Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 25/03/2559 ]
‘ดีท็อกซ์’ ดี-ไม่ดี อ่านสักนิด คิดก่อนทำ…

กลายเป็นกระแสข่าวในสังคมออนไลน์ หลังผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์ข้อความกรณีเพื่อนสมัยเรียนเสียชีวิตอย่างกะทันหัน ทั้งๆ ที่เป็นคนรักสุขภาพ แข็งแรง โดยสันนิษฐานว่ามาจากการทำดีท็อกซ์ล้างพิษ…

                ผู้โพสต์เฟซบุ๊กรายนั้นระบุว่า เมื่อสอบถามพี่สาวผู้เสียชีวิต ทราบว่าผู้เสียชีวิตเดินทางจาก อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ไปทำการล้างพิษถึงสถานปฏิบัติธรรมชื่อดังในกรุงเทพมหานคร มีการรับประทานผลไม้ และน้ำมะพร้าวกับน้ำใบย่านางเท่านั้น ห้ามรับประทานอย่างอื่นเป็นเวลา 2-3 วัน หลังจากกลับบ้านยังคงทำอีก โดยไม่ยอมรับประทานอะไรเลย กระทั่งเกิดภาวะช็อกและเสียชีวิตในที่สุด

ทันทีที่มีการแชร์ข้อมูลในโซเชียลมีเดีย เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง

กรณีดังกล่าวไม่ใช่กรณีแรก และสถานปฏิบัติธรรมที่ทำการล้างพิษก็มีอีกมาก ยังไม่รวมศูนย์ล้างพิษที่มีมากกว่า 7-8 พันแห่งทั่วประเทศ เกิดคำถามว่าจะทราบได้อย่างไร รวมถึงการล้างพิษที่ถูกวิธีมีหรือไม่

นพ.สุริยะ วงศ์คงคาเทพ อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พร้อมด้วย นพ.เทวัญ ธานีรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ทางเลือก ตั้งโต๊ะแถลงข่าวให้ความรู้เกี่ยวกับการล้างพิษ

                นพ.สุริยะบอกว่า ร่างกายมนุษย์มีการล้างพิษด้วยวิธีธรรมชาติอยู่แล้ว ไม่ว่าจะจากตับหรือไต ซึ่งตับดูดซับสารพิษต่างๆ แล้วขับออกมาทางน้ำดี ผ่านลำไส้ใหญ่ ขับออกทางเหงื่อ หรือขับของเสียออกทางปัสสาวะโดยไต รวมไปถึงการขับของเสียออกจากทางเหงื่อ และลมหายใจด้วย ทั้งนี้หลายคนกลับคิดว่าหากเร่งกระบวนการขับของเสียออกจะทำให้สารพิษออกมาเร็วยิ่งขึ้น คือการดีท็อกซ์

                นพ.สุริยะบอกอีกว่า ปัจจุบันไม่มีกฎหมายหรือวิชาชีพใดรองรับว่าดีท็อกซ์เป็นการรักษาโรค และไม่ได้กำหนดตายตัวว่าต้องทำโดยแพทย์หรือบุคลากรสาธารณสุข ทำให้เป็นช่องให้บุคคลทั่วไปไปดำเนินการ ซึ่งการจะทำอะไรต้องพิจารณาและศึกษาข้อมูลให้ดี ไม่เช่นนั้นจะเสี่ยงได้รับอันตรายเหมือนในกรณีนี้และอีกหลายกรณี

“กรณีการใช้สมุนไพรล้างพิษ มีการทำมานาน ซึ่งเคสที่เสียชีวิต จากการดูข้อมูลไม่ใช่เพราะดื่มน้ำสมุนไพร แต่เพราะหักโหมเกินไปในการทำ ไม่รับประทานอาหารอะไรเลย ทำให้ขาดสารอาหาร ขาดแร่ธาตุ โดยเฉพาะโพแทสเซียม จนเกิดภาวะต่อหัวใจ และช็อกจนเสียชีวิต ซึ่งหลักการล้างพิษในภูมิปัญญาไทย จะเน้นการรับประทานพืชผักสวนครัว สมุนไพรต่างๆ ที่นำมาประกอบอาหารได้ ไม่ได้มุ่งเน้นว่าต้องกินพืชผักหรือสมุนไพรใดๆ เพียงชนิดเดียวเท่านั้น แต่เน้นกินหลากหลาย กินเหมือนปกติทุกวัน เพียงแต่ต้องมีประโยชน์ ดังนั้น การจะกินแค่สมุนไพรบางอย่างหรือน้ำมะพร้าวเพียงอย่างเดียว คงไม่ใช่วิถีที่เกิดความสมดุลได้” นพ.สุริยะระบุ

                นพ.สุริยะยังบอกอีกว่าพืชสมุนไพรล้างพิษมีมากมายสามารถนำไปประกอบอาหารได้ เช่น ใบย่านาง ใบรางจืด ผักชี มะขามป้อม กระเทียม เป็นต้น แต่ไม่ได้หมายความว่าให้รับประทานเพื่อขับสารพิษโดยเฉพาะ เพราะการแพทย์แผนไทยยึดหลักทางสายกลาง คือ ไม่ตึงไม่หย่อนเกินไป

การรับประทานสมุนไพรเหล่านี้จึงควรกินตามฤดูกาลอย่างพอเหมาะ ไม่มากไปน้อยไป

ส่วนเรื่องการสวนล้างลำไส้ผ่านทวารหนักนั้น ไม่มีงานวิจัยใดรองรับว่าการแค่ใช้น้ำผ่านลำไส้จะทำให้ล้างพิษได้ ซึ่งอนาคตอาจมีการศึกษาเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ

                นพ.เทวัญ ธานีรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ทางเลือกให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า  การดีท็อกซ์จะมีอยู่ 6 ขั้นตอนสลับสับเปลี่ยนกันไป ขึ้นอยู่กับบุคคล ไม่จำเป็นต้องทำทั้งหมด เริ่มจาก Fasting หรือการอดอาหาร คือ 1.งดรับประทานอาหาร อาจให้ทำ 1 วัน 2.การควบคุมอาหาร โดยการกินอาหารอย่างใดอย่างหนึ่ง 3.ดื่มน้ำผลไม้ หรือของเหลวอื่นๆ เท่านั้น 4.รับประทานอาหารเสริมอื่นๆ 5.สวนล้างลำไส้ส่วนล่าง และ 6.ผสมผสานกับวิธีการอื่นๆ ซึ่งนักธรรมชาติบำบัดจะประเมินว่าแต่ละคนนั้นเหมาะสมกับกระบวนการใด ซึ่งร่างกายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนทำเพียงนิดเดียวแต่อาจมีอาการแทรกซ้อนมาก การทำดีท็อกซ์ส่วนใหญ่จะเป็นการแนะนำให้ไปทำเอง อาจมีเพียงการสวนล้างที่อาจให้ผู้ให้บริการทำให้

“จากการทำเอง จึงเป็นช่องโหว่ให้ดำเนินการเอาผิดผู้ให้บริการค่อนข้างยาก เนื่องจากผู้รับบริการยินยอมพร้อมใจ สิ่งสำคัญการจะทำอะไร ต้องศึกษาให้ดี เพราะไม่เช่นนั้นอาจได้รับอันตรายได้ อย่างกระบวนการล้างพิษที่อยู่ในโปรแกรมดีท็อกซ์ ในต่างประเทศจะควบคุมตรงนี้อยู่ อย่างที่สหรัฐอเมริกา จะควบคุมบริษัทที่ขายผลิตภัณฑ์ในการทำดีท็อกซ์ เนื่องจากหากผลิตภัณฑ์หรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการทำดีท็อกซ์ไม่ถูกต้องตามมาตรฐานที่กำหนดจะก่ออันตรายต่อผู้ใช้ได้ ส่วนน้ำผลไม้ที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ อาจทำให้ผู้รับบริการเจ็บป่วยได้เช่นกัน ดังนั้นจึงต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ บุคคลที่มีภูมิต้านทานอ่อนแอ” นพ.เทวัญกล่าว

นพ.เทวัญบอกอีกว่า การดื่มน้ำผลไม้จำนวนมากๆ เสี่ยงต่อบุคคลที่เป็นโรคไต เพราะว่าน้ำผลไม้บางชนิดมีสารอ๊อกซาเลตสูง ทำให้ไตทำงานแย่ลง ขณะที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรได้รับคำแนะนำเรื่องการรับประทานอาหารจากทีมบุคลากรด้านสุขภาพ ถ้าคนเป็นโรคเบาหวาน ให้ปรึกษาบุคลากรด้านสุขภาพของท่านจะดีที่สุด

“รวมทั้งอาหารที่จำกัดแคลอรี การรับประทานมากๆ อาจมีผลต่อการรับสารอาหารของร่างกาย ส่งผลเสียอีก ดังนั้น กระบวนการสวนล้างลำไส้อาจมีผลข้างเคียง บางอย่างต้องเข้มงวด อันตรายที่เกิดขึ้นอาจมีผลต่อผู้ป่วยที่มีประวัติโรคกระเพาะอาหาร และลำไส้ การผ่าตัดลำไส้ โรคไต หรือโรคหัวใจ ส่วนโปรแกรมการล้างพิษที่ใช้ยาระบายบ่อยๆ อาจทำให้เกิดอาการท้องเสียที่รุนแรง นำไปสู่ภาวะขาดน้ำ และเสียสมดุลของแร่ธาตุในร่างกาย อีกทั้งการอดอาหารเป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดหัว หมดสติ อ่อนเพลีย ภาวะขาดสารน้ำ และหิวจนแสบท้อง” นพ.เทวัญบอก และว่า หากทำมากๆ ร่างกายแต่ละคนจะรับได้ไม่เท่ากัน แทนที่จะดี นอกจากร่างกายจะเสียสมดุลแล้ว  ยังเสี่ยงช็อก และเสียชีวิตเช่นกรณีที่เป็นข่าว และอีกหลายๆ กรณีที่ไม่ปรากฏเป็นข่าว

                การล้างพิษที่ดีและเหมาะสมกับร่างกายนั้น นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แนะนำแบบกว้างๆ ว่า การล้างพิษ เป็นแพทย์ทางเลือก ซึ่งแตกต่างจากแพทย์แผนปัจจุบัน ดังนั้นจะทำอะไรก็ต้องศึกษาหาข้อมูลให้ดี สำหรับแพทย์แผนปัจจุบัน การดูแลสุขภาพให้ดี คือ การรับประทานอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ ครบ 5 หมู่ มีผัก และผลไม้อย่างพอเพียง ไม่หักโหมกินอย่างใดอย่างหนึ่งมากจนเกินไป เพราะอาจทำให้ขาดสารอาหารได้

“หากจะล้างพิษแต่ไม่แน่ใจเรื่องวิธีการ สามารถสอบถามมาได้ที่สำนักการแพทย์ทางเลือก Call Center 0-2591-7007 หรือหากพบศูนย์ล้างพิษ หรือศูนย์สุขภาพใดที่เข้าข่ายไม่ได้มาตรฐาน ก็สามารถร้องไปได้ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โทร 0-2193-7999” นพ.โสภณกล่าวทิ้งท้าย

 pageview  1205090    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved