Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 27/01/2558 ]
'ตับอ่อนเทียม'ความหวังผู้ป่วยเบาหวาน
  "เบาหวาน" เป็นกลุ่มอาการของโรคที่เกี่ยวเนื่องกับระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงต่อเนื่องเป็นเวลานาน ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับ "อินซูลิน" อันเป็นฮอร์โมนที่ตับอ่อนผลิตออกมาเพื่อทำหน้าที่เผาผลาญสารอาหารต่างๆ ตัวอย่างเช่นผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 1 นั้นเกิดจากร่างกายผลิตอินซูลินออกมาไม่พอเพียงสำหรับการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งพบมากในเด็ก หรืเบาหวานประเภทที่ 2 เป็นอาการที่เกิดขึ้นจากการที่เซลล์ในร่างกายไม่ตอบสนองต่ออินซูลิน หรือดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งพบมากในกลุ่มผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ
          ผู้ป่วยเบาหวานหากไม่มีการดูแล อาจก่อให้เกิดอาการแทรกซ้อนได้หลายอย่างมาก ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำอาจส่งผลให้เกิดอาการชัก, โคม่า หรือกระทั่งเสียชีวิตได้ ทำให้การใช้ชีวิตของผู้ป่วยเบาหวานแตกต่างไปจากคนปกติทั่วไป เพื่อรักษาระดับน้ำตาลให้คงที่ ทำให้ต้องระมัดระวังเรื่องอาหารการกิน ออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น
          อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีใหม่ๆ ก็ช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานมีความหวังที่จะใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบายมากขึ้น ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาในออสเตรเลียมีการพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถตรวจสอบระดับน้ำตาลอัตโนมัติขึ้นมา มีการนำมาทดลองเชิงคลินิกคือการทดลองในผู้ป่วยจริงในโรงพยาบาลหลายแห่ง รวมทั้งโรงพยาบาลปรินเซส มาร์กาเรต ในเมืองเพิร์ธ ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้วิจัยและพัฒนาอุปกรณ์นี้ขึ้น โดยมีการติดตั้งอุปกรณ์ทำหน้าที่แทนตับให้กับ ซาเวียร์ ฮาเมส เด็กชายวัย 4 ขวบซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้ป่วยเบาหวานประเภท 1 รายแรกของโลกที่ได้รับการติดตั้งอุปกรณ์ตับอ่อนเทียมนี้ไปเมื่อเดือนมกราคมปีที่ผ่านมาซึ่งครบรอบ 1 ปีไปเมื่อเร็วๆ นี้
          เด็กชายฮาเมสและครอบครัวเปิดแถลงถึงความสำเร็จในการใช้งานอุปกรณ์ขนาดใกล้เคียงกับสมาร์ทโฟนดังกล่าว (ในภาพประกอบ คืออุปกรณ์ที่เด็กชายถืออยู่ในมือ) อุปกรณ์ชนิดนี้ปกติจะทำหน้าที่ฉีดอินซูลินเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือดแทนตับอ่อน ผ่านทางท่อที่สอดไว้ใต้ผิวหนัง อย่างไรก็ตาม ตัวอุปกรณ์สามารถตรวจวัดระดับน้ำตาลในกระแสเลือดได้และถ้าพบว่า ระดับน้ำตาลต่ำจนถึงจุดที่เสี่ยงจะเกิดอาการไฮโปกลีเคเมีย ที่อาจนำไปสู่อาการชักจนโคม่าหรือเสียชีวิตได้ ก็จะยุติการให้อินซูลินโดยอัตโนมัติ
          ศาสตราจารย์ ทิม โจนส์ จากโรงพยาบาลปรินเซส มาร์กาเร็ต (พีเอ็มเอช) ระบุว่า อุปกรณ์อัตโนมัติดังกล่าวทำให้ชีวิตของทั้งเด็กชายฮาเมส และผู้เป็นพ่อแม่เองสะดวกสบายขึ้นมาก ผู้เป็นพ่อและแม่ ไม่จำเป็นต้องตื่นมาตรวจระดับน้ำตาลให้กับฮาเมสในตอนกลางคืนซึ่งเป็นช่วงเวลาเสี่ยงต่อการเกิดไฮโบกลีเคเมีย คืนละ 2-3 ครั้งอีกต่อไป
          ในขณะที่เด็กชายฮาเมสเองก็มีอิสระในการกินอาหารมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องจำกัดอาหารอีกต่อไปซึ่งเป็นเรื่องยุ่งยากมากในผู้ป่วยเด็กๆ นาโอมิมารดาของฮาเมสบอกว่าตอนนี้เด็กชายสามารถกินพาสต้าชามใหญ่ได้อย่างที่ต้องการ
          ศาสตราจารย์ทิม โจนส์ ยืนยันว่า อุปกรณ์ตับอ่อนเทียมนี้ สามารถบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ป่วยเบาหวานได้ทุกเพศทุกวัย ผู้ใหญ่เองก็สามารถใช้งานได้โดยไม่ซับซ้อนยุ่งยากแต่อย่างใด โดย พีเอ็มเอช นำอุปกรณ์นี้วางจำหน่ายเป็นการทั่วไปแล้วในราคา 8,000 ดอลลาร์
          เบื้องต้นอุปกรณ์แต่ละตัวจะมีอายุการใช้งาน 4 ปี แต่โจนส์เชื่อว่าเมื่อเทคโนโลยีพัฒนาไปก็จะยืดอายุการใช้งานได้นานขึ้นและราคาถูกลงอีกด้วย
 pageview  1205142    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved