Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 01/10/2557 ]
โลกแห่งเซลฟี หรือ โรคแห่งเซลฟี
  โลกของโซฟีจากปลายปากกาของโยสไตน์ กอร์เดอร์ อาจจะแฝงแง่มุมเชิงปรัชญา ด้วยการที่ตัวละครเอกตั้งคำถามเบื้องต้นว่า ตัวเราเป็นใคร? และโลกมาจากไหน? แต่โลกแห่งเซลฟีไม่ได้มีอะไรซับซ้อนอย่างนั้น
          คุณแค่ตื่นมาแล้วถ่ายภาพตัวเองสลึมสลือบนเตียงนอนแล้วโพสต์ลงทางโซเชียล มีเดีย คุณโพสท่าอีกครั้งในห้องน้ำ ทำหน้าสู้กล้องขณะอยู่หลังพวงมาลัย ถ่ายหน้าตัวเองระยะใกล้ ถ่ายภาพตัวเองกับมื้อกลางวัน และไม่ลืมแชะอีกครั้งก่อนออกจากออฟฟิศ เซลฟีในยิม คุณก็ไม่พลาด ระหว่างเอกเขนกบนเตียง คุณมีเวลาโพสต์อีกสองสามภาพ แน่นอนว่าคุณไม่ยอมเข้านอนอย่างเหงาๆ โดยไม่ได้กล่าวราตรีสวัสดิ์ด้วยเซลฟีสุดท้ายของวัน (ถ้าคุณไม่ลุกขึ้นมาเข้าห้องน้ำตอนดึกแล้วอุตริแชะแล้วแชร์อีกสักภาพ) ทั้งหมดนี้อาจจะทำให้ตัวละครเอกในโลกแห่งชีวิตจริงของคุณ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนฝูงพี่น้องคนใกล้ชิดที่ได้เห็นภาพกิจวัตรประจำวันอยู่ตลอดต้องตั้งคำาถามเบื้องต้นว่า คุณเป็นอะไรมากไหม? คุณเสพติดเซลฟีหรือเปล่า?
          นับตั้งแต่ทีมงานผู้จัดทำพจนานุกรม อ็อกซ์ฟอร์ดเลือกคำาว่า "Selfie" เป็นคำศัพท์แห่งปีค.ศ. 2013 ดูเหมือนคำคำนี้ได้กลายเป็นปรากฏการณ์ เป็นวัฒนธรรมย่อย เป็นธรรมเนียม เป็นพฤติกรรม เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไป คำาถามที่หลายคนอยากหาคำตอบ คือ เซลฟี คือ โรคได้หรือไม่
          แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิตเผยว่าพฤติกรรมการเสพติดเซลฟี ไม่ได้เป็นภาวะโรค แต่เป็นไปได้ว่าคนที่แชร์ภาพส่วนตัวเป็นประจำอาจจะมีภาวะโรคบางอย่างอยู่แล้ว 
          "เซลฟีเป็นรูปแบบของวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ไม่ได้ระบุว่าเป็นโรค แต่ส่งผลต่อบุคคลในแง่ของไลฟ์สไตล์" แพทย์หญิงพรรณพิมลเผย พร้อมเสริมว่าถ้าพฤติกรรมเป็นแบบปกติทั่วไป คือ โพสต์รูปแล้วอยากให้มีคนมาแสดงความรู้สึกทางบวก โดยไม่ได้หมกมุ่น ถือว่าเป็นกรณีธรรมดา แต่ถ้าเป็นในลักษณะตรงข้าม เมื่อโพสต์แล้วต้องรออย่างกระวนกระวายใจให้มีคนกดไลค์กลับมา แสดงว่าเริ่มมีภาวะผิดปกติเกิดขึ้นแล้ว
          "เราสามารถตรวจสอบความหมกมุ่นได้ ถ้าเราเริ่มเสพติด จนรบกวนชีวิตโดยปกติ แทนที่จะทำงาน เรียน หรือกินข้าวกับครอบครัว เรากลับไปกังวลเรื่องรูปที่โพสต์ไป มันคงไม่ใช่การใช้เทคโนโลยีแบบที่ควรจะเป็น" รองอธิบดีกรมสุขภาพจิตให้ความเห็น
          นอกจากเซลฟีอาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตแล้ว นักจิตวิทยาส่วนหนึ่งมองว่าการโพสต์ภาพตัวเองเป็นประจำอาจจะมาจากภาวะหลงตัวเองที่เรียกว่า narcissism มีการศึกษาหลายกรณีตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงภาวะหมกมุ่นกับการถ่ายรูปตัวเองถึงสองสามร้อยรูปต่อวัน เพื่อจะหาภาพที่ดีสักสองสามภาพนำไปแชร์ทางออนไลน์  
          ขณะเดียวกันผลสำรวจจากสถาบันที่ให้บริการด้านศัลยกรรมบ่งชี้ว่า คนที่โพสต์ภาพเซลฟีบ่อยๆ มักทำศัลยกรรมเพิ่มขึ้น เนื่องจากจะเห็นหรือคอยมองหาข้อบกพร่องของโครงหน้าอยู่เป็นประจำ ยิ่งเห็นข้อบกพร่องก็ยิ่งขาดความมั่นใจ จนต้องดั้นด้นไปให้หมอแก้ไขเพิ่มเติม
          ข้อมูลที่หน่วยงานด้านสาธารณสุข ประเทศอังกฤษเผย ชี้ให้เห็นว่า มีผู้เสพติดโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ ในแต่ละปีเข้ารับการบำบัดมากกว่า 100 ราย แน่นอนว่าส่วนหนึ่งของภาวะเสพติดดังกล่าวย่อมรวมถึง "เซลฟี ฟีเวอร์" ด้วย
          คำแนะนำที่แพทย์หญิงพรรณพิมลมีให้สำหรับคนที่เริ่มรู้สึกว่าภาวะเสพติดเซลฟี และสื่อโซเชียลมีเดียกำลังส่งผลกระทบในแง่ลบให้กับชีวิตแบ่งออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน
          1. กิจวัตรประจำวันต้องดำเนินไปอย่างปกติ ต้องแยกชีวิตออกจากเทคโนโลยีให้ได้ สามารถทำงานหรือเรียนได้โดยงดรับการสื่อสารบางเวลา ไม่ต้องมัวแต่ถ่ายรูปตัวเอง และควรเลิกพฤติกรรมที่เริ่มจากตื่นมาก็คว้าเครื่องมือสื่อสาร และจบลงด้วยการเข้านอนพร้อมโทรศัพท์มือถือ
          2. กิจกรรมอื่นๆ ที่ทำให้เราสนุก และสนใจ หาเรื่องอื่นๆ ที่ทำให้เราดำเนินชีวิตโดยไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีอย่างเดียว เช่น จักรยาน หรือหนังสือ
          3. การใช้เทคโนโลยีไม่สามารถทดแทนการใช้ชีวิตทางสังคมได้ นี่คือสิ่งที่แพทย์หญิงพรรณพิมลเน้นมาโดยตลอด กิจกรรมกับครอบครัวหรือการพบปะเพื่อนฝูงย่อมสร้างสัมพันธ์ได้ดีกว่าสื่อสารทางออนไลน์
          โดยหลักๆ เราอาจมองเรื่องเซลฟีได้ว่าเป็นเพราะคนรุ่นใหม่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ร่วมในสังคม ถ้าไม่ได้หมกมุ่นจนกลายเป็นภาวะรบกวนใจตลอดเวลา เซลฟีเป็นตัวสะท้อนไลฟ์สไตล์ในปัจจุบันรูปแบบหนึ่ง หากบุคคลนั้นสามารถรักษาความสัมพันธ์กับคนรอบข้างให้เป็นปกติได้ เซลฟีก็ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำาเนินชีวิต สิ่งสำคัญคือ เราต้องสร้างความมั่นใจในโลกแห่งความเป็นจริง และมีชีวิตทางสังคมที่มั่นคงพอที่จะไม่พึ่งพาแต่เทคโนโลยีในโลกออนไลน์
          ภาพยนตร์สั้น Aspirational ของแมทธิว ฟรอสต์ นำแสดงโดยเคิร์สเตน ดันส์ต เปิดตัวในช่วงปลายเดือนกันยายน และแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมเซลฟีในยุคปัจจุบันได้อย่างเสียดสี
          เคิร์สเตนยืนอยู่หน้าบ้าน รถคันหนึ่งแล่นผ่านไป ก่อนจะถอยหลังกลับมา คนขับถามว่าเธอคือเคิร์สเตน ดันส์ตหรือเปล่า เมื่อนักแสดงสาวตอบว่าใช่ สองสาวลงจากรถและหยิบโทรศัพท์มือถือมา
          ถ่ายรูปคู่กับนักแสดงคนดังทีละคน ก่อนจะโพสต์ภาพเหล่านั้นลงโซเชียลมีเดียอย่างตั้งอกตั้งใจ
          เมื่อเคิร์สเตนถามว่าอยากจะพูดคุยอะไรกันหรือไม่ หรืออยากจะถามอะไรก็ได้นะ คำถามจากหนึ่งในสองสาวก็คือ "ช่วยแท็กฉันได้ไหม"  ก่อนที่สุดท้ายสองสาวจะขับรถออกไป พร้อมกับที่หนึ่งในนั้นอวดว่ารูปเซลฟีที่โพสต์ไปมีคนมากดไลค์ 15 คนแล้ว
          "เราสามารถตรวจสอบความหมกมุ่นได้ ถ้าเราIริ่มเสพติด จนรบกวนชีวิตโดยปกติ แทนที่จะทำงาน เรียน หรือกินข้าวกับครอบครัว"
 pageview  1205127    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved