Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 14/03/2560 ]
กลุ่ม40ปีขึ้นไปเสี่ยง'ต้อหิน' จักษุแพทย์ชี้พบเร็ว-รักษาได้

   กระทรวงสาธารณสุขเตือนประชาชนระวัง'โรคต้อหิน' แนะกลุ่มเสี่ยงอายุ 40 ปีขึ้นไป มีคนในครอบครัวเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไปพบจักษุแพทย์ตรวจหาความผิดปกติป้องกันตาบอด
          เมื่อวันที่ 13 มีนาคม นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผย ในช่วงสัปดาห์โรคต้อหินโลก ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 12-18 มีนาคม ว่าสมาคมโรคต้อหินโลก (World Glaucoma Association: WGA) และสมาคมผู้ป่วยโรคต้อหินโลก (World Glaucoma Patient Association: WGPA) คาดประมาณว่าในปี 2563 ทั่วโลกจะมีผู้ป่วยโรคต้อหิน 76 ล้านคน ประมาณร้อยละ 10 ของผู้ป่วยจะตาบอด จึงเชิญชวนให้ทุกประเทศร่วมกันสร้างความตระหนักถึงอันตรายของโรคนี้ ซึ่งเป็นสาเหตุการตาบอดสูงเป็นอันดับ 2 รองจากโรคต้อกระจก และพบมากในผู้สูงอายุ อีกทั้งแนวโน้มพบผู้ป่วยตามอายุเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอายุ 40 ปีขึ้นไป ประมาณร้อยละ 4 ที่เพิ่มเป็นร้อยละ 6 เมื่ออายุ มากกว่า 60 ปี
          นพ.โสภณกล่าวว่า คาดว่าคนไทยเป็นโรคต้อหินประมาณ 1.2 ล้านคน สธ.ได้ให้โรงพยาบาลที่มีความพร้อมทั้งส่วนกลางและภูมิภาค จัดกิจกรรมรณรงค์ในสัปดาห์โรคต้อหินโลก เน้นการให้ความรู้ประชาชน และเชิญชวนให้ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคต้อหิน ได้แก่ ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป มีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคนี้ หรือเป็นโรคที่ทำให้เลือดไปเลี้ยงขั้วประสาทตาลดลง เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ผู้ที่มีสายตาสั้น ผู้ที่เคยเข้ารับการผ่าตัดดวงตาหรือเคยมีอาการตาอักเสบ และผู้มีประวัติการกระแทกหรือเกิดอุบัติเหตุบริเวณดวงตา ผู้ที่กินหรือหยอดตาด้วยยาสเตียรอยด์ (Steroid) ไปพบจักษุแพทย์ใกล้บ้าน เพื่อตรวจหาความผิดปกติและรักษาตั้งแต่ระยะแรกของโรคเพื่อป้องกันตาบอด
          "เนื่องจากในระยะแรกผู้ป่วยจะไม่มีอาการผิดปกติ ทำให้ไม่ทราบว่าเป็นโรคนี้ หากปล่อยไว้จะมีอาการตามัว มองเห็นภาพแคบลงเรื่อยๆ จนกระทั่งตาบอด ไม่สามารถรักษาให้กลับมามองเห็นได้ นอกจากนี้ ได้มอบให้กรมการแพทย์ ศึกษาวิธีการและเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อขยายการคัดกรองโรคต้อหินถึงชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต" นพ.โสภณกล่าว
          ด้าน นพ.ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า อาการของโรคต้อหินมี 2 ลักษณะ คือ ชนิดเฉียบพลัน จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายใน 1-2 วัน มีอาการรุนแรง ปวดตามาก ตาแดง ตามัว มองเห็นสีรุ้งรอบดวงไฟ อาจมีคลื่นไส้อาเจียน หากไม่ได้รับการรักษาภายใน 1-2 วัน หรือความดันตาสูงมากจะทำให้ประสาทตาเสีย สูญเสียการมองเห็น ไม่สามารถรักษาให้กลับมาดีเหมือนเดิม และชนิดไม่เฉียบพลัน ซึ่งพบมากที่สุด อาการจะเกิดขึ้นช้าๆ ในระยะแรกผู้ป่วยจะไม่มีอาการผิดปกติ ไม่ปวดตา อาจเกิดจากความดันในลูกตาสูงขึ้นทำให้ขั้วประสาทตาค่อยๆ เสื่อม หรือเกิดจากเซลล์ประสาทตาถูกทำลาย การมองเห็นจะแคบลงเรื่อยๆ จนเห็นแค่รอบดวงตา ผู้ป่วยจะมีอาการเดินชนขอบประตู ชนเสา ไม่มั่นใจเดินขึ้นบันได เพราะมองไม่เห็นด้านข้าง
          ในการรักษามี 3 วิธี คือ 1.ใช้ยาชนิดกินและชนิดหยอด เพื่อลดความดันในลูกตา 2.ใช้แสงเลเซอร์ เจาะรูตรงม่านตาที่แคบเพื่อให้เกิดช่องทางของรูระบายน้ำภายในลูกตาได้ดีขึ้น และ 3.ผ่าตัดทำทางระบายน้ำจากข้างในตาออกมาข้างนอกตา ซึ่งจะช่วยลดการทำลายเส้นประสาทตา แต่ไม่สามารถทำให้เส้นประสาทตาที่สูญเสียไปแล้วกลับมามองเห็น ดังเดิมได้

 pageview  1204270    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved