Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 20/03/2560 ]
'16องค์กร พ.ร.บ.เฉพาะ'เตรียมรับมือสังคมผู้สูงวัยก่อนปี2564

   ในการประชุมวิชาการประจำปีผู้บริหารองค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเฉพาะ (ทอพ.) หัวข้อ "ประชารัฐร่วมใจ สู่สังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ" เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2560 ที่อาคารสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจัดขึ้นจากความร่วมมือของ 16 องค์กรที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเฉพาะ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ฯลฯ โดยภายในงานยังมี นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "สูงวัยอย่างมีคุณค่า น้อมพัฒนาเศรษฐกิจ พอเพียง"
          นอกจากนายสุเมธปาฐกถาถึงการเตรียมพร้อมในยุคสังคมผู้สูงวัย โดยน้อมนำพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในการใช้เหตุผลนำทาง เหตุผลคือ ศีล สมาธิ และปัญญา รวมทั้งให้ยึดหลักธรรมะ คือการทำดีต้องถูกต้อง พร้อมทั้งคำนึงถึงการให้โดยไม่หวังผล เป็นต้น
          ทพ.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในฐานะประธาน ทอพ. ยังให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันยังพบช่องว่างในการเข้าสู่สังคม สูงวัย โดยเฉพาะหลักประกันรายได้ยามเกษียณอายุ ที่พบว่า 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน หรือรายได้ต่ำกว่า 2,647 บาทต่อเดือน ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ โจทย์ใหญ่ที่จะตามมาคือ แรงงานไทย 63% ที่ไม่อยู่ในระบบการออมเพื่อเป็นหลักประกันรายได้ยามเกษียณ และยังพบกับดักมนุษย์เงินเดือน โดยรายจ่ายของมนุษย์เงินเดือนสูงกว่าเงินสนับสนุนของรัฐขั้นพื้นฐานจากประกันสังคมและเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเมื่อเกษียณ อยู่ที่ 8,100 บาทต่อเดือน ซึ่งไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตหากไม่มีการออมสมทบ รวมถึงระบบรองรับข้อมูลด้านสุขภาพและด้านสังคม จึงเกิดความร่วมมืองานครั้งนี้ เพื่อจัดระบบและบริการสุขภาพ การสร้างเสริมสุขภาพ การศึกษาวิจัยและการจัดการความรู้ การพัฒนานโยบายสาธารณะและสร้างเครือข่าย การพัฒนามาตรฐาน และการสื่อสารสังคม เพื่อรองรับสังคมสูงวัยให้เป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ
          สถานการณ์ "ผู้สูงวัย" ในประเทศไทยนั้น พบว่าปี 2558 ประชากรไทยมีจำนวน 65.1 ล้านคน เป็นประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป 11 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 16 ของประชากรทั้งหมด ประเด็นสำคัญคือ ขณะนี้ประชากรไทยกำลังสูงวัยขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยไทยเป็นสังคมสูงอายุมาตั้งแต่ปี 2548 คือมีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปสูงถึงร้อยละ 10 และเพิ่มขึ้นด้วยอัตราที่เร็วมากสูงกว่า ร้อยละ 4 ต่อปี ในขณะที่ประชากรรวมเพิ่มขึ้นด้วยอัตราเพียงร้อยละ 0.5 เท่านั้น และตามการคาดประมาณประชากรของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในสัดส่วนร้อยละ 20 ในปี 2564 และจะเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด เมื่อมีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปสูงถึงร้อยละ 28 ในปี 2574
          ในงานเสวนา "รวมพลังสร้างสรรค์พัฒนาสู่สังคมสูงวัย" โดย พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ได้รายงานผลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 5 พ.ศ.2557 พบว่าสัดส่วนผู้สูงวัยตอนต้น คือช่วงอายุ 60-69 ปี พบมากสุดถึงร้อยละ 59.3 รองลงมาคือ ผู้สูงวัย 70-79 ปี ร้อยละ 30.7 และอีกร้อยละ 10 เป็น ผู้สูงวัยอายุมากกว่า 80 ปี โดยเมื่อสอบถามสถานภาพการสมรส พบว่าสมรสแล้วร้อยละ 64.61 เป็นโสด ร้อยละ 9.2 เป็นหม้าย หย่า แยกทางกันร้อยละ 30.38 ส่วนรายได้ที่ผู้สูงอายุได้รับมาจากแหล่งต่างๆ มากที่สุดคือเบี้ยยังชีพ รองลงมาลูกหลาน จากการทำงานของตนเอง โดยเฉพาะผู้สูงอายุตอนต้น เงินออม จากคู่สมรส จากเงินสงเคราะห์ และจากบำเหน็จบำนาญ ตามลำดับ
          พญ.ลัดดากล่าวอีกว่า พบว่าผู้สูงอายุที่ยังทำงานมีถึงร้อยละ 41.2 ซึ่งอยู่ในกลุ่มอายุ 60-69 ปี โดยเหตุผลที่ยังทำงานอยู่ หลักๆ คือ ต้องการหารายได้ สุขภาพยังแข็งแรง ทำงานได้ เป็นอาชีพประจำ ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ รวมทั้งต้องการช่วยเหลือครอบครัว เป็นต้น นอกจากนี้ ในเรื่องความปลอดภัยภายในบ้าน ยังพบว่ามีผู้สูงอายุที่ต้องใช้บันไดในการขึ้น-ลงทุกวัน และต้องเดินบนพื้นบ้านที่ลื่น โดยรวมมีถึงร้อยละ 48.8 และร้อยละ 31.7 ตามลำดับ ดังนั้น ผู้สูงอายุต้องละเว้นการขึ้น-ลงบันได และต้องปรับพื้นบ้านใช้วัสดุที่ไม่ลื่น ทั้งนี้ ผู้สูงอายุชาย ร้อยละ 7.4 และผู้สูงอายุหญิง ร้อยละ 13.4 ต้องการคนดูแล ซึ่งพบว่าบุตรสาวมีสัดส่วนเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุถึงร้อยละ 45.1 และอีกร้อยละ 28.1 คู่สมรสดูแลกันเอง
          น.ส.วันทนีย์ พันธชาติ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สถาบันเทคโนโลยีเพื่อคนพิการและผู้สูงอายุ สำนักงานพัฒนายุทธศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกเริ่มพูดถึงเศรษฐกิจผู้สูงอายุกันมากขึ้น เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ออกมาเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุมากขึ้น ในส่วนของประเทศไทย วันนี้สวัสดิการต่างๆ ที่รัฐจ่ายให้รวมกว่าแสนล้านบาท ต่อไปนี้จะเอาจากไหน เรื่องนี้ต้องคิดเป็นวาระแห่งชาติ วันนี้พูดถึงไทยแลนด์ 4.0 แล้วจะทำอย่างไรให้หลุดพ้นจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ก็ต้องพัฒนานวัตกรรมของตัวเอง โดยเฉพาะนวัตกรรมที่จะมารองรับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุในประเทศและการส่งออก ต้องดูเรื่องของการจ้างงานผู้สูงอายุในประเทศด้วย เรื่องมาตรการทางภาษีเพื่อปฏิรูปรายได้ของผู้สูงอายุ เรื่องการท่องเที่ยวมีการพัฒนาบ้านเมือง แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ที่เอื้อกับนักท่องเที่ยวที่เป็นผู้สูงอายุ เป็นต้น
          นางอุบล หลิมสกุล รองเลขาธิการสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จ พระศรีนครินทราบรมราชชนนี กล่าวว่า ตนอายุ 69 ปี ก็เป็นหนึ่งในผู้สูงอายุ และจากการสังเคราะห์ข้อมูล บอกได้ว่าสิ่งที่ผู้สูงอายุต้องการมากที่สุดคือการมีสุขภาพกายดี สุขภาพจิตดี อยากอยู่กับครอบครัว ลูกหลาน ครอบครัวดั้งเดิม มีความมั่นคงทางรายได้ มีที่อยู่อาศัยมั่นคง อยากมีส่วนร่วมในสังคม ใช้ความรู้ความสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยพัฒนาสังคม สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพ สังคม และสุดท้ายต้องการจากโลกไปอย่างสงบและมีศักดิ์ศรี
          สังคมสูงวัยจะมีความเหลื่อมล้ำสูง ทั้งเรื่องรายได้ สวัสดิการ การแบกรับของรัฐ งานวิจัยบอกว่า 3 ปีสุดท้ายของผู้สูงอายุจะมีเรื่องค่าใช้จ่ายสูงมาก โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพ ดังนั้น จึงมองอยู่ 4 มิติ คือ 1.สุขภาพ ทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุพึ่งตัวเองให้นานที่สุด 2.มีหลักประกันที่มั่นคงในเรื่องของรายได้ 3.สังคม ทำอย่างไรในการมีส่วนร่วมในการเป็นพลังทำงานสร้างประโยชน์ต่อสังคมได้
          และ 4.เรื่องสิ่งแวดล้อม สิ่งอำนวยความสะดวก การได้อยู่กับสิ่งแวดล้อมที่คุ้นเคย การที่หลายคนเอาพ่อ-แม่ไปอยู่ที่อื่นนั้นทำให้ผู้สูงอายุเศร้า ซึม เพราะการสร้างสังคมใหม่เป็นเรื่องยาก

 pageview  1204381    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved