Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 17/09/2557 ]
'การสูญเสีย' กระทบสุขภาพผู้สูงอายุ
ในที่สุดนักวิทยาศาสตร์ก็ตรวจสอบพบหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าสภาวะทางจิตใจส่งผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาวะของร่างกายโดยรวมได้อย่างไร หลังผลการศึกษาวิจัยของแอนนา ฟิลลิปส์ อาจารย์วิชาการแพทย์เชิงพฤติกรรมของมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่มากระทบจิตใจอย่างรุนแรง อย่างเช่นการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก มีผลทำให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายของผู้สูงอายุพิการไป ส่งผลให้ผู้สูงวัยดังกล่าวติดเชื้อต่างๆ ได้ง่ายและรุนแรงกว่าคนทั่วไป
          ในทางตรงกันข้าม ไม่ปรากฏผลกระทบจากการสูญเสียต่อระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของบุคคลที่อ่อนวัยกว่า โดยที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายยังคงมีสมดุลและทำงานตามปกติ
          ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ แอนนา ฟิลลิปส์ ใช้อาสาสมัครซึ่งเป็นผู้ประสบเหตุสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ทั้งที่เป็นคู่สามี/ภรรยา หรือสมาชิกในครอบครัวไปในช่วง 2 เดือนก่อนหน้าการวิจัย และเริ่มต้นด้วยการศึกษาการทำงานของเซลล์ภูมิคุ้มกันหรือที่เรียกว่านิวโทรฟิลส์ในร่างกายของกลุ่มตัวอย่าง นิวโทรฟิลส์เป็นเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งมีหน้าที่จับกินทำลายเชื้อโรคบางอย่างที่เข้าสู่ร่างกาย ด้วยการเดินทางมายังจุดที่ติดเชื้อแล้วปล่อยสิ่งซึ่งเรียกว่ารีแอกทีฟ ออกซิเจน สปีชีส์ หรืออาร์โอเอส ออกมาฆ่าแบคทีเรียบางอย่างได้ผลปรากฏว่าในกลุ่มตัวอย่างซึ่งประสบความสูญเสียที่มีอายุ 65 ปี และเกินกว่านั้น นิวโทรฟิลส์ไม่ได้ปล่อยอาร์โอเอสออกมามากเพียงพอต่อการฆ่าเชื้อโรคได้ ในขณะที่นิวโทรฟิลส์ทำหน้าที่เป็นปกติในกลุ่มตัวอย่างกลุ่มที่สองซึ่งมีอายุระหว่าง 18-45 ปี
          หลังจากนั้น แอนนา ฟิลลิปส์ใช้การตรวจวัดระดับของฮอร์โมน 2 ชนิดในเลือดของกลุ่มตัวอย่างทั้งสองกลุ่มอายุ ฮอร์โมนที่ตรวจวัดคือฮอร์โมน "คอร์ติซอล" ซึ่งแพทย์ถือว่าเป็นฮอร์โมนหลักจากภาวะเครียด ฮอร์โมนในภาวะเครียดอีกตัวที่ตรวจวัดคือฮอร์โมน "ดีเอชอีเอเอส" (ดีไฮโดรเอพิแอนโดรสเตอโรน ซัลเฟต) คอร์ติซอลเป็นตัวกดให้ภูมิคุ้มกันร่างกายของเราลดต่ำลง ในขณะที่ดีเอชอีเอเอสทำในทางตรงกันข้าม คือขยายภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้น
          ผลจากการตรวจวัดพบว่า กลุ่มอายุน้อยระหว่าง 18-45 ปี มีระดับฮอร์โมนทั้งสองตัวสมดุล แต่ในกลุ่มที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปกลับมีคอร์ติซอลมากกว่าดีเอชอีเอเอสมาก ทำให้เซลล์นิวโทรฟิลส์ที่ทำหน้าที่ทำลายเชื้อโรคไม่ทำงานตามปกติ
          ดีเอชอีเอเอสนั้นเป็นฮอร์โมนที่ลดต่ำลงตามวัย ในขณะที่คอร์ติซอลนั้นจะเกิดขึ้นมากเมื่อเกิดการสูญเสียที่กระทบต่อจิตใจรุนแรง ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในผู้สูงอายุทำงานบกพร่อง แต่ในกลุ่มอายุน้อยที่ยังสามารถสร้างดีเอชอีเอเอสได้ ระบบภูมิคุ้มกันยังทำงานได้ตามปกติ หรือพูดอีกอย่างได้ว่า การประสบความสูญเสีย หรือมีอาการกระทบต่อจิตใจผู้สูงอายุ ส่งผลกระทบ
          ต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้มีประสิทธิภาพลดลง ติดเชื้อง่ายและรุนแรงกว่าคนที่อายุยังน้อยนั่นเอง
          แอนนา ฟิลลิปส์ เปิดเผยเอาไว้ว่า ตนต้องการศึกษาวิจัยต่อไปว่า การให้อาหารเสริมเพื่อเพิ่มดีเอชอีเอเอสในผู้สูงอายุจะช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันกลับมาต่อสู้กับเชื้อโรคได้ดีขึ้นหรือไม่ แต่เนื่องจากยังมีหลักฐานบ่งชี้น้อยมากว่าการเพิ่มฮอร์โมนส่งผลให้สุขภาพของคนเราดีขึ้น จึงยังไม่แนะนำให้ทำเช่นนั้นในเวลานี้ และมีข้อเท็จจริงด้วยว่าอาหารเสริมที่ขายกันทั่วไปในอินเตอร์เน็ตยังเชื่อถือไม่ได้อีกด้วย
          คำแนะนำสำหรับผู้สูงอายุที่ประสบความสูญเสียของแอนนา ฟิลลิปส์ก็คือ ผู้สูงวัยดังกล่าวไม่ควรปลีกตัวอยู่ตามลำพัง เก็บเนื้อเก็บตัว ไม่กินอาหาร ไม่ออกกำลังกาย แต่ควรพบปะเพื่อนฝูง สมาชิกในครอบครัวบ่อยๆ ออกกำลังกายตามปกติอย่างสม่ำเสมอ และกินอาหารที่เหมาะสม
          เพื่อลดความเครียดหรือลดฮอร์โมนคอร์ติซอลลงนั่นเอง
 pageview  1205112    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved