Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 20/10/2559 ]
ลำปางตื่นหมอก-รับมือหนาวอุตุฯสยบข่าว'สาริกา'เข้าไทย
    เมื่อเวลา 06.00 น. วันที่ 19 ตุลาคม ในเขตพื้นที่ จ.ลำปาง มีหมอกหนาวลงมาปกคลุมพื้นที่หนาแน่นต่อเนื่อง ซึ่งเป็นครั้งแรกในเขตตัวเมืองลำปางที่ในช่วงเช้ามีหมอกหนาวลงมาปกคลุมให้ประชาชนชาวลำปางได้พบเห็น นับเป็นสัญญาณว่าสภาพอากาศขณะนี้กำลังเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว ทำให้ประชาชนชาวลำปางในหลายพื้นที่ เตรียมนำเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มออกมาไว้เพื่อใส่ในช่วงฤดูหนาวที่จะมาถึงนี้ สำหรับสภาพอากาศสถานีอุตุนิยมวิทยาลำปาง รายงานสภาพอากาศวันนี้ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยบริเวณพื้นราบวัดได้ 21-22 องศาเซลเซียส โดยหมอกหนาที่ลงมาปกคลุมพื้นที่นั้น เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูง หรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนที่ได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนแล้ว อุณหภูมิสูงสุดในภาคเหนือวัดได้เมื่อช่วงบ่ายของเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ที่ อ.เถิน จ.ลำปาง 35 องศาเซลเซียส ส่วนอุณหภูมิต่ำสุดในภาคเหนือวัดได้เช้าวันนี้ที่ยอดดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ 9.4 องศาเซลเซียส
          ที่ จ.พิษณุโลก ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระดับน้ำที่ท่วมในพื้นที่ ต.คุยม่วง ต.ชุมแสงสงคราม และ ต.ท่านางงาม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก บางส่วนเริ่มลดลงประมาณ 10-15 เซนติเมตร ชาวบ้านหมู่ 2 ต.ชุมแสงสงคราม เปิดเผยว่าน้ำท่วมปีนี้ทำให้พวกตนมีปลาทำเป็นอาหารรับประทานและทำปลาร้าได้เป็นจำนวนมาก ส่วนข้าวในที่ดอนซึ่งสามารถเก็บเกี่ยวได้ก็จะตากแดดให้แห้ง เก็บไว้เป็นพันธุ์เพื่อปลูกในรุ่นต่อไป คาดว่าประมาณ 1 เดือนน้ำจะลดลงสู่ภาวะปกติ แต่ก็คงจะไม่ปลูกข้าวทันทีเพราะเสี่ยงต่อโรคเพราะเข้าสู่ฤดูหนาว
          นายแผน วรรณเมธี เลขาธิการสภากาชาดไทย มอบสิ่งของพระราชทานให้แก่ประชาชนที่ประสบอุทกภัยในท้องที่ อ.เมือง อ.วิเศษชัยชาญ อ.ป่าโมก และ อ.ไชโย 1,400 ชุด และสอบถามประชาชนผู้ประสบภัยด้วยความห่วงใย ส่วนสถานการณ์น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่าน จ.อ่างทอง ที่หน้าศาลากลางจังหวัดอ่างทอง ปริมาณน้ำไหล 2,690 ลบ.ม.ต่อวินาที เริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง ชาวบ้าน ต.โผงเผง ซึ่งนำครอบครัวไปกินนอนริมถนนสายโผงเผง-บางบาล ต่างรอคอยน้ำลดจะได้เริ่มประกอบอาชีพเพราะขาดรายได้
          นางกุลฟาร์รี เทพรักษ์ นายก อบต.โผงเผง กล่าวว่า ขณะนี้น้ำเริ่มลดลง ประชาชนที่ไปพักบนถนนต่างขนสิ่งของและเก็บเต็นท์กลับบ้านแล้ว โดยมีทหารจาก ป.พัน 11 รอ.ลพบุรี 30 นาย มาช่วยขนสิ่งของพร้อมทั้งช่วยสูบน้ำออกจากพื้นที่ลงคลองโผงเผง เพราะน้ำเริ่มเน่าส่งกลิ่นเหม็น และนำสารอีเอ็มเทตามแหล่งน้ำที่ยังท่วมบริเวณใต้ถุนบ้านและบริเวณรอบๆ เมื่อน้ำลดลงจะได้เร่งฟื้นฟูทั้งคนและสถานที่ รวมถึงอาชีพโดยเร็ว
          ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เดินทางมาที่วัดโรงนา ต.น้ำเต้า อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อตรวจสอบสภาพน้ำท่วม รวมถึงผลกระทบต่อสัตว์เลี้ยง โค กระบือ และสัตว์เลี้ยงของชาวบ้านทั้งจังหวัดว่าได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด โดยมีว่าที่ร้อยตรี พิเชียน ลิมป์หวังอยู่ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นำชาวบ้าน 70 หลังคาเรือน รับสิ่งของบรรเทาทุกข์จากกรมปศุสัตว์
          นายสัตวแพทย์สรวิศเปิดเผยว่า ผลกระทบ ในด้านความเสียหายต่อการล้มตายของสัตว์เลี้ยงยังไม่พบ คงมีแต่เพียงความลำบากที่ต้องเคลื่อนย้ายสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะวัวสายพันธุ์ราคาแพงจากคอกที่ถูกน้ำท่วมต้องนำมาสร้างคอกชั่วคราวบนถนนคันคลองชลประทาน และความยากลำบากในการหาหญ้าสดให้วัวกินในแต่ละวัน ส่วนใหญ่อยู่ในเขต อ.บางบาล เสนา ผักไห่ บางปะอิน และบางไทร ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้มอบหญ้าแห้งให้ 11 ตัน รวมถึงอาหารเสริม แร่ธาตุ ยาปฏิชีวนะ วิตามินต่างๆ พร้อมกำชับให้ปศุสัตว์จังหวัดตั้งทีมออกช่วยเหลือชาวบ้าน ที่ต้องนำสัตว์เลี้ยงหนีน้ำท่วม
          ที่ จ.ปทุมธานี ผู้สื่อข่าวรายงานว่ามวลน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้หลายพื้นที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะหมู่ 1-4 ต.สามโคก อ.สามโคก ชาวบ้านกว่า 300 ครัวเรือนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ได้รับผลกระทบจากระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 1 เมตร จนชาวบ้านต้องใช้เรือในการสัญจรเข้าออกภายในชุมชนต่างๆ อย่างยากลำบาก ขณะที่นายเอนก สมบุญ นายกเทศมนตรีตำบลสามโคก พร้อมทหาร เจ้าหน้าที่ส่วนสาธารณสุขเทศบาล เจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเทศบาล ต้องพายเรือออกตรวจสภาพน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน พร้อมนำสิ่งของเครื่องใช้ไปมอบกับผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่สามารถเดินทางออกไปไหนได้ในช่วงน้ำท่วมนี้
          นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในขณะนี้พบว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกที่ลุ่มน้ำสะแกกรังทำให้มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ปริมาณน้ำโดยรวมที่ จ.นครสวรรค์ยังลดลงอย่างต่อเนื่อง ในส่วนการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนเจ้าพระยา ได้ปรับลดการระบายน้ำในท้ายน้ำจาก 2,300 ลบ.ม./วินาที เหลือ 2,018 ลบ.ม./วินาที คาดว่าจะปรับลดระบายน้ำเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดผล กระทบให้น้อยที่สุด
          "ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา กรมชลประทานจะบริหารจัดการโดยนำน้ำเข้าสู่ระบบทั้งซ้าย-ขวาเพื่อนำไปเก็บในคลองระบายเพื่อนำน้ำไปใช้ในฤดูแล้งต่อไป ส่วนสถานการณ์ลุ่มน้ำป่าสัก กรมชลฯได้ลดการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักจากเดิม 60-70 ล้าน ลบ.ม./วัน เหลือเพียง 35 ล้าน ลบ.ม./วัน ทั้งนี้มีการเก็บน้ำวันที่ 19 ตุลาคม เป็นวันแรก จึงทำให้มีปริมาณน้ำที่ไหลออกน้อยกว่าปริมาณน้ำที่ไหลเข้า คาดว่าก่อนสิ้นเดือนตุลาคมจะมีน้ำเต็มเขื่อนป่าสัก" นายสัญชัยกล่าว
          นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ภาพรวมการปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่เดือนมกราคมกันยายน 2559 มีเที่ยวบินขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงทั้งหมด 4,034 เที่ยวบิน มีวันฝนตกคิดเป็น 97% จากจำนวนวันขึ้นบินทั้งหมด 206 วัน ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน 4,287 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) แบ่งเป็นปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนใหญ่ ทั้งในเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย และเขื่อนป่าสัก รวม 2,377 ล้าน ลบ.ม. และมีปริมาณน้ำใช้การใน 4 เขื่อนหลักประมาณ 9,000 ล้าน ลบ.ม. โดยมองว่าปริมาณน้ำค่อนข้างจะดี
          นายสุรสีห์กล่าวว่า สำหรับการขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่วันที่ 1-18 ตุลาคมที่ผ่านมา มีเที่ยวบินขึ้นปฏิบัติการทั้งหมด 320 เที่ยวบิน มีวันฝนตกคิดเป็น 100% จากจำนวนวันขึ้นบินทั้งหมด 18 วัน มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนทั้งหมด 1,390 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนใหญ่ 551 ล้าน ลบ.ม. แต่การปฏิบัติการในขณะนี้ยังมีส่วนที่น่าเป็นห่วงคือในส่วนเขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำพระเพลิง และเขื่อนปราณบุรีที่ยังมีปริมาณน้ำในเขื่อนค่อนข้างน้อย ซึ่งในขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้กำชับให้กรมฝนหลวงฯ ปรับแผนเพื่อปฏิบัติการฝนหลวงให้เหมาะสม อาทิ การเสริมเครื่องบินอีก 2 ลำ ในการปฏิบัติการฝนหลวงที่หน่วยโคราช เพื่อเติมน้ำในเขื่อนลำตะคอง
          "ทั้งนี้อยู่ระหว่างการสำรวจวิจัยปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่แคบและมีน้ำน้อยโดยเฉพาะตามแนวชายแดน อาทิ เขื่อนบางลาง เขื่อนปราณบุรี ซึ่งเป็นที่ที่ปฏิบัติการฝนหลวงยาก โดยคาดว่าจะทดลองปฏิบัติการได้ภายในปี 2560 เพื่อสนองพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องน้ำเป็นอย่างมาก" นายสุรสีห์กล่าว
          นายปราโมทย์ อ่อนน้อม ผู้อำนวยการสถานีอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า ตามที่มีการแชร์ต่อๆ กันในโลกออนไลน์ว่าในวันนี้ 19 ตุลาคม ประเทศไทยจะถูกพายุโซนร้อนสาริกาพัดผ่านนั้น ขอชี้แจงว่าไม่เป็นความจริง เพราะพายุลูกดังกล่าวขึ้นฝั่งที่ประเทศเวียดนามและจะอ่อนกำลังลง โดยจะไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย จึงขอให้หยุดแชร์ข่าวลวงดังกล่าว เพราะจะก่อให้เกิดความแตกตื่นและผิดกฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
- Click for clip >>  
 pageview  1204513    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved