Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 20/10/2559 ]
อุตุฯสั่งเตรียมรับมือ'ซาเระกา'เตือนลูกเห็บถล่ม'เหนือ-อีสาน'

  ผู้ว่าฯพิจิตรห่วง 4 อ.ลุ่มน้ำยม สั่งเตรียมรับมือพายุลูกใหม่ กรม อุตุฯชี้ไทยมีฝนฟ้าคะนองรับอิทธิพลพายุ'ซาเระกา' ฟันธงมีอีกลูกตามมา แต่ส่งผลกระทบเล็กน้อย เผยปลายตุลาฯเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวยาวถึงกุมภาฯ เชื่ออุณหภูมิลดลงกว่าปีที่ผ่านมา เขื่อนเจ้าพระยาลดระบายน้ำท้ายเขื่อนเริ่มคลี่คลาย ฝนถล่มกรุงหน้าวัดโพธิ์น้ำท่วมสูง 15 ซม.
          ไทยมีฝนเหตุพายุ'ซาเระกา'
          เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า ช่วงนี้ประเทศไทยยังคงมีฝนอยู่เพราะได้รับอิทธิพลจากพายุ "ซาเระกา" มีศูนย์กลางอยู่บริเวณตอนกลางของประเทศฟิลิปปินส์ กำลังเคลื่อนตัวทางตะวันตกค่อนทางเหนือด้วยความเร็วประมาณ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่า พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนบนในวันที่ 16 ตุลาคม และมีแนวโน้มจะเคลื่อนตัวเข้าใกล้เกาะไหหลำและอ่าวตังเกี๋ยในช่วงวันที่ 17-18 ตุลาคม ผู้ที่จะเดินทางไปประเทศฟิลิปปินส์ และเกาะไหหลำ ของประเทศจีน ควรตรวจสอบสภาพอากาศก่อนการเดินทางไว้ด้วย นอกจากนี้ ต่อจากพายุลูกนี้คาดว่ายังมีพายุอีก 1 ลูกที่จะส่งผลต่อประเทศไทยเล็กน้อย ซึ่งโดยปกติแล้วอากาศหนาวจะไม่มาคู่กับพายุ ดังนั้นพายุที่เกิดขึ้นจึงคาดว่าอากาศหนาวในประเทศไทยจะเกิดขึ้นหลังวันที่ 22-23 ตุลาคมนี้
          ปลายตุลาฯเริ่มเข้าฤดูหนาว
          "อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้ทางภาคอีสานตอนบน รวมถึงภาคอีสานในที่สูงจะเริ่มสัมผัสได้ถึงอากาศที่เย็นขึ้น แต่ไทยยังไม่เข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเป็นทางการ ซึ่งเดิมทางกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าลักษณะอากาศช่วงฤดูหนาวของไทยในปี 2559-2560 นั้นจะเริ่มขึ้นในสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนตุลาคม และปีนี้อากาศหนาวโดยเฉลี่ยจะต่ำกว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งระยะเวลาอากาศหนาวจะอยู่ในประเทศไทยยาวนานกว่าเดิม คือ ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ สภาพอากาศโดยรวมคือจะหนาวสลับอุ่นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งสิ้นสุดฤดูหนาว" นายวันชัยกล่าว
          นายวันชัยกล่าวว่า ตามคาดหมายของกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าประเทศไทยตอนบน ฤดูหนาวจะเริ่มต้นประมาณสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนตุลาคม 2559 และสิ้นสุดประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2560 อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยประเทศไทยตอนบนจะใกล้เคียงค่าปกติประมาณ 19-20 องศาเซลเซียส และมีอากาศหนาวเย็นกว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยอุณหภูมิต่ำที่สุดของประเทศประมาณ 6-7 องศาเซลเซียส บริเวณตอนบนของทั้งภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับอุณหภูมิต่ำที่สุดกรุงเทพมหานครและปริมณฑลประมาณ 14-15 องศาเซลเซียส
          ใต้ฝนชุกช่วงพฤศจิกาฯ-ธันวาฯ
          "ทั้งนี้ช่วงเวลาที่มีอากาศหนาวเย็นที่สุดจะอยู่ประมาณครึ่งหลังของเดือนธันวาคมถึงประมาณกลางเดือนมกราคมบริเวณยอดดอย ยอดภูและเทือกเขาจะมีอากาศหนาวถึงหนาวจัดและมีน้ำค้างแข็งเกิดขึ้นได้ บริเวณภาคใต้จะมีอากาศเย็นส่วนมากตอนบนของภาค กับจะยังมีฝนตกหนาแน่นส่วนมากในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม โดยเฉพาะฝั่งตะวันออกของภาคตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป จะมีฝนตกหนักหลายพื้นที่และหนักมากบางแห่ง และมีโอกาสที่จะได้รับอิทธิพลจากพายุหมุนเขตร้อนในทะเลจีนใต้ได้ประกอบกับมีร่องมรสุมพาดผ่านในบางช่วง ซึ่งจะทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่งได้หลายพื้นที่ คลื่นลมในทะเลอ่าวไทยจะมีกำลังแรงเป็นระยะๆ บางช่วงมีคลื่นสูง 2-4 เมตร ทะเลอันดามันคลื่นสูง 1-2 เมตร มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจะพัดปกคลุมประเทศไทยตลอดช่วง" นายวันชัยกล่าว
          เตือนอาจมีลูกเห็บตกบางพื้นที่
          นายวันชัยกล่าวต่อว่า สำหรับลักษณะอากาศทั่วไปของประเทศไทยตอนบน คือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออก ในช่วงครึ่งหลังของเดือนตุลาคม จะมีอากาศเย็นเกือบทั่วไปกับมีอากาศหนาวบางพื้นที่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือและจะมีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงในบางแห่ง จากนั้นในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีอากาศหนาวเย็นลงอีกทั่วไปและมีอากาศหนาวจัดหลายพื้นที่ กับจะมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงในบางแห่ง ส่วนภาคกลางและภาคตะวันออกจะมีอากาศหนาวเย็นเกือบทั่วไป สำหรับยอดดอย ยอดภู รวมทั้งบริเวณเทือกเขาจะมีอากาศหนาวถึงหนาวจัดกับมีน้ำค้างแข็งเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้เนื่องจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจะพัดปกคลุมประเทศไทยต่อเนื่องเกือบตลอดช่วง และบริเวณความกดอากาศสูงกำลังแรงจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยเป็นระยะๆ โดยในระยะแรกที่บริเวณความกดอากาศสูงแผ่ลงมาจะมีฝนฟ้าคะนองและอาจเกิดลมกระโชกแรงในบางแห่ง ประกอบกับบางช่วงจะมีคลื่นกระแสลมตะวันตกเคลื่อนผ่านประเทศไทยตอนบน ทำให้ช่วงดังกล่าวเกิดฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงและอาจมีลูกเห็บตกได้ในบางพื้นที่
          น้ำในอ่างใหญ่ใช้การได้52%
          นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า แม้ประเทศไทยจะได้รับอิทธิพลจากพายุโซนร้อนซาเระกา แต่ถือว่าปริมาณฝนที่ตกลงมาไม่มากนัก เพราะประเทศไทยไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง ดังนั้นปริมาณฝนที่ตกลงมาจึงไม่ได้เพิ่มน้ำในเขื่อนอย่างมีนัยสำคัญ สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ปริมาณน้ำในอ่างอยู่ที่ 50,512 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 67% ในส่วนนี้เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 26,693 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 52% ปริมาณน้ำในอ่าง ทั้งนี้เมื่อเทียบกับปี 2558 ปริมาณน้ำในปัจจุบันจำนวน 7,136 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลลงอ่างจำนวน 294.51 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบายจำนวน 156.58 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีก 24,656 ล้าน ลบ.ม.
          พิจิตรเด็กหญิงสังเวยน้ำท่วม
          นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วม จ.พิจิตร ยังน่าเป็นห่วงโดยเฉพาะ 4 อำเภอลุ่มแม่น้ำยม ประกอบไปด้วย สามง่าม, โพธิ์ประทับช้าง, โพทะเล และบึงนาราง ซึ่งยังมีน้ำท่วมอยู่ อีกทั้งระดับน้ำยังมีปริมาณสูงขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากรับน้ำจาก จ.สุโขทัย จ.พิษณุโลก และน้ำป่าจากกำแพงเพชร ดังนั้นอยากฝากเตือนประชาชนที่อยู่ 4 ลุ่มน้ำยม ต้องเตรียมพร้อมรับมือพายุอีก 2 ลูกใหม่ที่กำลังจะมาในวันที่ 15-17 ตุลาคม
          "นอกจากนี้ยังได้รับรายงานว่า พิจิตรขณะนี้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย จากเหตุการณ์น้ำท่วม คือ ด.ญ.กมลชนก ไผ่เหลือง อายุ 10 ปี อยู่หมู่ 9 ต.รังนก อ.สามง่าม จ.พิจิตร ส่วนสาเหตุเกิดจาก ด.ญ.กมลชนกไปเล่นน้ำกับเพื่อน 3-4 คน ที่บริเวณถนนทางเข้าหมู่บ้านบ้านเนินยุ้ง หมู่ 7 ซึ่งกำลังน้ำท่วม ปรากฏว่าถูกกระแสน้ำพัดจมน้ำไปและไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลสามง่าม" นายวีระศักดิ์กล่าว
          เขื่อนเจ้าพระยาลดระบายน้ำลง
          ที่ จ.ชัยนาท ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์น้ำล่าสุด เขื่อนเจ้าพระยา ต.บางหลวง อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ปรับลดการระบายน้ำลงท้ายเขื่อนลงจากวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา จาก 2,218 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที เป็น 2,100 ลบ.ม.ต่อวินาที ขณะที่ระดับน้ำเหนือเขื่อนลดระดับลง 10 เซนติเมตร ซึ่งจากการปรับลดการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา ส่งผลให้พื้นที่ท้ายเขื่อนที่มีน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนเริ่มลดระดับลง และเริ่มคลี่คลายในหลายพื้นที่ แต่ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมตลิ่งยังต้องติดตามประกาศจากทางราชการต่อไป เนื่องจากระหว่างวันที่ 17-21 ตุลาคม ร่องความกดอากาศต่ำจะยังมีอิทธิพลทำให้ฝนตกชุกในพื้นที่ภาคกลาง อาจทำให้ระดับน้ำกลับมาสูงได้
          ทหารช่วยเหลือวัด-รับส่งปชช.
          ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา พ.อ.พนาเวศ จันทรังษี ผู้บังคับการกรมทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ (ม.4 รอ.) เปิดเผยว่า กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ มอบหมายให้กรมทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ และกองพันทหารม้าที่ 5 รักษาพระองค์ นำกำลังพลเข้าช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัย ในเขต จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากภาวะน้ำท่วมสูง โดยเฉพาะภารกิจในการช่วยเหลือวัด รวมถึงพระสงฆ์ ป้องกันพื้นที่วัดส่วนใหญ่เป็นวัดติดแม่น้ำเพื่อไม่ให้ถูกน้ำท่วม ด้วยมีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณสถาน นอกจากนี้ยังได้ช่วยเหลือชุมชน เช่น วางกระสอบทรายป้องกันน้ำท่วม ในชุมชนเลียบทางรถไฟ หมู่ 4 ต.บ้านเลน อ.บางปะอิน และช่วยเหลือประชาชนในหมู่ 1 ต.คลองจิก อ.บางปะอิน รวมถึงนำรถทหารมารับส่งประชาชนเข้าออกหมู่บ้านในเขต อ.บางปะอิน ในช่วงเวลาเช้ามืดและค่ำ ทั้งหมดนอกจากจะเป็นภารกิจตามคำสั่งของ คสช. รัฐบาล และกองทัพบกแล้ว ยังเป็นการร่วมกันทำความดี เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศด้วย
          น้ำท่วมรอระบายหน้า'วัดโพธิ์'
          เวลา 11.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกิดฝนฟ้าคะนองกระจายในหลายพื้นที่ของกรุงเทพ มหานคร ทั้งนี้ ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร (กทม.) รายงานว่าเกิดฝนตกปานกลางในพื้นที่แนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 2 ฝั่ง นอกจากนี้ ยังมีฝนในพื้นที่กรุงเทพฯด้านเหนือและด้านตะวันออก อาทิ เขตบางกะปิ เขตสวนหลวง เขตพระโขนง เขตบางนา โดยมีปริมาณฝนสูงสุดที่เขตสายไหม 56.5 มิลลิเมตร (มม.)
          ต่อมาเวลา 11.40 น. มีน้ำท่วมรอระบายที่บริเวณถนนสนามไชย บริเวณหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) สูง 10-15 เซนติเมตร ยาวประมาณ 300 เมตร กินพื้นที่ 2 ช่องจราจร

 pageview  1204381    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved