใดที่เป็นโครงสร้างเก่า คงต้องให้วิศวกร หรือเทศบาลส่วนท้องถิ่นไปดู
          เมื่อถามถึงกรณีนักวิชาการออกมาระบุว่าอาจเกิดแผ่นดินไหวที่ จ.ภูเก็ตต่อเนื่อง นายยงยุทธกล่าวว่า นักวิชาการก็ใช้หลักวิชาการ และมีหลายสมมติฐาน บางกลุ่มบอกว่าการเคลื่อนแถวภูเก็ต หรือแถวภาคกลาง คงไม่มี หรือบางกลุ่มบอกว่าภูเก็ตอาจเกิดแผ่นดินไหวอย่างต่อเนื่องขอให้ประชาชนรับฟังกันไป ทั้งนี้ จังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังก็มีที่ จ.ภูเก็ต พังงา และระนอง ซึ่งอยู่ในฝั่งตะวันตก แต่คงไม่รุนแรงมาก อยากฝากถึงประชาชนว่าอย่าประมาทว่าจะไม่เกิดขึ้น แต่อย่าตื่นตระหนกมากนัก
          'มาร์ค'แนะกันภัยให้ครอบคลุม
          ด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงเหตุแผ่นดินไหวที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งบริษัทประกันภัยมีแนวโน้มปรับอัตราการประกันภัยว่า คิดว่าหลักตรงนี้ต้องดูว่าหากความเสี่ยงเปลี่ยนแปลงไป รัฐบาลควรไปดูการรับภาระอย่างไร เหมือนกับการตั้งกองทุนประกันภัยพิบัติน้ำท่วม ซึ่งต้องยอมรับว่ามีความเสี่ยงสูงขึ้นมาก อยากให้รัฐบาลทบทวนการประกันภัยพิบัติให้มีความครอบคลุม ตนอยากให้เร่งเข้าไปดูแลโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มมากขึ้น เพื่อหามาตรการรองรับความปลอดภัย
          ชี้อนาคตแผ่นดินไหวเกิดเพิ่ม
          ด้าน ดร.ไพบูลย์ นวลนิล นักแผ่นดินไหวคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตหาดใหญ่ กล่าวถึงปัญหาการเกิดแผ่นดินไหวที่ จ.ภูเก็ตว่า อัตราการเกิดแผ่นดินไหวในอนาคตเพิ่มขึ้น แต่เนื่องจากรอยเลื่อนระนองและรอยเลื่อนคลองมะรุ่ยยังไม่เคยมีแผ่นดินไหวขนาดรุนแรงเกิดขึ้นทั้ง 2 รอยเลื่อน สำหรับรอยเลื่อนระนองเคยเกิดขนาด 4.8 ริกเตอร์ เมื่อกันยายน 2549 ที่เกิดความเสียหายที่ อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ รอยเลื่อนคลองมะรุ่ยขนาดสูงสุดแผ่นดินไหวที่บันทึกได้มีขนาด 4.0 ริกเตอร์ ที่ จ.สุราษฎร์ธานี
          "ถึงแม้ว่าการเกิดแผ่นดินไหวจะเพิ่มขึ้น แต่ขนาดแผ่นดินไหวของ 2 รอยเลื่อนนี้จะอยู่ที่ 2-4 ริกเตอร์ ไม่ควรมีขนาดรุนแรงถึง 5-6 ริกเตอร์เพราะแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวในสุมาตราเหนือขนาด 8.2 ริกเตอร์ ส่งแรงสั่นสะเทือนไปกระตุ้น แต่ไม่ถึงกับทำให้รอยเลื่อนทั้ง2 ขยับตัวอย่างรุนแรง" ดร.ไพบูลย์กล่าว (อ่านรายละเอียด น.2)
          ด้าน ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ หัวหน้ากลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จ.ภูเก็ต กล่าวว่า การเกิดแผนดินไหวถือว่าเป็นภัยธรรมชาติที่ไม่ทราบล่วงหน้าจึงต้องหาทางในการรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซึ่งการทำลายธรรมชาติมีผลกระทบต่อการเกิดแผ่นดินไหวและภัยธรรมชาติอย่างแน่นอน และมาถึงเวลานี้คนไทยควรหันมาให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้มากขึ้นอย่างจริงจัง
          คนไทย-เอเชียหนีฝรั่งแห่เที่ยว
          ด้าน น.ส.ลดาวัลย์ ช่วยชาติ หัวหน้าศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยวจังหวัดพังงา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลังจากศูนย์เตือนภัยแห่งชาติ เตือนสึนามิในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน และยกเลิกการเตือน ต่อเนื่องด้วยการเกิดแผ่นดินไหวในจังหวัดภูเก็ตนั้น สำนักงานประสานงานการท่องเที่ยวพังงา ได้สำรวจผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวและสถานการณ์ท่องเที่ยวในจังหวัดพังงา พบว่าตลาดคนไทยและตลาดเอเชียยกเลิกการเดินทาง แต่นักท่องเที่ยวชาติยุโรปและกลุ่มสแกนดิเนเวียนไม่รู้สึกตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด
          เผยท่องเที่ยวภูเก็ตไม่กระทบ
          ด้านนายสมบูรณ์ จิรายุส นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า วันที่ 23 เมษายน ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะร่วมประชุมกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแผนป้องกันและรับมือภัยธรรมชาติจากนี้ รวมถึงมาตรการเพิ่มเติม เพื่อกำหนดทิศทางจากนี้ให้ได้ประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ เหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นไม่ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตมากนัก เพราะนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มาจากประเทศที่มีดินแดนติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน อาทิ ตุรกี ฝรั่งเศส สเปนอิตาลี ซึ่งประสบปัญหานี้อยู่เรื่อยๆ ระดับความแรง 2-4 ริกเตอร์ ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับปลอดภัยทำให้นักท่องเที่ยวเข้าใจดี ขณะที่ประเทศที่มี
          แหล่งท่องเที่ยวสำคัญอย่างบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย หรือรัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา ประสบปัญหานี้เช่นกัน
          "ปกติสัดส่วนนักท่องเที่ยวจะเป็นต่างชาติ70% คนไทย 30% โดยแผ่นดินไหวที่ภูเก็ตกระทบต่อการท่องเที่ยวน้อยมาก จนไม่เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงชัดเจน แต่อยากให้รัฐบาลรีบชี้แจงถึงสาเหตุที่ชัดเจนและจะมีผลต่อเนื่องหรือไม่ ซึ่งเหตุการณ์ที่ผ่านมาประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารน้อยมาก ทำให้เกิดข่าวลือต่างๆ" นายสมบูรณ์กล่าว
          อ้างทรงเจ้าโปรยใบปลิวอพยพ
          ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.ภูเก็ตว่า ผู้ไม่หวังดีออกแจกจ่ายใบปลิว ตามร้านน้ำชากาแฟที่สาธารณะ ในพื้นที่ อ.ถลาง หลายแห่ง โดยอ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพื้นที่ จ.ภูเก็ต การทรงเจ้า อ้างว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ต.ศรีสุนทร และพื้นที่ใกล้เคียง ภายในวันที่ 28 เมษายนนี้ ไม่เช่นนั้นจะเกิดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินมหาศาล อีกทั้งกล่าวอ้างถึงมารดา"น้องปอย-ตรีชฎา เพชรรัตน์" ดารานักแสดงชื่อดัง ว่าเป็นคนทรง เมื่อตรวจสอบพบว่าครอบครัวของน้องปอยไม่มีพฤติกรรมดังกล่าว
          ต่อมาเวลา 13.00 น. ที่ห้องประชุมศูนย์ข่าวภูเก็ต ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นางสุวภัทรเพชรรัตน์ อายุ 44 ปี และนายเอกฉัตร พรหมศรี สามี อายุ 46 ปี มารดาและบิดาน้องปอยเปิดแถลงข่าวกรณีโพสต์ข้อมูลในเครือข่ายโซเชียลมีเดียต่างๆ เกี่ยวกับกรณีแผ่นดินไหวในพื้นที่ภูเก็ต
          นางสุวภัทรกล่าวว่า ตัดสินใจแถลงข่าวเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจว่าไม่ได้รู้เห็นกับข้อมูลเหล่านั้นเลย และอยากขอความร่วมมือไปยังผู้โพสต์ที่ทราบว่าเป็นผู้หญิง ที่มีข้อมูลในเฟซบุ๊กระบุว่าเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต อาจจะไม่ได้คิดคำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมาในวงกว้างเพื่อให้มีโอกาสได้ออกมาขอโทษคนภูเก็ต พร้อมกับชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพราะสิ่งที่ทำไปนั้นเป็นผลเสียทั้งสิ้น กรณีที่ผู้โพสต์อ้างว่าเป็นตนนั้นไม่ทราบเหตุผล เพราะโดยส่วนตัวไม่รู้จักกับผู้หญิงคนนี้เลย ประกอบกับครอบครัวมีกิจการเกี่ยวกับธุรกิจท่องเที่ยว ไม่มีเหตุผลอันใดที่จะก่อเรื่องที่มีผลกระทบต่อประเทศชาติ
 

 pageview  1205112    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved