Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 10/04/2558 ]
แนะกันโรค สายตาสั้นนำเด็กออกกลางแจ้ง
  ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรค "ไมโอเปีย" หรือ "ภาวะสายตาสั้น" กำลังเป็นกังวลว่าสัดส่วนของผู้ที่มีภาวะสายตาสั้น          กำลังเพิ่มมากขึ้นจนถึงระดับเป็นการระบาด ในระดับโลก นั้นคาดว่าภายในสิ้นทศวรรษนี้ จำนวนผู้มีภาวะสายตาสั้นจะเพิ่มขึ้นมากถึง 1 ใน 3 ของประชากรโลกทั้งหมด ในขณะที่ในบางประเทศ อย่างเช่นในสหรัฐอเมริกา มากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของประชากรต้องอาศัยแว่นสายตาสั้น
          แม้ว่าภาวะสายตาสั้นจะแก้ไขได้ไม่ยากนัก ด้วยการสวมแว่นตา หรือคอนแท็กต์เลนส์ หรือเข้ารับการผ่าตัดเล็ก แต่ปัญหาของผู้มีภาวะสายตาสั้นมีมากกว่านั้น เพราะผู้ป่วยเป็นโรคไมโอเปีย มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการต้อหิน, อาการกระจกตาหลุด หรือเรตินา ดีแทชเมนท์ และต้อกระจกตามมาสูงกว่าคนปกติธรรมดาทั่วไปมาก
          อาการแพร่ระบาดของผู้มีภาวะสายตาสั้นไปทั่วโลก ทำให้นักวิจัยพากันค้นหาสาเหตุที่มาของการแพร่หลายอย่างกว้างขวางดังกล่าว ในรายงานล่าสุดที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับภาวะสายตาสั้น ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารเนเจอร์ เมื่อวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา สรุปสาเหตุว่าเป็นเพราะผู้เยาว์ในยุคปัจจุบันใช้เวลาอยู่ภายในอาคารบ้านเรือนมากจนเกินไป
          ก่อนหน้านี้ในช่วงทศวรรษ 1960 เคยมีการศึกษาสาเหตุของภาวะสายตาสั้นพบว่ามีสาเหตุมาจากอิทธิพลของดีเอ็นเอของผู้ป่วยเป็นโรคนี้ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลหลายๆ อย่างย้อนหลังไปไม่น้อยกว่า 400 ปี แสดงให้เห็นว่าพันธุกรรมไม่ได้เป็นต้นเหตุทั้งหมดของอาการสายตาสั้น โยฮันเนส เคปเลอร์ นักดาราศาสตร์ชื่อดัง เชื่อว่าภาวะสายตาสั้นของตนเองเกิดขึ้นจากการที่ตนจดจ่อสายตาอยู่กับหนังสือต่อเนื่องเป็นเวลานานหลายปี ผลการศึกษาในระยะหลังแสดงให้เห็นผลลัพธ์ที่สอดคล้องกับสมมุติฐานของเคปเลอร์ เพราะภาวะสายตาสั้นเชื่อมโยงกับการศึกษาอย่างแน่นหนาชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการสำรวจวิจัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออก
          ในประเทศจีนเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ของวัยรุ่นและผู้ใหญ่รุ่นหนุ่มสาวมีภาวะสายตาสั้น (ทั้งๆ ที่เมื่อ 60 ปีก่อนหน้านี้ สัดส่วนคนสายตาสั้นในจีนมีเพียง 10-20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น) ซึ่งสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ว่าเด็กอายุ 15 ปีในเซี่ยงไฮ้ใช้เวลาทำการบ้านเฉลี่ยแล้วมากถึง 14 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือตกวันละ 2 ชั่วโมง เช่นเดียวกับที่ในเยอรมนี ทีมวิจัยเยอรมันพบว่านักเรียนนักศึกษาที่ใช้เวลาศึกษาอยู่ในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยนานปีกว่า จะมีสัดส่วนการเป็นโรคภาวะสายตาสั้นมากกว่าผู้ที่เรียนในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยเพียงไม่กี่ปี
          ผู้เชี่ยวชาญภาวะสายตาสั้นยังไม่สามารถลงความเห็นพ้องกันได้ว่า ทำอย่างไรจึงจะสามารถชะลอการระบาดและการเพิ่มของภาวะสายตาสั้นลงได้ อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญชาวออสเตรเลียผู้หนึ่ง พบว่าเด็กๆ สามารถรักษาภาวะสายตาปกติของตนไว้ได้ หากใช้เวลาอยู่กลางแจ้งในสภาพที่มีแสงสว่าง 10,000 ลักซ์ อย่างน้อย 3 ชั่วโมงต่อวันหรือกว่านั้น สภาวะแสง 10,000 ลักซ์นั้นเทียบได้กับวันที่มีแสงสว่างสดใสจนเริ่มคิดว่าต้องสวมแว่นกันแดดนั่นเอง หรือเทียบง่ายๆว่า สภาพห้องเรียนที่เปิดไฟสว่างเต็มที่มีสภาพแสงเท่ากับ 500 ลักซ์ เป็นต้น
          ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเห็นด้วยกับการนำเด็กออกนอกอาคารบ้านเรือนให้มากกว่าเดิม เพราะนอกจากจะสามารถรักษาสภาพสายตาปกติไว้ได้ยาวนานกว่า ยังได้ออกกำลังไปในตัวลดภาวะโรคอ้วนและทำให้อารมณ์ดีสดใสอีกด้วย
          ขณะนี้ประเทศในเอเชียหลายประเทศเริ่มรณรงค์นำเด็กๆ ออกนอกห้องเรียนกันแล้ว
 pageview  1204843    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved