Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 12/09/2557 ]
'ปวดต้นคอ'
   โดย นพ.สุรพงศ์ อำพันวงษ์
          กระดูกบริเวณคอ ประกอบไปด้วยกระดูก 7 ชิ้น กล้ามเนื้อ เส้นเอ็นและเส้นประสาท เมื่อเราเคลื่อนไหวคอ หมอนรองกระดูกที่คั่นอยู่ระหว่างกระดูกคอแต่ละชิ้น จะถูกกดตามทิศทางเดียวกันที่เราก้ม หรือเอียง เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อจะเป็นตัวช่วยพยุงไม่ให้กระดูกและเส้นประสาทได้รับอันตราย
          สาเหตุที่พบได้บ่อย
          1.เกิดจากความเสื่อมของกระดูกต้นคอ จากอายุที่มากขึ้น, ความเคร่งเครียดจากการทำงาน
          2.อุบัติเหตุที่เกิดกับคอโดยตรง เช่น รถชน ถูกต่อย ฯลฯ จากสาเหตุอื่น เช่น เป็นเนื้อร้ายที่ลุกลามมาบริเวณคอ
          แต่สาเหตุที่พบบ่อยที่สุด ก็คือ เมื่อใดก็ตามที่เราใช้คอผิดท่าหรือผิดจังหวะ เช่น การนั่งทำงานโดยอยู่ในท่าเดียวนานๆ เช่น นั่งคิดงาน นั่งใช้คอมพิวเตอร์ นั่งออกแบบ ขับรถระยะทางไกลๆ หรือการนอนคว่ำอ่านหนังสือ นอนหนุนหมอนสูงดูทีวี เป็นต้น ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณต้นคอเกิดการเกร็งตัว
          อาการ
          1.มีอาการปวดบริเวณต้นคอด้านหลัง อาจเป็นด้านเดียว หรือสองด้านพร้อมกัน
          2.กล้ามเนื้อบริเวณคอตึงแข็ง เคลื่อนไหวได้น้อย บางรายมีอาการปวดร้าวไปที่ศีรษะ ท้ายทอย หลัง แขน และมือ บางรายมีอาการปวดชาร่วมด้วย
          การรักษา
          เมื่อมาพบแพทย์ แพทย์มักให้ยาบรรเทาอาการปวด ยา คลายกล้ามเนื้อ ยาลดอาการอักเสบ และให้บริหารต้นคอ โดยก่อนบริหารอาจใช้การประคบความร้อนช่วย จะทำให้กล้ามเนื้อคลายตัวมากขึ้น ท่าการบริหารกล้ามเนื้อคออย่างง่ายๆ
          ท่าบริหารดังกล่าวจะทำให้กล้ามเนื้อคลายตัวลงบรรเทาอาการปวดเมื่อย และชะลอให้กระดูกต้นคอเสื่อมช้าลง
          การป้องกันอาการปวดคอ
          1.ฝึกจัดท่าของร่างกายให้ศีรษะตรง คอ คาง ไหล่ตรงอยู่เสมอ โดยตามองในระดับสายตา เพื่อไม่ให้กล้ามเนื้อคอด้านใดด้านหนึ่งรับน้ำหนักมากเกินไป ไม่เอียงคอ หันคอ หรือสะบัดคอแรงๆ แก้อาการปวดเมื่อย
          2.หลีกเลี่ยงการยกของหนัก โดยต้องเกร็งไหล่และคอตลอดเวลา หลีกเลี่ยงการนั่งหลับในรถขณะรถแล่น เพราะหากมีการเบรกอย่างแรง หรือรถกระชาก จะปวดกล้ามเนื้อคอได้ หรือควรใช้หมอนที่ออกแบบให้คล้องคอ เพื่อช่วยรับน้ำหนักของศีรษะ
          3.หลีกเลี่ยงการหนุนหมอนแข็งเกินไป นุ่มเกินไป หรือสูงเกินไป ความสูงของหมอนควรอยู่ระดับไหล่เมื่อนอนตะแคง และมีความกว้างที่พอดีไม่ให้เรานอนตกหมอน หากเลือกหมอนที่เข้ากับสรีระของเรา ตื่นนอนขึ้นมาจะรู้สึกสบาย ไม่ปวดเมื่อยคอ
          4.บริหารกล้ามเนื้อคออย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้า เย็น หรือทุกครั้งที่มีอาการ
          หากปฏิบัติตามข้อความข้างต้นแล้วอาการยังไม่ทุเลา ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
          ข้อมูลจาก ศูนย์ศัลยกรรมกระดูก กล้ามเนื้อและข้อ โรงพยาบาลพญาไท 2/http://www.phyathai.com
          น.พ.สุรพงศ์ อำพันวงษ์
 
 pageview  1204515    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved