Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 09/04/2558 ]
เปิดโผผักผลไม้สารพิษเพียบ
 นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า ช่วงสงกรานต์ ผู้จำหน่ายอาหารมักจะเตรียมอาหารไว้ขายเพื่อรองรับคนจำนวนมาก อาจมีอาหารที่ค้างจากการจำหน่ายในแต่ละครั้ง ซึ่งอากาศร้อนอบอ้าว ทำให้อาหารบูดเสียได้ง่าย จึงมีความเสี่ยงเจ็บป่วยจากโรคระบบทางเดินอาหารสูง ทั้งนี้ จากการเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-29 มี.ค.2558 ทั่วประเทศพบผู้ป่วยอาหารเป็นพิษ 30,259 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ผู้ป่วย โรคอุจจาระร่วง 247,212 รายเสียชีวิต 3 ราย
          "ช่วงหยุดสงกรานต์จึงขอให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังในการรับประทานอาหารและน้ำดื่ม ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่ปรุงเองที่บ้านอาหารสั่งซื้อ หรือออกไปรับประทานอาหารตามร้านนอกบ้าน" อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว
          นพ.โสภณ กล่าวว่า สำหรับอาหารที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบบทางเดินอาหารที่ควรเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ 10 เมนู  ได้แก่ 1.ลาบ/ก้อยดิบ 2.ยำกุ้งเต้น 3.ยำหอยแครง 4.ข้าวผัดโรยเนื้อปู 5.อาหารหรือขนมที่มีส่วนประกอบของกะทิสด 6.ขนมจีน 7.ข้าวมันไก่ 8.ส้มตำ 9.สลัดผัก และ 10.น้ำแข็งที่ผลิตไม่ได้มาตรฐาน ควรรับประทานอาหารเฉพาะที่ปรุงสุกใหม่ หลีกเลี่ยงการปรุงโดยวิธีลวกหรือพล่าสุกๆ ดิบๆ นอกจากนี้ อาหารถุง อาหารกล่อง ควรแยกกับข้าวออกจากข้าว และควรรับประทานภายใน 2-4 ชั่วโมงหลังจากปรุงเสร็จ สำหรับอาหารเหลือต้องเก็บในตู้เย็นและทำให้สุกก่อนมารับประทานใหม่ แต่หากมีกลิ่นผิดปกติไม่ควรรับประทานเด็ดขาด
          นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การป้องกันทั้งสองโรคดังกล่าวนั้น กลุ่มผู้ประกอบการอาหารขอให้ปรุงอาหารให้สุกและสะอาด ล้างผักผลไม้ด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง หลีกเลี่ยงการใช้มีด เขียงหั่นอาหารดิบและอาหารสุกร่วมกัน เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโรค ดูแลครัวให้สะอาด  ส่วนผู้บริโภคยึดหลัก "กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ"
          เรื่องของอาหาร ยังมีปัญหาสารพิษตกค้างด้วย โดย นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข พร้อมผู้บริหาร สธ. และผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ผู้แทนจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations : FAO) ผู้แทนจากสำนักงานโรคระบาดในสัตว์ระหว่างประเทศ (Office International des Epizooties : OIE) ร่วมแถลงข่าวเปิดนิทรรศการเนื่องในวันอนามัยโลกประจำปี 2558 ตรงกับวันที่ 7 เม.ย. ของทุกปี 
          นพ.รัชตะ กล่าวว่า ทุกปีมีประชากรทั่วโลกเสียชีวิตจากการบริโภคอาหารปนเปื้อนเชื้อโรคและสารเคมี ปีละประมาณ 2 ล้านคน เฉลี่ยนาทีละ 4 คน จากผลกระทบของอาหารที่มีสารเคมีตกค้าง สำหรับประเทศไทยจากการเฝ้าระวังความปลอดภัยผัก ผลไม้ ที่จำหน่ายในตลาดสดซุเปอร์มาร์เก็ต และที่ด่านนำเข้าอาหารต่างประเทศ ล่าสุดในปี 2557 ตรวจรวม 60,000 กว่าตัวอย่าง พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในระดับไม่ปลอดภัยร้อยละ 7-9
          "กลุ่มผักสดที่ตกมาตรฐานสูงสุด ได้แก่ใบบัวบก ดอกหอม ผักแขนง กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก กลุ่มผลไม้ที่ตกมาตรฐาน ได้แก่ สาลี่ แอปเปิล ส้ม แดงโม แคนตาลูป ในกลุ่มน้ำเข้าผักที่ตกมาตรฐานสูงสุด ได้แก่ บร็อกโคลี่ พริกแห้ง ปวยแล้ง ผลไม้ที่ตกมาตรฐาน ได้แก่ ส้ม แก้วมังกร และองุ่น จึงต้องเร่งดุแลความปลอดภัยอาหารที่จำหน่ายทั้งตลาดค้าส่งตลาดบน" รมว.สาธารณสุข กล่าว
 pageview  1204889    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved