Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 14/03/2560 ]
สบส.แจ้งรพ.เอกชนทั่วปท.ยกเลิกโปรโมชั่นจูงใจกู้ภัยพบโฆษณาแจ้งสายด่วนฟัน

 อธิบดี สบส.แจง รพ.เอกชนยกเลิก'โปรโมชั่น'จูงใจ จนท.กู้ภัยนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉิน รอไม่เกิน 3 วัน สรุปผลสอบ ส่งหนังสือถึง รพ.เอกชนทั่วประเทศห้ามเด็ดขาด
          เมื่อวันที่ 13 มีนาคม นพ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าของการดำเนินการตรวจสอบโรงพยาบาลเอกชนที่จัดโปรโมชั่นแลกคูปองเติมน้ำมันฟรี จูงใจให้เจ้าหน้าที่มูลนิธิกู้ภัยนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินไปรักษาที่โรงพยาบาล ว่า ขณะนี้ สบส.ได้ส่งพนักงานเจ้าหน้าที่จากสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ และกองกฎหมาย เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงที่โรงพยาบาลที่ปรากฏทางสื่อออนไลน์ให้แล้วเสร็จภายใน 3 วัน เพราะการกระทำดังกล่าวจะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยฉุกเฉินอย่างมาก อาจได้รับการดูแลรักษาที่ล่าช้าไม่เป็นไปตามมาตรฐานของระบบการแพทย์ฉุกเฉิน
          "จากกรณีที่เกิดขึ้นครั้งนี้ สบส.จะขยายผล ตรวจสอบไปถึงโรงพยาบาลที่เป็นสาขาของโรงพยาบาลแห่งนี้ด้วย และจะตรวจสอบ โรงพยาบาลเอกชนทุกแห่งทั่วประเทศด้วยว่ามีการกระทำในลักษณะเดียวกันหรือไม่ เพื่อจัด ระเบียบให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เป็นการคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ประชาชนทุกคน ทั่วประเทศที่เจ็บป่วยฉุกเฉินให้ได้รับการช่วยชีวิต และรักษาอย่างรวดเร็วที่สุด" นพ.วิศิษฎ์กล่าว
          ด้าน นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดี สบส. เปิดเผยว่า ได้รับรายงานความคืบหน้าว่าเบื้องต้นผู้บริหารของโรงพยาบาลเอกชนที่กระทำการจัดโปรโมชั่นแลกคูปองน้ำมันให้เจ้าหน้าที่มูลนิธิกู้ภัยที่ปรากฏในสื่อออนไลน์ได้รับทราบและเข้าใจผลกระทบที่จะตามมา และแจ้งว่าจะหยุดดำเนินการทันที โดย สบส.จะทำหนังสือแจ้งเวียนไปยังสถานพยาบาลเอกชนทุกแห่งทั่วประเทศอีกทางหนึ่งด้วย ไม่ให้กระทำการโฆษณาดังกล่าว เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดของผู้รับบริการ และทำให้ระบบการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศเป็นมาตรฐานเดียวทั้งรัฐและเอกชน เพื่อรักษาชีวิตของผู้ป่วยเป็นสำคัญที่สุด เป็นที่เชื่อมั่นและความไว้วางใจแก่ประชาชนทุกแห่ง
          นพ.ธงชัยกล่าวอีกว่า ต้องขอความร่วมมือประชาชน รวมทั้งเจ้าหน้าที่มูลนิธิซึ่งเป็นผู้ที่มีจิตอาสาช่วยสังคมอยู่แล้ว หากมีเบาะแสว่าโรงพยาบาลเอกชนมีการจัดโปรโมชั่น เชิญชวน หรือจูงใจให้เจ้าหน้าที่มูลนิธินำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินไปรักษา ขอให้แจ้งที่ สบส.ที่เฟซบุ๊กมือปราบ สถานพยาบาลเถื่อน เฟซบุ๊กสารวัตรสถานพยาบาลออนไลน์ หรือแจ้งที่สายด่วนคุ้มครองผู้บริโภคด้านระบบบริการสุขภาพของ สบส. โทร 0-2193-7999 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อ สบส.จะเร่งดำเนินการตรวจสอบ หากพบว่ามีการ กระทำผิดจะลงโทษโดยไม่ละเว้น ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ที่แก้ไขปรับปรุงฉบับที่ 4 พ.ศ.2559 ในมาตรา 38 ที่ว่าด้วยการห้ามโฆษณา โอ้อวด ลด แลก แจก แถม เพื่อชักชวนให้มีผู้มารับบริการจากสถานพยาบาล มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 1 หมื่นบาท จนกว่าจะระงับการโฆษณา ในกรณีที่ลักลอบโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุมัติจาก สบส.หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) มีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท และให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 1 หมื่นบาท จนกว่าจะระงับการโฆษณา
          วันเดียวกัน นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวระหว่างเปิดศูนย์การแพทย์ทางการแพทย์เขาหลัก (Andaman Hub Medical Network) หรือศูนย์การแพทย์เขาหลัก จ.พังงา ว่า จ.พังงามีธรรมชาติที่สวยงามติดอันดับของโลก แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวประมาณ 2 ล้านคน และรัฐบาลก็ให้ความสำคัญในเรื่องการจัดระบบความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว เพื่อดึงเข้ามากระตุ้น เศรษฐกิจประเทศให้ดีขึ้น และรัฐมนตรีว่าการ สธ.ก็ให้ความสำคัญของการจัดระบบความปลอดภัยฉุกเฉินทางทะเลเพื่อดูแลนักท่องเที่ยวและพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะชาวประมง เพราะออกเรือนานเป็นเดือนๆ จึงมีการลงนามความร่วมมือในการจัดตั้งศูนย์การแพทย์เขาหลักแบบบูรณาการ 21 หน่วยงาน
          ด้าน นพ.สามารถ ถิระศักดิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) พังงา กล่าวว่า จ.พังงาเป็น 1 จังหวัดภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน มีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ อาทิ หมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลัน และกำลังจะมีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอีกหลายแหล่งทั้งเกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่ จะมีการสร้างท่าเรือนานาชาติ สร้างสนามบินในอนาคตอันใกล้ ดังนั้นจังหวัดจึงมีแนวคิดในการให้พังงาเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีความปลอดภัย ซึ่งที่ผ่านมาในด้านสาธารณสุขในปี 2558 มีนักท่องเที่ยวเจ็บป่วย บาดเจ็บ 882 ราย ในจำนวนนี้นักท่องเที่ยวจมน้ำ/เสียชีวิต 11 ราย ปี 2559 พบป่วย และบาดเจ็บ 892 ราย ในจำนวนนี้จมน้ำ/เสียชีวิต 12 ราย ทั้งนี้โดยภาพรวมช่วงที่คนนิยมมาท่องเที่ยวตุลาคม-เมษายน มีนักท่องเที่ยวเสียชีวิตสูง บางเดือนเสียชีวิตถึง 3-4 ราย
          "ปัญหามาจากความล่าช้า เพราะพื้นที่เข้าถึงยาก มีความเป็นเกาะ เช่น จมน้ำกลางทะเลกว่าจะได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกวิธีจนถึงโรงพยาบาลก็ใช้เวลาประมาณ 2 ชม. ซึ่งจากการประเมินความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวในปี 2558 สรุปว่าสิ่งที่มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวในการเดินทางมาประเทศไทยมากที่สุดคือ ความปลอดภัย และระบบการจัดการเมื่อเกิดภัยกับนักท่องเที่ยว จ.พังงา จึงมีโครงการจัดตั้งเครือข่ายศูนย์ปฏิบัติการทางการแพทย์ตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางน้ำ และจัดตั้งศูนย์บริการทางการแพทย์เขาหลัก หรือศูนย์แพทย์เขาหลัก โดยใช้งบประมาณ 247.4 ล้านบาท" นพ.สามารถกล่าว และว่า คาดว่าจะช่วยร่นระยะเวลาการนำส่งผู้ป่วยจากกลางทะเลที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวมายังศูนย์แพทย์เขาหลักได้ภายใน 1 ชม.
          นพ.ประกิจ สาระเทพ รอง นพ.สสจ.พังงา กล่าวว่า ระบบการแพทย์ฉุกเฉินของจังหวัด แม้จะมีการวางเครือข่ายของตนเอง แต่ก็ยังเชื่อมโยงระบบกลางคือ 1669 โดยสามารถโทรฉุกเฉินได้เช่นเดิม ซึ่งเมื่อเกิดเหตุก็จะมีเครือข่ายช่วยฟื้นคืนชีพเบื้องต้น และประสานไปยังเจ้าหน้าที่ศูนย์การแพทย์ฉุกเฉิน อย่างไรก็ตาม ปัญหาเครือข่ายหรือเจ้าหน้าที่กู้ภัยกู้ชีพแย่งกันนำส่งผู้ป่วย/บาดเจ็บไปโรงพยาบาลเอกชนนั้น ในพื้นที่ไม่มีปัญหาเหล่านี้ เพราะส่วนใหญ่เป็นเครือข่าย ทำงานตามระบบที่วางไว้

 pageview  1205090    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved