Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 17/04/2555 ]
เสริมไอโอดีนในผัก ไข่ ปลาร้า พัฒนาเซลล์สมอง ป้องกันโรคเอ๋อ!

 พีระ วีระชัย / ประคอง หนูราช


          ที่ผ่านมา ประเทศไทยพบภาวการณ์ขาด "สารไอโอดีน" มากตามหมู่บ้านชนบท และหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลในถิ่นทุรกันดาร ในหลาย ๆ จังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งนี้ เนื่องมาจากประชาชนภาคอีสานไม่มีอาหารทะเลบริโภคกัน โดยเกลือที่ใช้บริโภคกันนั้น ก็จะเป็นเกลือสินเธาว์ โดยสารไอโอดีนนั้น มีความสำคัญต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของมนุษย์ ทั้งทางร่างกาย สติปัญญา การทำงานของกล้ามเนื้อร่างกาย การพัฒนาของสมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความจำ และความเฉลียวฉลาด

          ด้วยเหตุผลดังกล่าว หน่วยงานต่าง ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของชาวบ้าน จึงได้เร่งหากลยุทธ์ในการแก้ไขปัญหา "โรคเอ๋อ" และการขาดสารไอโอดีนลงสู่พื้นที่ชุมชนในชนบทอย่างเร่งด่วน ด้วยการเพิ่มสารไอโอดีนในระบบ "ห่วงโซ่อาหาร" ของมนุษย์ และผนวกกับการผสมผสานหลักการปรัชญา "เศรษฐกิจพอเพียง"เพื่อให้ชุมชนต่าง ๆ สามารถมีแหล่งผลิตอาหารและธาตุไอโอดีน ที่มีความจำเป็นต่อร่างกายของมนุษย์ทุกเพศวัย

          นายแพทย์บุญชัย สมบูรณ์สุข อธิบดี กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า มีข้อมูลบ่งชี้ว่า ไอโอดีน มีความสำคัญมากต่อการส่งเสริมความเฉลียวฉลาดด้านสติปัญญา เด็กที่อาศัยอยู่บริเวณที่มีการขาดสารไอโอดีน จะมีระดับสติปัญญาต่ำกว่าเด็กที่อาศัยอยู่บริเวณที่ได้รับสารไอโอดีนเพียงพอ ถึง 13.5 จุดไอคิว ที่สำคัญผลกระทบร้ายแรงจากภาวะขาดสารไอโอดีนจะมีความชัดเจนต่อทารกในครรภ์ จนถึงอายุ 2-3 ขวบ เนื่องจากไอโอดีนมีผลต่อพัฒนาการของเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ในแม่ที่ตั้งครรภ์ การขาดสารไอโอดีนแม้เพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้เกิดความบกพร่องในการพัฒนาเซลล์สมองของเด็กได้ หากขาดไอโอดีนอย่างรุนแรงจนทำให้เกิดภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนในแม่ อาจทำให้ทารกเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงต่อความผิดปกติของสมองในเด็กทารกและเด็กเล็กด้วยส่วนการขาดสารไอโอดีนอย่างรุนแรงในเด็กเล็กจะทำให้เกิดโรคเอ๋อและแคระแกร็นในที่สุด ส่วนเด็กวัยเรียนการขาดสารไอโอดีนจะทำให้ความสามารถทางสติปัญญาลดลง ทำให้ผลการเรียนตกต่ำ การขาดสารไอโอดีนไม่ได้มีผลกระทบต่อเด็กเพียงกลุ่มเดียว แต่ยังมีผลต่อประชากรทั้งหมดด้วย ผู้ใหญ่ที่ไม่ได้รับสารไอโอดีนอย่างพอเพียงจะอิดโรยและอ่อนเพลียง่าย ซึ่งทำให้ความสามารถในการทำงานและการเลี้ยงดูครอบครัวลดลงตามไปด้วย

          อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่อว่าภารกิจสำคัญของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในการแก้ไขปัญหาการเกิดโรคขาดสารไอโอดีนของประชาชนคือการมอบหมายให้ศูนย์ปฏิบัติการการตรวจคัดกรองสุขภาพทารกแรกเกิดหน่วยงานในสังกัดฯ เป็นพี่เลี้ยงในการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีให้แก่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 2 จ.อุดรธานี เพื่อนำไปใช้ในการเฝ้าระวังแก้ไขปัญหาการเกิดโรคขาดสารไอโอดีนของประชาชนในพื้นที่ พร้อมทั้งได้มีการจัดตั้งเครือข่ายวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชนขึ้น เพื่อเป็นการเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานของรัฐและประชาชน โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 2 จ.อุดรธานีจะทำหน้าที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคนิคและวิชาการให้กับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ฟาร์มอิสระ โรงเรียนในเขตพื้นที่รับผิดชอบทั้ง 4 จังหวัด คือ อุดรธานี หนองบัวลำภู หนองคาย และเลย ด้วยการแนะนำให้ประชาชนในพื้นที่ "ปลูกผักพื้นบ้านและเลี้ยงไก่ไข่เสริมไอโอดีน" ซึ่งผักที่ปลูกตามกรรมวิธีจะได้รับธาตุไอโอดีนนำไปสะสมในส่วนต่าง ๆ ของลำต้น และเปลี่ยนแปลงไปอยู่ในรูปของสารประกอบทางอินทรีย์ ซึ่งมีความคงตัวและไม่เสื่อมสลายเมื่อถูกความร้อน แสงแดด หรือการปรุงเป็นอาหาร

          นายมงคล  วงษ์อาษา เกษตรกรเลี้ยงไก่ไข่เสริมไอโอดีน ชาวตำบลนาพู่ อ.เพ็ญ จ.อุดรธานีเปิดเผยว่า สาเหตุที่เลือกเลี้ยงไก่ไข่เสริมไอโอดีน เนื่องจากไข่ไก่ที่มีสารไอโอดีนมีประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งวิธีการเลี้ยงเหมือนการเลี้ยงไก่ไข่ทั่วไป เพียงแต่หัวอาหารที่ใช้เลี้ยงไก่ไข่เป็นหัวอาหารที่มีไอโอดีนเข้มข้นใช้ผสมกับอาหารไก่ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ต้นทุนการเลี้ยงอาจสูงกว่าการเลี้ยงไก่ทั่วไปนิดหน่อย แต่ผลผลิตที่ได้จากการเลี้ยงไก่ไข่เสริมไอโอดีนทำให้รายได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากไข่ไก่มีฟองใหญ่ มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น ไก่มีอัตราการไข่ที่เพิ่มสูงขึ้นระยะเวลาการออกไข่ยาวนานจากปกติไก่จะออกไข่เพียง 14-17 เดือนแต่ไก่ไข่เสริมไอโอดีนจะออกไข่ยาวนานถึง 30 เดือน  ทั้งนี้ในส่วนของหน่วยงานของรัฐและประชาชนมีความต้องการบริโภคไข่ไก่เสริมไอโอดีนเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นราคาจึงสูงกว่าไข่ไก่ทั่ว ๆ ไป สำหรับผู้ที่เป็นเกษตรกรปลูกผัก ใช้วิธีการเสริมสารไอโอดีนในผักด้วยวิธีการฉีดพ่นใบพืชผักด้วยสารไอโอดีนผสมน้ำในอัตราที่เหมาะสม ฉีดพ่นก่อนการเก็บเกี่ยวจำนวน 1-2 ครั้ง อย่างไรก็ตามก่อนการจำหน่ายทุกครั้งเกษตรกรจะเก็บผลผลิตบางส่วนไว้รับประทานภายในครอบครัวและบางส่วนก็จะจำหน่ายให้กับเพื่อนบ้าน

          นายสำเนียง วันอุดม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลจำปาโมง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี กล่าวว่า ได้สนับสนุนงบประมาณมาให้โรงเรียนนำร่อง 4 โรงเรียน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2553 ได้แก่โรงเรียนบ้านวังสวย หมู่ 5 โรงเรียนบ้านม่วง หมู่ 11 และ 15 โรงเรียนบ้านลาน หมู่ 10 และ 16 และ โรงเรียนบ้านขัวล้อ หมู่ 9 ผลิตไข่ไอโอดีนจากการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวัน จำนวน 331,150 บาท โดยคาดว่าในอนาคตอัตราเด็กและเยาวชนที่เป็นโรคเอ๋อในเขต ต.จำปาโมงลดลง และสามารถสร้างความตระหนักให้ชุมชนในการมีสารไอโอดีนในโภชนาการเพื่อสุขภาพชีวิตที่ได้มาตรฐานสากล รวมทั้ง เป็นการลดภาวการณ์ขาดสารไอโอดีนของประชาชน ในระดับชุมชนอย่างยั่งยืนด้วยนวัตกรรมการเพิ่มสารไอโอดีนในห่วงโซ่อาหารและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ตลอดจน เป็นการลดความรุนแรงของภาวการณ์ขาดสารไอโอดีน ในพื้นที่กลุ่มเป้าหมายมีระดับลดลง ซึ่งในปีที่ผ่านมาสามารถลดระดับความรุนแรงของโรคขาดสารไอโอดีน ได้ผลเป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง

          ทางด้านกลุ่มแม่บ้านหัวคู หมู่ 1 ต.บ้านผือ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี นำโดยนางสมศรี หนูราช ผู้ใหญ่บ้านหัวคู กล่าวว่า ปลาร้าเป็นอาหารหรือเครื่องปรุงอาหาร ที่ชาวอีสานนิยมบริโภคกันมาเป็นเวลาอันยาวนานควบคู่กับวิถีชีวิตของคนอีสาน ที่ต้องมีปลาร้าไว้บริโภคแทบทุกครัวเรือน ดังนั้น ทางกลุ่มแม่บ้านหัวคูจึงได้ทำโครงการ "ปลาร้าไอโอดีน" ขึ้น เพื่อเป็นหนึ่งในการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาประชากรคนภาคอีสานขาดสารไอโอดีนเป็นโรคเอ๋อและโรคคอพอก เมื่อในหมู่บ้านมีปลาอยู่ในแหล่งน้ำจำนวนมาก จึงได้นำปลามาแปรรูป ในการถนอมอาหารไว้บริโภค โดยการทำปลาร้าเพิ่มสารไอโอดีนขึ้น ก็ได้ประสบความสำเร็จด้วยดี ชาวบ้านเห็นความสำคัญและตระหนักถึงความเป็นอยู่ของเด็กและเยาวชนที่ขาดสารไอโอดีนอยู่ในขณะนี้ จึงได้พากันนำปลาแปรรูปเป็นปลาร้าไอโอดีนบริโภคกันมากขึ้น ซึ่งดีกว่าไปหาซื้อปลาร้าตามท้องตลาดมาบริโภคกัน ทั้งที่มีราคาแพง.

 pageview  1204951    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved